พระเจ้าพิมพิสาร กระทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติ


    เรื่องการที่จะกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรสหายนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับพระเจ้าพิมพิสาร ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีข้อความว่า

    ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณล่วงไปได้ ๗ สัปดาห์แล้ว ก็เสด็จไปสู่พระนครพาราณสี ทรงแสดงธัมมจักรแก่พระปัญจวัคคีย์ แล้วทรงจำพรรษา และทรงแสดงธรรมโปรดชาวเมืองพาราณสี แล้วเสด็จไปโปรดชฎิล และบริวารได้บรรลุอรหันต์ จากนั้นก็เสด็จจาริกไปสู่พระนครราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล (คือ พวกชฎิลที่ได้บรรลุอรหันต์แล้วอุปสมบท) เสด็จถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ประทับอยู่ใต้ต้นไทรชื่อ สุประดิษฐ์เจดีย์ ในสวนตาลหนุ่มเขตพระนครราชคฤห์

    พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธทรงสดับข่าว และทรงแวดล้อมด้วยพวกพราหมณ์ คหบดีชาวมคธเป็นจำนวนมาก เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระ ผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร และบริวาร พระเจ้าพิมพิสารทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล และบริษัทบริวารของพระองค์ส่วนมากก็ได้บรรลุธรรมด้วย

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราชได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลพระวาจานี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า

    ครั้งก่อนเมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ อย่าง บัดนี้ความปรารถนา ๕ อย่างนั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว ความปรารถนา ๕ อย่าง คือ

    ๑. ครั้งก่อนเมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงอภิเษกเราในราชสมบัติ ดังนี้ นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่หนึ่ง บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ๒. ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่สอง บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉัน สำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ๓. ขอหม่อมฉันพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่สาม บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ๔. ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่สี่ บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

    ๕. ขอหม่อมฉันพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ห้า บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้วพระพุทธเจ้าข้า

    ที่กล่าวถึงความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นความวิจิตรของจิตของบุคคลที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าต่างกันไป ไม่เหมือนกัน ท่านอาจจะปรารถนาอะไรอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่าง แต่ไม่ทิ้งความปรารถนาที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกด้วย ซึ่งความปรารถนาของท่านเป็นทั้งทางโลกทั้งทางธรรมตามความวิจิตรของจิต เมื่อยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ใครหมดความปรารถนาบ้าง ไม่ปรารถนาสำหรับตนเอง ปรารถนาสำหรับบุตรธิดา วงศาคณาญาติ มิตรสหาย

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้ดับความปรารถนาหมดสิ้น ยังมีความปรารถนาอยู่ ความปรารถนานั้นก็ย่อมวิจิตร ต่างๆ กัน อย่างความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร ความปรารถนาข้อที่ ๑ ปรารถนาที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นมคธ และก็สมความปรารถนาด้วย

    ความปรารถนาข้อที่ ๒ ไม่ทิ้งทางธรรม คือ ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาสู่แคว้นของพระองค์ นี่เป็นความปรารถนาทางธรรม

    ความปรารถนาประการที่ ๓ เป็นไปในทางธรรมอีก คือ ขอให้พระองค์ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ซึ่งความปรารถนานั้นก็สำเร็จ และเมื่อได้เฝ้าแล้วความปรารถนาข้อที่ ๔ คือ ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมแก่พระองค์ ซึ่งความปรารถนานั้นก็สำเร็จ และความปรารถนาประการที่ ๕ คือขอให้พระองค์พึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ซึ่งความปรารถนานี้ก็สำเร็จ คือ ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จทั้งทางโลก และทางธรรม

    เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม หรือว่าเมื่อเป็นพระอริยสาวกขั้นพระโสดาบันแล้วจะต้องเหมือนกับขั้นพระอรหันต์ หมดความปรารถนาใดๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นความวิจิตรของจิตของความปรารถนาของมนุษย์ แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ตั้งความปรารถนา หรือว่ามีความปรารถนาอย่างไร ถ้าเหตุสมควรแก่ผลก็สำเร็จ ถ้าเพียงแต่ปรารถนาความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่ปรารถนาความเป็นพระอริยสาวก ก็คงจะสำเร็จความปรารถนาประการเดียว

    การเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่การที่จะเปลี่ยนจากบุคคลหนึ่งให้ไปเหมือนกับบุคคลทั้งหลาย แต่ว่า แล้วแต่การสะสมของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น แล้วแต่จิตของพระเจ้าพิมพิสารในขณะนั้นว่ามีสภาพอย่างไร ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง จิตของบริษัทบริวารของพระองค์ ของพราหมณ์คฤหบดีที่ตามเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะนั้น นามธรรม และรูปธรรมขณะนั้นเป็นอย่างไร แต่ละบุคคลก็จะต้องระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาที่ท่านจะกลัวว่า ถ้าท่านเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านต้องละทิ้งการงาน หน้าที่ หรือความหวัง ความปรารถนาต่างๆ ที่ท่านเคยหวัง เคยต้องการ แม้ว่าขณะนี้ท่านยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ท่านมีความหวัง มีความปรารถนาอะไรตามวิสัยที่ท่านได้สะสมมาเกิดขึ้น ก็ขออย่าได้ทิ้งความหวังที่จะได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าด้วย พร้อมทั้งสะสมเหตุที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าคู่กันไปด้วย และวันหนึ่งท่านก็จะได้สำเร็จความหวังที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมตามควรแก่การที่ท่านเป็นบุคคลใดในภพในชาติ ที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวก

    ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ ซึ่งข้อความโดยละเอียดใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีว่า

    เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกแล้ว ก็ได้ทรงนิมนต์พระผู้มีพระภาค เพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ถวาย ภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาค และพระสงฆ์แล้ว พวกเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารซึ่งได้ไปยืนล้อมด้วยหวังว่า พระเจ้าพิมพิสารจะทรงอุทิศส่วนกุศลทานให้ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ทรงดำริถึงที่ประทับของพระผู้มีพระภาค และได้ทรงถวายสวนเวฬุวันแก่ภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข จึงมิได้ทรงอุทิศทานนั้นแก่ใครๆ


    พวกเปรตซึ่งเป็นญาติในอดีตชาตินานมาแล้วของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งได้ไปยืนล้อมด้วยหวังว่า พระเจ้าพิมพิสารจะทรงอุทิศส่วนกุศลให้ เมื่อไม่ได้รับส่วนกุศล ตอนกลางคืนก็ส่งเสียงน่ากลัว พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับก็ตกพระทัย ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เช้าตรู่ทูลถามว่า จะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแก่พระองค์หรือไม่ เพราะว่าตอนกลางคืนนั้นมีเสียงร้องน่ากลัว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับพระเจ้าพิมพิสาร เพราะเหตุว่าเสียงร้องน่ากลัวนั้นเป็นเสียงเปรตของผู้ซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งอดีตกาล พวกเปรตนั้นมาคอยอนุโมทนาส่วนกุศลที่พระเจ้าพิมพิสารจะทรงอุทิศให้ แต่เมื่อไม่ได้ทรงอุทิศให้ พวกเปรตก็ส่งเสียงร้องน่ากลัว ซึ่งเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบอย่างนั้น ก็ได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับภัตตาหารในเช้าวันนั้น เพื่อที่จะได้ทรงอุทิศส่วนกุศลทานนั้นให้แก่เปรตผู้ที่เคยเป็นญาติในอดีตกาล

    ซึ่งคาถาที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารในครั้งนั้น เรื่องของการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตซึ่งเป็นญาติในอดีตกาล เป็นข้อความซึ่งพุทธศาสนิกชนยังใช้สืบต่อมาในการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจนถึงทุกวันนี้

    สำหรับอดีตชาติของพระเจ้าพิมพิสาร และญาติซึ่งเกิดเป็นเปรตนั้น ท่านจะได้เห็นความวิจิตรของจิตที่สะสมมาต่างๆ กันในสังสารวัฏฏ์ ในหมู่วงศาคณาญาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นมิตรสหายกัน ซึ่งข้อความในอดีตกาลอนันตชาติของพระเจ้าพิมพิสาร และญาตินั้น มีว่า

    ในกัปที่ ๙๒ นับถอยหลังแต่ภัทรกัปนี้ลงไป พระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าชัยเสน พระราชเทวีทรงพระนามว่าสิริมา มีพระโอรสทรงพระนามว่าผุสสะ ซึ่งภายหลังพระโอรสก็ได้ทรงออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระราชาทรงบำรุงพระรัตนตรัยด้วยพระองค์เองผู้เดียว ไม่พระราชทานโอกาสให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อพระโอรสอีก ๓ พระองค์ ทรงปราบปรามพระราชอาณาเขตให้สงบแล้ว พระโอรสทั้งสามนั้นก็ได้ทูลขอโอกาสบำรุงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งพระเจ้าชัยเสนก็ประทานโอกาสให้ตลอดเวลา ๓ เดือน

    ในบรรดาข้าราชบริพารผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้จัดวิหาร เสนาสนะ และไทยทานนั้น บางพวกก็จัดไทยทานด้วยความเคารพเลื่อมใส บางพวกก็ไม่เลื่อมใส และทำอันตรายแก่ไทยทาน โดยที่เอาไปเคี้ยวกินเองบ้าง เอาไปให้แก่บุตรภรรยาบ้าง และเผาโรงทานเสียบ้าง

    ผู้ที่เลื่อมใสเมื่อสิ้นชีวิต ก็เกิดในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ไม่เลื่อมใส และทำอันตรายแก่ไทยทานนั้น ก็เกิดในนรกตลอดกาลนาน และในภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ไม่เลื่อมใสทำอันตรายแก่ไทยทานเหล่านั้น ก็พ้นจากนรกมาเกิดเป็นเปรต เปรตอื่นๆ ได้รับอุทิศส่วนกุศลจากญาติ แต่เปรตเหล่านั้นก็ยังไม่พ้นกรรมจึงไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล พวกเปรตเหล่านั้นได้ทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พวกตนจะได้รับอุทิศส่วนกุศลเมื่อใด

    พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า จะได้รับในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ แล้วในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ พระราชบุตรทั้งสามในครั้งนั้น จุติจากเทวโลกเกิดในตระกูล พราหมณ์ ออกบวชเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง ขุนส่วยผู้เลื่อมใสจัดถวายทานด้วยความเคารพ เกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ขุนคลังผู้เลื่อมใสจัดถวายทานโดยความเคารพ เกิดเป็นวิสาขะมหาเศรษฐี ส่วนภรรยาของขุนคลังนั้นผู้เลื่อมใสจัดถวายทานโดยความเคารพ ก็ได้เกิดเป็นธิดาของเศรษฐีมีนามว่าธรรมทินนา ภายหลังก็ได้เป็นภรรยาของวิสาขะมหาเศรษฐี และภายหลังก็ได้เป็นภิกษุณีอรหันต์ ผู้เลิศในทางแสดงธรรม ส่วนพวกที่ไม่เลื่อมใสทำอันตรายแก่ไทยทานนั้น ก็ยังเป็นเปรตที่ทุกข์ทรมานด้วยความหิว รอคอยการรับอุทิศทานกุศลจากพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นญาติในอดีต

    ข้อความพระคาถาใน ติโรกุฑฑกัณฑ์ เรื่องการอุทิศทานกุศลแก่ญาติ ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสารใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มีว่า

    ถ้าว่าปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

    ข้อความต่อไป เป็นปฐมคาถา คือ คาถาที่ ๑ ภาษาบาลี และจะขอแปลเป็นภาษาไทย แต่ที่กล่าวถึงภาษาบาลีด้วย ก็เพราะว่ายังใช้พยัญชนะบาลีนั้นในการอุทิศส่วนกุศล ซึ่งท่านจะได้ทราบว่า พยัญชนะที่ท่านใช้นี้สืบต่อมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้า พิมพิสารทรงถวายทานแก่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ในครั้งนั้น เพื่ออุทิศทานกุศลแก่เปรตซึ่งเป็นญาติในอดีต

    คาถาที่ ๑ คือ ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ สนฺธิสิงฺฆาฏเกสุ จ.

    ทฺวารพาหาสุ ติฎฺฐนฺติ อาคนฺตฺวาน สกํ ฆรํ

    แปลความว่า

    เปรตทั้งหลายมาสู่เรือนของตน ยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ทาง ๔ แพร่ง ทาง ๓ แพร่ง และใกล้บานประตู

    สังเกตพยัญชนะที่ว่า เปรตทั้งหลายมาสู่เรือนของตน คือ เปรตเหล่านั้นมาสู่เรือนของญาติด้วยความหวัง และเรือนของญาตินั้น เปรตก็ถือว่า เป็นเสมือนเรือนของตน เพราะว่าเป็นเรือนของญาติตน มาสู่ด้วยความหวัง แต่ว่าไม่สามารถที่จะเอ่ยปากขอได้ เพราะว่ากำเนิดในภูมิเปรต

    คาถาที่ ๒ คือ ปหุเต อนฺนปานมฺหิ ขชฺชโภชฺเช อุปฏฺฐิเต

    น เตสํ โกจิ สรติ สตฺตานํ กมฺมปจฺจยา

    แปลความว่า

    เมื่อข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของบริโภคเป็นอันมาก อันญาติทั้งหลายตั้งไว้แล้ว ญาติไรๆ ของเปรตเหล่านั้น ระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาที่ ๒ เพื่อจะทรงแสดงให้เห็นกรรมหนักของเปรตเหล่านั้น คือ หากกรรมที่ได้กระทำไว้เป็นกรรมหนัก ย่อมไม่มีญาติไรๆ ที่จะระลึกถึง และอุทิศส่วนกุศลให้เปรตนั้น กรรมของเปรตนั่นเองปิดบังไม่ให้ระลึกถึง และอุทิศส่วนกุศลให้

    ท่านที่ได้ทำบุญถวายทาน ลืมอุทิศส่วนกุศลบ้างหรือไม่ หรือว่าอุทิศส่วนกุศล ทุกครั้ง บางคนก่อนที่จะถวายทานตั้งใจไว้ทีเดียวว่าจะอุทิศให้ญาติที่เพิ่งล่วงลับไป เพราะฉะนั้น การถวายทานครั้งนี้ก็จะอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้นั้นด้วย แต่เมื่อถวายทานแล้วอาจจะอุทิศส่วนกุศลให้ญาติอื่น ลืมญาติที่เพิ่งจะล่วงลับไปเสียแล้วก็ได้ เพราะความห่างไกลบ้าง หรือเพราะความกังวลของสิ่งอื่น ก็ทำให้ลืมบุคคลนั้นได้

    คาถาที่ ๓ คือ เอวํ ททนฺติ ญาตีนํ เย โหนฺติ อนุกมฺปกา

    สุจึ ปณีตํ กาเลน กปฺปิยํ ปานโภชนํ

    แปลความว่า

    ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์ ชนเหล่านั้นย่อมให้น้ำ และโภชนะอันสะอาดประณีต อันเป็นของควรโดยกาล ด้วยอุทิศเจตนาอย่างนี้ว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย

    คาถาที่ ๓ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญทาน การที่บุคคลนั้นอุทิศให้แก่เปรต ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่อนุเคราะห์จึงได้ให้น้ำ และโภชนะอันสะอาดประณีตอันเป็นของควรโดยกาล โดยมีเจตนาที่จะอุทิศให้ว่า ขอให้ทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย

    ข้อความต่อไป เป็นพระคาถาที่ปัจจุบันนี้ใช้ในการกรวดน้ำ หรือว่าอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติ ซึ่งเป็นกึ่งต้นของคาถาที่ ๔ คือ

    อิทํ โว ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตโย

    กึ่งต้นของพระคาถาที่ ๔ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีอุทิศทานแก่เปรต โดยการเจาะจงญาติ ซึ่งแปลความว่า

    ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด

    กึ่งหลังขอพระคาถาที่ ๔ รวมกับกึ่งต้นของพระคาถาที่ ๕ คือ

    เต จ ตตฺถ สมาคนฺตฺวา ญาติเปตา สมาคตา

    ปหุเต อนฺนปานมฺหิ สกฺกจฺจํ อนุโมทเร

    แปลความว่า

    และญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้วเหล่านั้น มาประชุมพร้อมกันแล้วในที่นั้น เมื่อมีข้าว และน้ำเป็นอันมาก ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า

    ซึ่งพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีให้เกิดกุศลกรรม ที่จะให้บังเกิดผลแก่ผู้ที่เกิดในปิตติวิสัยในขณะนั้น ด้วยพระคาถาว่า ญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้วเหล่านั้น มาประชุมพร้อมกันแล้วในที่นั้น เมื่อมีข้าว และน้ำเป็นอันมาก ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพ

    ถ้าเปรตเหล่านั้นไม่อนุโมทนาโดยเคารพ ก็จะไม่ได้รับผลของการอุทิศทานไปให้ แต่เพราะว่าเปรตเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีปีติโสมนัสเมื่อเห็นข้าว น้ำ และการที่บุคคลนั้นมีเจตนาที่เป็นกุศล อุทิศส่วนกุศลให้ ก็เกิดความเชื่อมั่นในกรรม และอนุโมทนา มีความปลาบปลื้มยินดีโสมนัส อนุโมทนาโดยเคารพว่า

    ต่อไปเป็นกึ่งหลังของคาถาที่ ๕ กับกึ่งต้นของคาถาที่ ๖ คือ

    จิรํ ชีวนฺตุ โน ญาตี เยสํ เหตุ ลภามฺหเส

    อมฺหากญฺจ กตา ปูชา ทายกา จ อนิปฺผลา

    แปลความว่า

    เราทั้งหลายได้สมบัติเช่นนี้ เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของพวกเรา จงเป็นอยู่นานเถิด บูชาอันทายกทั้งหลายทำแล้วแก่เรา และทายกทั้งหลาย ก็หาไร้ผลไม่

    นี่เป็นพระคาถาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่พวกเปรตนั้นได้รับเพราะอาศัยญาติ อาศัยการกระทำทานกุศลอุทิศส่วนกุศลให้ ทำให้เปรตเหล่านั้นเกิดปีติโสมนัสอนุโมทนาเมื่อได้สมบัติเช่นนั้น และปลาบปลื้มยินดีอนุโมทนาญาติที่ได้ทำกุศลอุทิศให้ด้วยคำว่า เราทั้งหลายได้สมบัติเช่นนี้ เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของพวกเรา จงเป็นอยู่นานเถิด บูชาอันทายกทั้งหลายทำแล้วแก่เราทั้งหลายแล้ว ทายกทั้งหลายก็หาไร้ผลไม่

    ในขณะที่ท่านปลาบปลื้มจริงๆ ที่บุคคลอื่นอนุเคราะห์ท่าน ท่านก็รู้สึกอยากจะตอบแทน ขอให้ผู้ที่อนุเคราะห์ท่านมีความสุข ความเจริญ มีชีวิตยืนนาน เพราะฉะนั้น พวกเปรตนี้ก็เหมือนกัน เวลาที่ได้รับสมบัติแล้ว พ้นจากความทุกข์ยากแล้ว เกิดปีติโสมนัส ก็ชื่นชมยินดีในบุญกุศลที่ญาติเหล่านั้นได้กระทำ ก็มีจิตกุศลอนุโมทนาตอบแทน ขอให้ญาตินั้นจงเป็นผู้ที่มีชีวิตยืนนาน

    กึ่งหลังของคาถาที่ ๖ ถึงคาถาที่ ๙ คือ

    น หิ ตตฺถ กสิ อตฺถิ โครกฺเขตฺถ น วิชฺชติ

    วณิชฺชา ตาทิสี นตฺถิ หิรญฺเญน กยากยํ

    อิโต ทินฺเนน ยาเปนฺติ เปตา กาลกตา ตหึ

    อุนฺนเต อุทกํ วุฏฐํ ยถา นินฺนํ ปวตฺตติ

    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติฯ

    ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ

    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ

    พระคาถาที่ ๙ คงจะชินหูท่านที่ได้ยินบ่อยๆ คือ

    ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ

    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงแสดงความไม่มีแห่งเหตุเป็นเครื่องได้สมบัติ มี กสิกรรม และโครักขกรรม เป็นต้น อย่างอื่น ในปิตติวิสัย คือ การกำเนิดของเปรตนั้น และความเป็น คือ การยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่เขาให้แล้วแต่โลกมนุษย์นี้ของเหล่าสัตว์ผู้เข้าถึงปิตติวิสัย จึงตรัสกึ่งหลังคาถาที่ ๖ ถึงคาถาที่ ๙ ซึ่งแปลความว่า

    ในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม ไม่มีพาณิชยกรรม เช่นนั้น ไม่มีการซื้อ การขาย คือ การแลกเปลี่ยนด้วยเงิน ผู้ทำกาลกิริยา ละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในเปรตวิสัยนั้น ด้วยทานทั้งหลายที่ญาติให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นว่า ในกำเนิดของเปรต การที่จะไปเลี้ยงชีวิต ด้วยการทำนา เลี้ยงโค ขายนมโค หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงิน ด้วยทองต่างๆ นั้น ไม่มีเลยที่จะให้พวกเปรตไปประกอบการงานอาชีพต่างๆ เลี้ยงชีวิต ไม่มีใน กำเนิดของเปรต พวกเปรตนั้นย่อมมีชีวิตเป็นไปด้วยทานทั้งหลายที่ญาติให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงว่า การอุทิศส่วนกุศลแห่งทานนั้นจะสำเร็จแก่เปรต โดยทรงอุปมาด้วยพระคาถาที่ ๘ และที่ ๙

    อุนฺนเต อุทกํ วุฏฐํ ยถา นินฺนํ ปวตฺตติ

    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติฯ

    แปลความว่า

    น้ำฝนตกลงในที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ

    เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ

    แปลความว่า

    ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    อาศัยอนุโมทนาในส่วนกุศลของบุคคลอื่นที่สามารถจะทำกุศลได้ คือ ญาติใน มนุษย์โลกนี้ เป็นผู้ที่มีความขวนขวาย สามารถที่จะจัดถวายทานอุทิศแก่ตนได้ อุปมาเหมือนกับน้ำที่ไหลจากที่ดอนย่อมลงไปสู่ที่ต่ำได้ ฉันใด พวกเปรตที่เกิดในอบายภูมิเป็นกำเนิดต่ำ ก็ย่อมจะอาศัยอนุโมทนาในส่วนกุศลของญาติที่อุทิศไปให้ และได้รับผลของการอนุโมทนานั้น ฉันนั้น

    ส่วนคาถาที่ ๑๐ คาถาที่ ๑๑ คาถาที่ ๑๒ มีว่า

    อทาสิ เม อกาสิ เม ญาติมิตฺตา สขา จ เม

    เปตานํ ทกฺขิณํ ทชฺชา ปุพฺเพ กตมนุสฺสรํ

    น หิ รุณฺณํ วา โสโก วา ยาวญฺญา ปริเทวนา

    น ตํ เปตานมตฺถาย เอวํ ติฏฺฐนฺติ ญาตโย

    อยญฺจ โข ทกฺขิณา ทินฺนา สงฺฆมฺหิ สุปติฎฺฐิตา

    ฑีฆรตฺตํ หิตายสฺส ฐานโส อุปกปฺปติ

    คาถาที่ ๑๐ แปลความว่า

    บุคคลมาระลึกถึงอุปการะอันท่านได้กระทำแล้วในกาลก่อนว่า ผู้นี้ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนของเรา ดังนี้ ก็ควรให้ทักษิณาเพื่อผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว

    คาถาที่ ๑๑ แปลความว่า

    การร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี ความร่ำไรรำพันอย่างอื่นก็ดี บุคคลไม่ควรทำเลย เพราะว่าการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้วญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้น

    คาถาที่ ๑๒ แปลความว่า

    ก็ทักษิณาทานนี้แล อันท่านให้แล้ว ประดิษฐานไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จโดยพลัน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นตลอดกาลนาน

    สำหรับคาถาที่ ๑๐ ที่ว่า บุคคลมาระลึกถึงอุปการะอันท่านได้กระทำแล้วในกาลก่อนว่า ผู้นี้ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจนี้ของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนของเรา ดังนี้ ก็ควรให้ทักษิณาทานเพื่อผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว

    นี่เป็นสิ่งที่ควรกระทำ คือ การเกื้อกูลแก่ผู้ที่เป็นญาติ เป็นมิตรสหาย เพราะว่าคงจะไม่มีญาติ หรือมิตรสหายคนไหน ซึ่งไม่เคยกระทำกิจ หรือทำคุณแก่ท่าน เพราะฉะนั้น การที่จะเกื้อกูล เกื้อกูลในระหว่างที่มีชีวิตด้วยการที่ให้บุคคลนั้นได้มีโอกาสเจริญกุศลทุกประการยิ่งขึ้น เพิ่มพูนยิ่งขึ้น หรือว่าเกื้อกูลเมื่อกำลังจะสิ้นชีวิตโดยที่ไม่ร้องไห้ ไม่คร่ำครวญ ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มั่นคงในทาน ในศีล ในกุศลแล้ว ก็ไม่ควรที่จะรบกวนให้จิตใจของบุคคลนั้นหวั่นไหวไป หรือถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่ได้ระลึกถึงทาน ถึงศีล ถึงกุศล ผู้ที่อยู่ใกล้กับญาติมิตรสหายที่กำลังจะสิ้นชีวิต ก็ควรที่จะให้บุคคลนั้นมนสิการ น้อมระลึกถึงกุศล เช่น ทานบ้าง ศีลบ้าง หรือความสงบของจิตบ้าง หรือการเจริญสติปัฏฐานในขณะนั้นบ้าง และเมื่อบุคคลนั้นล่วงลับไปแล้ว ไม่ทราบว่าจะเกิดในคติใด กำเนิดใด ก็ควรที่จะได้กระทำทานกุศล และอุทิศส่วนกุศลให้


    สำหรับคาถาที่ ๑๑ ซึ่งมีความว่า

    การร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี ความร่ำไรรำพันอย่างอื่นก็ดี บุคคลไม่ควรทำเลย เพราะว่าการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้น

    จะร้องไห้สักเท่าไร ถ้าผู้นั้นเกิดเป็นเปรต ญาติที่อยู่ในมนุษย์โลกร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน เปรตก็ยังต้องเป็นเปรตอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับญาติที่ละโลกนี้ไปแล้ว แต่ถ้าท่านกระทำทาน อุทิศส่วนกุศลให้ และญาตินั้นอนุโมทนา ก็สามารถที่จะได้รับสมบัติที่เกิดจากการอนุโมทนาที่เป็นกุศลจิตของตนเองได้

    สำหรับคาถาที่ ๑๒ แปลความว่า

    ก็ทักษิณาทานนี้แล อันท่านให้แล้ว ประดิษฐานไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จโดยพลัน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นตลอดกาลนาน

    ข้อความต่อไป ท่านจะทราบว่า การถวายทานเพื่ออุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่เกิดเป็นเปรตนั้น จะต้องถวายทานแก่ผู้ที่บริสุทธิ์ ถ้าผู้นั้นไม่บริสุทธิ์ ผู้รับก็ไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล เพราะเหตุว่าไม่เป็นปัจจัยที่จะให้โสมนัส และอนุโมทนาได้

    คาถาสุดท้ายในติโรกุฑฑกัณฑ์ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ พระเจ้าพิมพิสารที่ได้ถวายทานอุทิศแก่หมู่พระญาติในคราวนั้น ด้วยพระคาถาว่า

    โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต

    เปตานปูชา จ กตา อุฬารา

    พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ

    ตุมฺเหหิ ปญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกนฺติ

    ซึ่งแปลความว่า

    ญาติธรรมนี้นั้นท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว บูชาอันยิ่งท่านได้กระทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว และท่านทั้งหลายได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วบุญไม่ใช่น้อยท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้ว ดังนี้

    การทำบุญแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ท่านจะต้องขวนขวายหลายประการทีเดียว การทำบุญกุศลนั้นจึงจะสำเร็จได้ รวมทั้งการอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ขวนขวาย หรือถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ทราบว่า สามารถที่จะอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วนั้นให้ผู้อื่นอนุโมทนา และได้สมบัติเพราะการอนุโมทนาของตน ญาติมิตรของท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล หรืออนุโมทนา

    สำหรับคาถาสุดท้ายซึ่งแปลความว่า

    ญาติธรรมนี้นั้นท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว

    หมายถึง การทำกิจอันญาติทั้งหลายพึงทำเพื่อญาติ ผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการกระทำกิจที่ควรกระทำแก่ญาติประการหนึ่ง

    บูชาอันยิ่งท่านก็ได้ทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว

    การบูชา คือ การบริจาคทาน และอุทิศผลให้

    ข้อความที่ว่า

    และท่านทั้งหลายได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว

    คือ ด้วยการถวายปัจจัยไทยทาน

    ข้อความที่ว่า

    บุญมิใช่น้อยท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้ว ดังนี้

    การกระทำทานกุศลแต่ละครั้ง และการอุทิศส่วนกุศลให้นั้น เป็นการสะสมบุญ เพราะว่าขณะนั้นเป็นจาคเจตนา คือ การที่จะสละ ละกิเลส ความตระหนี่ ความหวงแหน หรือว่าการไม่ระลึกถึงคุณ การเกื้อกูลกันของผู้ที่เป็นญาติมิตรสหาย

    ข้อความในอรรถกถาตอนท้าย มีว่า

    เทศนา ปริโยสาเน

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงติโรกุฑฑคาถา ๑๓ คาถา เริ่มตั้งแต่คาถาว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เป็นต้น จนกระทั่งคาถานี้เป็นที่สุดนั้น เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้เกิดความสลดใจด้วยการได้ฟังเรื่องเปรตวิสัย และได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานถึง ๘๔,๐๐๐ เป็นประมาณ

    รุ่งขึ้นวันที่ ๒ จนถึงวันที่ ๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงซ้ำอีก มีผู้ตรัสรู้ธรรมอีกถึงวันละ ๘๔,๐๐๐ ทั้ง ๗ วัน ดังนี้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 274

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 275

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 276


    หมายเลข 12981
    29 ส.ค. 2567