เปรตทั้งหมด อยู่ในฐานะที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล


    ข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถากล่าวว่า พวกที่เป็นเปรตทั้งหมดนั้น อยู่ในฐานะที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล ซึ่งข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีข้อความเรื่องเปรต

    ข้อความใน ปรมัตถโชติกา ได้กล่าวถึงลักษณะรูปร่างของเปรต ญาติพระเจ้าพิมพิสารว่า บางพวกก็มีลักษณะผอม หยาบ ดำ เหมือนต้นตาลที่ถูกไฟป่าไหม้ เส้นเอ็นหย่อน อวัยวะใหญ่น้อยห้อยย้อย เป็นไปตามผลของกรรม แล้วแต่ว่ากระทำกรรมอย่างใดมา ก็ทำให้เกิดเป็นเปรตที่มีรูปร่างลักษณะอย่างนั้น บางพวกเป็นพวกที่หิวกระหายจนมีไฟเผาพุ่งออกจากท้อง แลบออกมาทางปาก บางพวกช่วงคอเล็กเท่าปลายเข็ม ท้องดุจภูเขา หิวมาก เพราะบริโภคไม่ได้ตามต้องการ บางพวกก็ลิ้มเลียสิ่งโสโครกเป็นอาหาร เช่น เลือด หนอง เป็นต้น นี่ก็เป็นลักษณะของเปรตต่างๆ กัน

    ในปรมัตถโชติกาอรรถกถาได้กล่าวถึงฐานะเปรต ซึ่งเป็นฐานะที่รับอุทิศส่วนกุศลได้ โดยได้กล่าวถึงผู้ที่เกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน และเป็นพวกเปรต แต่ว่าสัตว์นรกก็ดี สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งเป็นกำเนิดอบายนั้น ไม่สามารถที่จะรับอุทิศส่วนกุศลได้ ส่วนพวกเปรต พวกปิตติวิสัยนั้น เป็นฐานะที่จะรับอุทิศส่วนกุศลได้

    ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีข้อความว่า

    ข้อที่พระผู้มีพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    ดูกร พราหมณ์ ฐานะมีอยู่แก่ทาน ซึ่งสำเร็จแก่ผู้ที่อยู่ในฐานะนั้น หมายความว่า เมื่อทักษิณาสำเร็จในฐานะอันต่างโดยประเภท มีขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นต้น เมื่อสำเร็จในฐานะดังกล่าวนี้ คือ แก่เปรตเหล่านี้

    ซึ่งก็ได้แก่เปรตทุกจำพวก เพราะใช้คำว่า ขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็น ขุปปิปาสิกเปรต คือ เปรตที่มีความหิวกระหายเป็นนิจ วันตาสาเปรต เปรตผู้หมดหวัง หวังจะได้รับก็ไม่ได้รับ คอยไปอยู่เรื่อยๆ ปรทัตตูปชีวิกเปรต ได้แก่ เปรตที่ดำรงชีวิตโดยอาศัยสิ่งที่ผู้อื่นให้ นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่ตัณหาความทะยานอยากเผาไหม้ เป็นต้น

    เมื่อสำเร็จในฐานะดังกล่าวนี้ คือ แก่เปรตเหล่านี้ ซึ่งก็ได้แก่เปรตทุกจำพวก จึงชื่อว่า สำเร็จโดยฐานะ

    หมายความว่า ทานที่ให้ไปแล้ว อุทิศให้สำเร็จแก่พวกเปรตทั้งหมด ไม่เว้นเลย ไม่ใช่แต่ปรทัตตูปชีวิกเปรตเท่านั้น

    นอกจากนั้น ข้อความในอรรถกถายังมีว่า

    จึงชื่อว่าสำเร็จโดยฐานะ เหมือนเมื่อให้กหาปนะ ชาวโลกย่อมกล่าวกันในโลกว่า บุคคลนั้นให้กหาปนะ ดังนี้ คือ สำเร็จทันทีทันใด

    เมื่ออุทิศให้แล้ว อนุโมทนาทันที ก็ได้รับสมบัตินั้นทันทีเหมือนกับการให้เงิน ฉันใด การอุทิศให้แก่เปรต และเปรตนั้นอนุโมทนาก็จะได้รับส่วนของกุศลที่อุทิศให้ ฉันนั้น เพราะเหตุว่าการที่เปรตจะรับอุทิศส่วนกุศล จะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ

    ๑. เพราะการอนุโมทนาของเปรต

    ๒. เพราะการอุทิศให้ของทายก

    ๓. เพราะความถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล คือ เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล มีความบริสุทธิ์ที่ทำให้เปรตเกิดปีติโสมนัสอนุโมทนาด้วย

    ข้อความต่อไปท่านจะได้ทราบว่า ถ้าให้ทานแก่บุคคลผู้ทุศีลแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ เปรตจะไม่ได้รับ เพราะว่าไม่เกิดปีติโสมนัสที่จะอนุโมทนา เพราะเปรตเป็นอมนุษย์ไม่ใช่มนุษย์ สามารถที่จะรู้จะเห็นการกระทำกุศล และอกุศลของบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ได้ และที่จะให้บุคคลอื่นมายินดีอนุโมทนาในอกุศลธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าให้ทานแก่บุคคลที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้ทุศีลแล้ว เปรตจะไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล

    ถ. . ทานตอนนี้มีการกระทำอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง คือ การให้ทาน อีกอย่างหนึ่ง คือ การอุทิศส่วนกุศล สำหรับการให้ทานก็รู้อยู่แล้วว่าทำอย่างไร ให้อย่างไร สำหรับการอุทิศส่วนกุศล รู้สึกจะไม่ชัดเจนว่า กุศลที่อุทิศไปให้นี้ คืออะไรกันแน่ กุศลเป็นวัตถุ หรือไม่ใช่วัตถุ และผู้รับ รับเป็นวัตถุ หรือรับอย่างไรครับ

    สุ. การถวายทานเพื่ออุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ข้อความในปรมัตถโชติกามีว่า ซึ่งเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายน้ำแก่พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์ ในขณะนั้น เปรตซึ่งเป็นญาติอนุโมทนาแล้ว ก็เกิดสระโบกขรณี ซึ่งเมื่ออาบแล้ว ดื่มแล้ว ก็มีวรรณะดังทองคำ

    นี่เป็นข้อความในอรรถกถา ซึ่งท่านจะได้พิจารณาว่า การได้รับสมบัติ เมื่อรับอุทิศส่วนกุศล และอนุโมทนาแล้ว จะได้รับสมบัติในลักษณะใด

    เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว และของบริโภค ก็เกิดอาหารบริโภคแก่เปรตเหล่านั้น มีอินทรีย์กระปรี้กระเปร่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายผ้า และเสนาสนะ ผ้าปูนอน และที่นอน ก็เกิดผ้าทิพย์เป็นต้น แก่เปรตเหล่านั้น

    . อย่างนี้ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้าให้ขนม ให้ผ้าผ่อน อะไรต่ออะไรสารพัด ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือว่าใครก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะไปปรากฏแก่ผู้รับ คือ เปรต เป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นของทิพย์อย่างที่อาจารย์ว่า มีผู้กล่าวว่าให้อย่างไรก็ได้อย่างนั้น ให้ขนมหม้อแกงไป เปรตก็ได้กินขนมหม้อแกงด้วยหรือ

    สุ. เป็นอาหารที่เหมาะที่ควรแก่ภูมินั้นๆ ที่จะได้รับ แต่ว่าบางข้อความ ในอรรถกถาท่านก็ใช้เป็นสำนวนว่า เสมือนในลักษณะเดียวกัน แต่ว่าต้องเป็นอาหารประเภทที่เปรตนั้นสามารถที่จะบริโภคได้ ไม่ใช่ว่าของที่มนุษย์บริโภคได้ และเปรตจะบริโภคได้อย่างเดียวกัน แต่ว่าอาหารที่เปรตอนุโมทนา และได้บริโภคนั้น เป็นลักษณะเดียวกัน แต่ต้องเป็นอาหารที่เปรตบริโภคได้

    ถ. บาลีใช้ว่า ฐานโส อุปกปฺปติ คือ สำเร็จประโยชน์ อย่างพระเจ้าพิมพิสารถวายไตรจีวร เปรตจะต้องได้ไตรจีวร ไม่ใช่อย่างนั้น ฐานโส อุปกปฺปติ คือ สำเร็จประโยชน์เท่าที่ควร เปรตนั้นไปเกิดเป็นเทวดา ก็ได้เครื่องทิพย์อย่างเทวดา ไม่ใช่ถวายกางเกงแล้วจะได้กางเกง ถวายเสื้อจะได้เสื้ออย่างนั้นก็แย่ ไม่ใช่อย่างนั้น

    สำเร็จตามควรแก่ฐานะ ฐานะเป็นอย่างไร เป็นเทวดา เครื่องนุ่งห่มของเทวดาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นมนุษย์ เครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างไร ก็สำเร็จตามฐานะอย่างนั้น ฐานโส อุปกปฺปติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น สำเร็จประโยชน์ควรแก่ฐานะ หมายความว่า ฐานะของคนรับ

    และปัตตานุโมทนามัยในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ อนุโมทนาส่วนกุศลเป็นนามธรรม แปลว่า ยินดีด้วย ยินดีที่เขาทำด้วย และได้รับส่วนที่อนุโมทนาตามฐานะ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 276


    หมายเลข 12982
    24 ก.ค. 2567