การกระทบเย็นร้อน อ่อนแข็ง เป็นการเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร


    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้า ที่เขียนมาจากวัดเกาะต่ออีก เพราะว่าคราวที่แล้วยังไม่จบ

    คำถามข้อ ๒

    การกระทบเย็นร้อน อ่อนแข็ง ก็เกิดเป็นเวทนาอย่างธรรมดา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง อาจารย์เห็นเป็นการเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร ในเมื่อเวทนาไม่ตั้งอยู่แน่นอนเช่นนั้น แล้วจะมีอะไรที่ดีขึ้น อาจารย์กระทบถูกต้องมาตั้งแต่เกิด จนบัดนี้ กิเลสหมดแล้วหรือยัง เจริญสัญญาปัฏฐาน หรือสติปัฏฐาน คนมีสติสัมปชัญญะนั้น มีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สำหรับลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ได้บรรยายตลอดมา เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ที่จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเจริญธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะรู้อะไร

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค ฉวิโสธนสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    ถ้าท่านผู้ฟังใคร่ที่จะทราบว่า ผู้ใดบรรลุมรรคผลหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการถาม ตรงๆ หรือจะให้บุคคลนั้นตอบ และท่านจะเชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่กล่าวว่า เป็นผู้ที่ได้บรรลุมรรคผล หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว

    คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว

    คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว

    คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว

    ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบแล้ว

    คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้วนั้น หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

    คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คือ รู้ลักษณะของเสียง สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

    คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คือ การรู้ลักษณะของกลิ่น รสโผฏฐัพพะที่ปรากฏ

    คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว ได้แก่ การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แมัโผฏฐัพพะ คือ การกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบว่า เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แล้วก็ข้ามไป

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น นอกจากประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แทงตลอดถึงความเกิดดับที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

    ขณะนี้ สภาพธรรมทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดีทางใจก็ดี เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก เป็นเพราะความไม่รู้ เป็นเพราะการไม่อบรมปัญญาให้สมบูรณ์ จึงไม่สามารถประจักษ์ในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อจะประจักษ์ ก็ไม่ใช่ประจักษ์ในขณะอื่น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้หลีกเลี่ยง หลบไปรู้สิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังเป็นของจริง คือ กำลังปรากฏ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนรู้ชัด และสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    ข้อความต่อไปใน ฉวิโสธนสูตร มีว่า

    นี้แลโวหาร ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบ

    ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

    สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำลังมี กำลังปรากฏ และผู้ที่กล่าวว่า หมดกิเลส สิ้นกิเลสแล้วนั้น ก็ควรที่จะได้ซักถามผู้ที่กล่าวนั้นว่า จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

    ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุผล เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่โดยรอบในขณะนี้ รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะสิ้นอาสวะได้ ซึ่งจะพ้นไปจากการรู้ชัดในสภาพ ในลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏนี้ไม่ได้ ถ้าเป็นความรู้ ก็จะต้องรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    และถ้าบุคคลนั้นพยากรณ์ถูกต้องว่า ได้ดับกิเลสจากอารมณ์เหล่านี้ได้แล้ว เมื่อเห็นอยู่ เมื่อได้ยินอยู่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่าสาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบนี้ มี ๕ ประการแล ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบแล้ว

    ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

    ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ

    เพราะอะไรจึงควรชื่นชม และอนุโมทนา เมื่อภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า เพราะรู้อยู่ เห็นอยู่ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในสภาพธรรมที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพราะเหตุว่าเป็นธรรม เป็นธรรมดา เป็นของจริงที่ปรากฏ ที่จะต้องรู้ เมื่อรู้ในธรรม ในธรรมดา ในของจริงที่ปรากฏ จึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ควรแก่การที่จะอนุโมทนาว่า สาธุ

    จริงไหม ถ้าใครสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ แทงตลอดในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ในสภาวลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ควรที่จะอนุโมทนาว่าสาธุไหม

    และที่พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ควรจะได้สอบถามบุคคลนั้น ถึงอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ เพราะเหตุใด

    เพราะเหตุว่า ต้องเป็นการรู้ในสภาพธรรมที่ทั่วจริงๆ ไม่ใช่เว้น อย่างเช่น รูป ซึ่งเป็นที่ยึดถือ เป็นที่พอใจ ถ้าไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาวธรรมที่เป็นรูป ไม่ใช่นามธรรม ก็จะหมดความยินดี ความพอใจในรูป ที่เคยยึดถือ ที่เคยยินดี ที่เคยพอใจไม่ได้ จะต้องรู้ชัดจริงๆ ในสภาพที่เป็นรูปธรรม และในสภาพที่เป็นนามธรรมต่างๆ กัน เช่น เวทนา ความรู้สึก ถ้าจะข้ามไป และหวังจะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรม และรูปธรรม เป็นสิ่งที่ไปไม่ได้เลย เพราะว่าเคยยึดถือสภาพของความรู้สึก คือ เวทนาขันธ์ ขณะที่กำลังดีใจ สติระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งหรือยัง ขณะที่กำลังเสียใจ สติระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งหรือยัง

    นี่เป็นสิ่งที่ข้ามไม่ได้ ถ้าข้ามไป ก็หมายความว่า ท่านยังติดอยู่เต็มที่ในลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง และขณะที่สติไม่ระลึกรู้ ขณะนั้นย่อมยึดถือสภาพของรูปธรรมนั้น นามธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุธรรม ไม่ว่าจะซักถามโดยประการใด ผู้ที่รู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง จนสามารถแทงตลอดได้ ก็ย่อมรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงสามารถที่จะหลุดพ้น เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัย คือ ความตั้งใจ และความปักใจมั่นในรูปได้ ในเวทนาได้ ในสัญญาได้ ในสังขารได้ ในวิญญาณได้

    นี่เป็นข้อที่ควรจะได้ซักถาม แต่ไม่ใช่ถามว่า บรรลุไหม บรรลุหรือยัง และถ้าใครตอบว่าบรรลุ ก็เชื่อ และที่เชื่อ ก็คงจะไม่ได้เชื่อจริงๆ บางครั้งอาจจะเชื่อ บางครั้งอาจจะไม่เชื่อ เพราะยังไม่มีเหตุผลที่จะวินิจฉัยได้ และเพราะว่าไม่ได้สอบถามถึงความรู้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น รู้อะไรที่เป็นอริยสัจธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่าสาธุ ครั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ธาตุ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบนี้ มี ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบแล้ว

    ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

    จากข้อความในพระสูตรนี้ คงจะแก้ความสงสัยของพระคุณเจ้าผู้ถามได้ ที่ท่านถามว่า กระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งมาตลอด และดับกิเลสได้หรือยัง สิ้นกิเลสแล้วหรือยัง เพราะเหตุว่าบุคคลที่สิ้นกิเลสนั้น หมดความสงสัย เพราะรู้ชัดในปฐวีธาตุอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ

    ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะต้องรู้สภาพธรรมที่เป็นธาตุเหล่านี้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถ้าผู้ใดยังสงสัยอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่บรรลุอริยสัจธรรม หรือว่าผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้รู้แจ้งในธาตุ ๖ นี้ ก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงให้พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป ถึงอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ซึ่งก็เป็นการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจ

    และประการสุดท้าย พระผู้มีพระภาคทรงให้ถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป ถึงการถอนอนุสัย คือ ความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในธรรมทั้งหลายได้หมดสิ้นว่า เพราะรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไร และเพราะประพฤติปฏิบัติอย่างไร

    ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาโดยตลอดในพระไตรปิฎก จะหมดความสงสัยว่า เพราะรู้อยู่เห็นอยู่ อย่างไร จึงดับกิเลสได้ ซึ่งจะไม่พ้นเลย ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของการให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    อรรถกถา ปปัญจสูทนี ฉวิโสธนสูตร มีว่า

    ก็ธรรมใดที่ผู้ใดบรรลุแล้ว ธรรมนั้น ย่อมปรากฏแก่ผู้นั้น

    ถ้ายังไม่บรรลุ จะคิดสงสัย จะคาดคะเน จะเดาประการต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ แจ่มแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นได้ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญานั้น ยังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นลำดับขั้นได้ แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงความสมบูรณ์ที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ก็ธรรมใดที่ผู้ใดบรรลุแล้ว ธรรมนั้น ย่อมปรากฏแก่ผู้นั้น

    ขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็นอยู่ ทางหูที่กำลังได้ยินอยู่ ทางกายที่กำลังรู้อยู่ ในเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว หรือแม้ทางใจที่กำลังคิดนึกก็ตาม โดยปริยัติ ท่านผู้ฟังทราบว่า เมื่อเห็นสี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รู้สภาวะของสีที่ปรากฏ และยังไม่ดับไปทางจักขุปสาท จิตที่รู้รูปารมณ์ คือ สีที่ยังไม่ดับ เป็นจักขุทวารวิถีจิต เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รับรู้รูปารมณ์ต่อจากจักขุทวารวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ปรากฏเสมือนว่า เห็นทางจักขุปสาท โดยไม่มีมโนทวารวิถีจิตคั่นเลยนั้น แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติ ที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม รู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมที่ไม่ใช่นามธรรม เป็นแต่ละลักษณะจริงๆ จะต้องรู้ชัดทางมโนทวาร เพราะทางมโนทวารรับรู้สีต่อจากจักขุทวารวิถีจิต รับรู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถีจิต รับรู้กลิ่นต่อจากฆานทวารวิถีจิต รับรู้รสต่อจากชิวหาทวารวิถีจิต รับรู้โผฏฐัพพารมณ์ต่อจากกายทวารวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ มโนทวารวิถีจิตเกิดสลับอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นความรู้ชัด ที่รู้ชัดในลักษณะของรูปที่ไม่ใช่นามธรรม และขาดตอนแต่ละวิถีจริงๆ จะต้องเป็นการรู้ชัดทางมโนทวารวิถีจิต

    ถ้าปัญญายังไม่รู้อย่างนี้ ยังไม่หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็เพียงแต่ระลึก และรู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องอบรม จนรู้ชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ และไม่รู้ผิดไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งสืบต่อติดกันอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าสติไม่อบรม ไม่เจริญ และปัญญาไม่เริ่มแยก รู้ชัด จนเป็นความรู้ที่สมบูรณ์จริงๆ ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนี้ได้

    เมื่อเป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง สติก็สามารถที่จะเริ่มระลึก ปัญญาสามารถที่จะรู้มากขึ้น วันหนึ่งย่อมสามารถประจักษ์ทางมโนทวารว่า เป็นนามธรรมแต่ละชนิด เป็นรูปธรรมแต่ละชนิดได้

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการอบรม เจริญ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเป็นลำดับขั้นได้ แต่ไม่ใช่เกิดความสงสัยข้องใจขึ้นว่า ทางกายที่กระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง สัมผัสมาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แล้วรู้หรือยัง กิเลสหมดหรือยัง นี่เป็นความสงสัยที่ไม่รู้ว่า การรู้อริสัจธรรมนั้น รู้อะไร

    สำหรับผู้ที่รู้สภาพธรรม จะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จะรู้ว่า การศึกษาเพื่อให้รู้ชัดในอริยสัจธรรมนั้น สำคัญกว่าการที่จะถามว่า ผู้ใดบรรลุ หรือว่าผู้ใดไม่บรรลุ เพราะเหตุว่าการถามอย่างนั้น ไม่สามารถทำให้หมดความสงสัยได้ แต่การที่จะหมดความสงสัยได้จริงๆ นั้น ก็โดยการศึกษาข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งในอริสัจธรรม โดยให้รู้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น รู้อะไร และอบรมเจริญอย่างไร จึงจะรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 383

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 384


    หมายเลข 12986
    25 ก.ค. 2567