ขอให้อธิบายเรื่องจิตสั่ง


    ถาม ขอให้อธิบายเรื่องจิตสั่ง เพราะว่ามีผู้ถกเถียงกันมากเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ รูปที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสมุฏฐาน คือ มีธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูปนั้น เพราะเหตุว่ารูปเป็นสังขารธรรม ต้องมีเหตุมีปัจจัย ซึ่งสมุฏฐานที่ให้รูปเกิดมี ๔ คือกรรม ๑ จิต ๑ อุตุ ๑ อาหาร ๑

    กรรม คือ การกระทำในอดีตที่กระทำสำเร็จไปแล้ว จะเป็นในปัจจุบันชาติ หรือว่าในชาติก่อนๆ กี่พัน กี่ล้าน กี่แสนชาติมาแล้วก็ตาม เมื่อพร้อมที่จะให้เกิดผลเมื่อไร ก็ย่อมจะทำให้เกิดวิบาก ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก และรูป สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ซึ่งรูปๆ หนึ่ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ และจิต ๑๗ ขณะนี้ เกิดดับเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น รูปนี้ก็ทยอยเกิดขึ้น และก็ทยอยดับไป

    เรื่องของรูปเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และควรที่จะได้ทราบด้วยว่า ท่านที่สงสัยว่า เรามีตาได้อย่างไร มีหูได้อย่างไร มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจได้อย่างไร สามารถที่จะสร้างจักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทเหล่านี้ได้ไหม ซึ่งถ้าเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมแล้ว ไม่มีบุคคลใดสามารถที่จะสร้างได้ เพราะเหตุว่า รูปนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นๆ ที่เป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นๆ เกิด

    นี่เป็นเรื่องของรูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดสั่ง

    กรรมที่กระทำไปแล้ว ก็ดับไปนานแล้ว ตาของแต่ละท่านในชาตินี้ ก็ไม่ทราบว่ากรรมในชาติไหนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น กรรมในชาติก่อนๆ นั้นดับไปแล้ว ไม่มาสั่ง ไม่มาบอกให้จักขุปสาทนี้เกิด ให้โสตปสาทนี้เกิด ให้ฆานปสาทนี้เกิด แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำไปแล้ว ถ้าเป็นกรรมที่เนื่องกับภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่ากรรมนั้นจะดับไป ก็เป็นสมุฏฐาน เป็นที่ตั้ง แล้วแต่ว่ากำลังของกรรมนั้น พร้อมในการเป็นสมุฏฐานที่จะให้รูปนั้นเกิดเมื่อไร รูปนั้นก็เกิด

    โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน วันนี้ยังไม่เกิด พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า หรือปีหน้าอาจจะเกิดก็ได้ ไม่มีใครสามารถจะทราบได้ว่า รูปนั้นเกิดเพราะอะไรเป็นสมุฏฐาน แต่สมุฏฐานหนึ่ง คือ กรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นชาตินี้ ชาติก่อน ชาติโน้นๆ จะเป็นกี่ล้าน กี่แสนชาติ ล่วงเลยไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดได้ในปัจจุบันชาตินี้ ไม่ใช่กรรมสั่ง กรรมดับไปแล้วนานทีเดียว

    และสำหรับจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ก็ควรที่จะได้ทราบว่าจิตนี้เป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูปได้ แต่ต้องพร้อมกับอุปาทขณะของจิต คือ ทันทีที่จิตเกิด รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ก็เกิดพร้อมกันกับจิตทันที เพราะฉะนั้น จิตจะสั่งได้ไหม ในเมื่อรูปเกิดพร้อมกับจิตทันทีในอุปาทขณะ


    ผู้ฟัง เรื่องจิตสั่ง หรือจิตไม่สั่ง เหมือนกับเป็นปัญหาโลกแตก ฟังๆ ดูแล้ว ก็ชอบกล จะสั่ง หรือไม่สั่ง ซึ่งภาษาบาลีที่พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มัฏฐกุณฑลีเทวบุตร ภาค ๑ ธรรมบทภาคต้นๆ มีว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมมา มโนเสฏฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ ทุกฺขมนฺวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ ภาษาบาลีพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้

    มโน คือ มนะ หรือว่าจิต ปุพพงฺ แปลว่า ก่อน คมา แปลว่า ไป หรือถึง

    ธมมา แปลว่า ธรรม

    แปลได้ความว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน ท่านว่าอย่างนี้ครับ

    ธรรมทั้งหลาย ทั้งนามธรรม และรูปธรรม มีใจถึงก่อน ท่านว่าอย่างนี้

    มโนเสฏฐา มีใจประเสริฐ มโนมยา สำเร็จแล้วด้วยใจ

    เฉียดเหมือนกันเรื่องใจสั่ง จิตสั่ง เฉียดเหลือเกิน แต่พิจารณาดูให้ดี มโนเสฏฐา แปลว่า มีใจประเสริฐ ในธรรมทั้งหลายนั้น มีใจประเสริฐ มโนมยา สำเร็จแล้วด้วยใจ นี่แปลตามตัว

    มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา เมื่อใจเราชั่วแล้ว จะพูด จะทำ ทุกข์นั้นย่อมไปตาม เหมือนอย่างล้อหมุนตามเท้าโคฉะนั้น คือ ตามเท้าโคไป โคเดินไม่ดี ล้อก็เบียด บาลีเป็นอย่างนี้

    ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ อย่างนี้คล้ายๆ กับว่า ใจสั่งเหมือนกัน คือ ทุกๆ อย่าง ใจถึงก่อน ใจประเสริฐกว่าอะไรทั้งหมด สำเร็จไปด้วยใจ ถ้าไม่มีใจ ก็ทำอะไรไม่สำเร็จ บาลีเป็นอย่างนี้ครับ และเท่าที่อ่านมาเท่าที่แปลมานี้ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นว่า เฉียดเหลือเกินที่ว่าจิตสั่ง

    ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ช่วยให้ความรู้ในทางศัพท์ภาษาบาลี

    สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าจิตประเภทนั้นไม่เกิด ไม่เป็นสมุฏฐาน รูปนั้นก็เกิดไม่ได้

    แต่จิตเกิดพร้อมกับรูปในอุปาทขณะทันที จิตจะมีเวลาสั่งรูปที่เกิดร่วมกันใน อุปาทขณะได้ไหม และจิตขณะต่อไป ก็มีรูปที่เกิดพร้อมในอุปาทขณะที่เป็นจิตตชรูปแล้ว

    โดยการศึกษาอย่างละเอียด ไม่ทราบว่า ท่านยังจะคิดว่าจิตสั่งรูปได้อย่างไร แต่ทรงแสดงไว้ว่า จิตเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และได้ทรงแสดงไว้ด้วยว่า จิตประเภทใดเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ จิตประเภทใดไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป

    จักขุวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดจิตตชรูปเลย เป็นจิตที่ไม่มีกำลังที่จะเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ โสตวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้แล้ว จิตอื่นเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป แม้ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ก็เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป ไม่ได้สั่ง

    ผู้ฟัง ผมขอเสริมที่ท่านอาจารย์อธิบายไปแล้วที่ว่า จิตสั่งได้ หรือไม่ได้ พระพุทธองค์ท่านตรัสสอนเป็นภาษาบาลีไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจิตสั่งได้ ก็ขัดกับหลักธรรมข้อนี้

    การที่เรายืน เดิน นั่ง นอน หรือพูดได้นี้ ก็เป็นเพราะเหตุว่าจิตนี้มีความปรารถนา หรือคิดว่า เราจะเดิน เราจะพูด เราจะนั่ง ก็ทำให้เกิดจิตตชวาโยธาตุอย่างที่ท่านอาจารย์ได้เคยอธิบายมาแล้ว ทำให้เกิดมีการเคลื่อนไหวในร่างกายของเราได้ ทำให้เดินได้ เหยียดแขน เหยียดขา คู้แขนเข้ามา หรือพูดจาได้ ขอให้ท่านพิจารณาเสียใหม่ว่า ถ้าจิตสั่งได้แล้ว ก็ขัดกับหลักอนัตตาธรรม

    ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณายกหลักธรรมให้พิจารณาว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามสภาพของธรรมนั้นๆ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 384

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 385


    หมายเลข 12987
    25 ก.ค. 2567