เรื่องเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติ สำนักปฏิบัติ


    ท่านอาจารย์ ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง จากบ้านเลขที่ ๘๖๓ ตรอกสารภี ๑ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน กรุงเทพมหานคร

    มีข้อความว่า

    ความจริงรายการของท่านอาจารย์ทั้งตอนเช้าตอนค่ำ ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ผมไม่เคยขาดเลย ทั้งบันทึกเทปไว้ก็มาก ถ้าผมศึกษาคำตอบของอาจารย์ในหนังสือที่กรุณาส่งไปให้โดยถ้วนถี่แล้ว ผมอาจจะมีข้อข้องใจสงสัยส่งมารบกวนอาจารย์อีก หวังว่าท่านอาจารย์คงจะไม่อิดหนาระอาใจ ต้องตอบเสียยืดยาวอย่างคราวที่แล้ว ผมขอเรียนด้วยความจริงใจว่า ผมเลื่อมใสศรัทธา ฟังรายการของอาจารย์อย่างไม่เบื่อหน่ายมาเป็นแรมปีจริงๆ แม้จะซ้ำซากอย่างไร ผมก็ฟังได้ด้วยความสนใจ มาจนกระทั่งบัดนี้ แต่ก็มีเอือมอยู่บ้างเหมือนกัน จนต้องปิดวิทยุลงกลางคันเสียระยะหนึ่ง หรือพักหนึ่งเสมอๆ ก็ตรงตอนที่อาจารย์หมั่นย้ำถึงสถานที่ปฏิบัติ และสำนักปฏิบัติอยู่เป็นประจำ และกะรอให้การบรรยายย้ำเรื่องสถานที่ เรื่องสำนักปฏิบัติของอาจารย์ผ่านพ้นไปแล้ว จึงเปิดฟัง เอาแต่ที่เป็นเนื้อหาสาระอื่นๆ ต่อไปอีก บางครั้งเผลอไป ไม่ได้เจริญสติ เป็นเหตุให้เมื่อเปิดวิทยุเพื่อฟังต่อ หลังจากรอให้สิ้นเรื่องสถานที่ของอาจารย์ บางทีก็ประสบกับความผิดหวังบ่อยๆ เพราะรายการบรรยายของอาจารย์จบไปเสียแล้ว

    ผมขอเรียนกับอาจารย์ตรงๆ ว่า ผมทนฟังการบรรยายเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติของอาจารย์ไม่ได้จริงๆ มันเสียวหัวใจชอบกล พูดไม่ถูกจริงๆ เดี๋ยวอาจารย์ก็กล่าวย้ำว่า เรื่องสถานที่ไม่จำกัด ที่ไหนๆ ก็ได้ ฟังแล้วรู้สึกว่า มันขัดกันเองอยู่เรื่อยมา

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งจากจดหมายของท่านผู้ฟัง

    ถ้าพิจารณาจากจดหมายของท่านผู้ฟังฉบับนี้ ไม่ทราบว่า ท่านมีความเห็นว่าธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่จะต้องอาจหาญ กล้าหาญที่จะพิจารณาให้ได้เหตุผลอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อการขัดเกลา เพื่อการละ เพื่อการดับกิเลสจนหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ หรือไม่

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านจะหลบหลีกหลีกเลี่ยง หรือว่าฟังบางตอน ไม่ฟังบางตอน ซึ่งตอนที่ไม่ฟัง จะทราบได้อย่างไรว่า มีเหตุผลประการใดบ้าง ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ยอมฟัง ก็ย่อมจะไม่ทราบเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงได้พูดถึงเรื่องสำนักปฏิบัติ และข้อปฏิบัติของสำนักปฏิบัติ ที่ท่านสามารถจะสอบทานได้ในพระไตรปิฎก

    ณ พระวิหารเชตวัน ไม่มีคำว่า สำนักปฏิบัติวิหารเชตวัน ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารใด ก็ไม่มีคำว่า สำนักปฏิบัติวิหารโครธาราม หรือว่าสำนักปฏิบัติวิหารเวฬุวัน เหล่านี้ เป็นต้น ขณะนี้เป็นของจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และการที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จะขัดกับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ หรือไม่ขัด

    ส่วนการที่จะไปสู่สำนักปฏิบัตินั้น จะทำให้สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้ หรือไม่ได้ และการฟัง ขอให้ฟังโดยตลอด ถ้าตราบใดที่ยังปิดวิทยุ และเลือกฟังเป็นบางตอน ย่อมไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น จึงเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะไปรู้นามธรรม และรูปธรรมเฉพาะในสถานที่หนึ่ง สถานที่ใด และไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

    และบางท่าน ก็อาจจะไม่ได้เปรียบเทียบสภาพของธรรม ที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ในขณะนี้ กำลังเห็น และได้ยินด้วย ให้ทราบว่า ลักษณะของสติที่เกิด คือ กำลังระลึกได้ และก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ได้ แต่เป็นธรรมดา เป็นปกติ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจว่า ท่านเองเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่เป็นปกติ ขอให้ทราบว่า ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นปกติ ขณะที่สติเกิด ก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมที่กำลังเห็น ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เป็นรูป ก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และหลงลืมสติไป ก็หลงลืมสติไป พอสติเกิด ระลึกรู้ ก็เป็นธรรมดา เป็นปกติ เป็นชีวิตจริงๆ

    สำหรับท่านผู้ฟังที่ท่านกล่าวว่า ผมขอเรียนกับอาจารย์ตรงๆ ว่า ผมทนฟังการบรรยายเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติของอาจารย์ไม่ได้จริงๆ มันเสียวหัวใจชอบกล พูดไม่ถูกจริงๆ เดี๋ยวอาจารย์ก็กล่าวย้ำว่า เรื่องสถานที่ไม่จำกัด ที่ไหนๆ ก็ได้ ฟังแล้วรู้สึกว่า มันขัดกันเองเรื่อยมา

    ถ้าท่านเป็นผู้ฟังเรื่องแนวทางเจริญสติปัฏฐานมาตั้งแต่ต้นจนถึงเดี๋ยวนี้ ด้วยความรู้สึกว่า เกิดความเข้าใจขึ้น จะรู้สึกว่าขัดกันเองได้ไหม ในขณะที่ท่านกล่าวว่า เสียวหัวใจชอบกล พูดไม่ถูกจริงๆ ขณะนั้นเป็นอวิชชา หรือเป็นปัญญา เมื่อไม่ทราบแล้ว ก็เป็นอวิชชาแล้ว

    ไม่ได้อบรมเจริญสติ ในขณะที่กำลังเสียวหัวใจนั้นว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดไหน ที่กำลังเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง ถ้าเกิดไม่พอใจขึ้น สติเกิดระลึกรู้ว่า ลักษณะที่ไม่พอใจนั้น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และควรที่จะรับฟัง พิจารณา ถ้าไม่เห็นด้วย หรือว่าไม่เข้าใจ ก็ขอให้ซักถาม

    ผู้ฟัง ปัญหาเรื่องห้องปฏิบัติ หรือว่าสำนักปฏิบัติ เป็นปัญหาที่เถียงกัน และก็ไม่มีใครตัดสิน ความจริงบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสแท้ๆ นั้น ผมจะยกมาให้ฟัง ท่านตรัสในสติปัฏฐาน ๔ ว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ

    อิธ แปลว่า ในธรรมวินัยนี้ ภิกฺขเว แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกฺขุ แปลว่า ภิกษุ

    กาเย แปลว่า ในกาย

    กายานุปสฺสี แยกว่า กาย + อนุ + ปสฺสี

    ปสฺสี ตามไวยากรณ์แปลว่า มีปกติเห็น

    และยังมีต่อไปที่ว่า อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา คือ ต้องไปอย่างนี้ จึงจะทำได้ ความจริงพระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่า ภิกฺขเว ภิกฺขุ ท่านพูดกับพระ และพระเหล่านี้ ท่านอยู่ในป่า ในถ้ำอยู่แล้ว ท่านก็ทำได้

    อรญฺญคโต วา ไปอยู่ป่าอยู่แล้ว ก็ทำได้ รุกฺขมูลคโต วา ผู้ที่ไปอยู่โคนไม้แล้ว ก็ทำได้ และสูญญาคารคโต วา ผู้ที่ไปอยู่เรือนว่างแล้ว ก็ทำได้

    คำว่า ทำได้นี้ ไม่ทำก็ได้

    คำว่า สำนัก พูดกันมามาก ผมไม่ใช่เข้าข้างอาจารย์ ผมเป็นคนรักความจริงเหมือนกัน ถ้าอาจารย์พูดไม่ถูกธรรมจริงๆ เราก็ขัดคอ

    พระผู้มีพระภาคท่านตรัสกับพระภิกษุว่า อิธ ภิกขเว ภิกขุ พูดกับพระ และพระเวลานั้น มีบ้าน มีวัดอยู่อย่างเดี๋ยวนี้หรือ ท่านก็อยู่ในป่า ในอะไรๆ ท่านก็บอกว่า อยู่ที่ไหนก็ทำได้ วา แปลว่า ก็ได้

    และสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน พระอริยสาวก อย่างท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านก็ไม่ได้ไปปลูกกระท่อมที่ไหนที่จะไปเจริญวิปัสสนา ก็อยู่บ้านเหมือนกัน อย่างมหาอุบาสิกาวิสาขา ก็ไม่มีกระท่อมที่ไหนจะไปเจริญวิปัสสนา

    อนุ แปลว่า เนืองๆ หรือตามก็ได้ เห็นตาม

    ปัสสี แปลว่า มีปกติ ต้องแปลอย่างนั้น คนที่ไม่รู้บาลีแปลส่งเดชไปก็แปลได้ แต่ถ้าจะแปลกันอย่างตรงไปตรงมา ปัสสี ต้องแปลว่า มีปกติเห็นตาม กายในกาย

    ปกติ ก็หมายความว่า ปกติ เราอยู่ที่ไหนๆ ก็เรียกว่าปกติ ไม่ใช่ไปพิเศษ


    ผู้ฟัง อีกอย่างหนึ่ง กรุงราชคฤห์ก็ดี กรุงสาวัตถีก็ดี มีพลเมืองเท่าไร เป็นโกฏิๆ ถ้าหากจะไปนั่งเข้ากัมมัฏฐานกัน มีเงินเท่าไรสร้างสถานปฏิบัติถึงจะพอ เพราะฉะนั้น จะอยู่ที่ไหนก็ได้ และไม่ปรากฏว่า สองท่าน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือมหาอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดาไปนั่งเจริญวิปัสสนาที่ไหน ทำไมท่านจึงสำเร็จเป็นพระโสดาบัน

    นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ท่านอายุได้ ๗ ขวบ พ่อใช้ให้ไปรับพระพุทธเจ้า ไม่ได้ไปเจริญวิปัสสนาที่ไหน ไปรับพระพุทธเจ้าแล้วได้สำเร็จ ไม่มีที่ๆ จะไปนั่งเจริญ เข้าใจว่า ไปรับ และได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ และได้สำเร็จ ไม่ได้ไปนั่งเจริญ ไม่มี

    คำว่า อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ผมเลื่อมใสจริงๆ รวมความแล้ว คำว่า ปกติ อาจารย์ไม่ได้พูดเอง มาจากคำว่า อนุ+ปสฺสี ซึ่งแปลว่า มีปกติเห็นตาม ถ้าใครแปลอย่างอื่น ผิดไวยากรณ์ทีเดียว

    ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่กรุณาให้ความหมายในทางภาษาบาลี

    ผู้ฟัง ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้อธิบายถึงคำว่า ไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านก็ยกภาษาบาลีขึ้นมา และอธิบายภาษาบาลีนั้นให้เป็นที่เข้าใจว่า เป็นอย่างไรกันแน่ ท่านก็บอกว่า อารญฺญคโต วา หรือว่าสุญฺญาคารคโต วานี้ ท่านก็บอกว่า ไปอยู่ที่นั่นแล้ว โดยศัพท์จริงๆ นั้นแปลว่า ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่ใช่ไปเพื่อเจริญสติปัฏฐานที่นั่น คือ อยู่ที่นั่นแล้ว ก็เจริญสติปัฏฐานที่นั่นก็ได้ แสดงว่าอย่างนั้น

    ทีนี้ตามมหาสติปัฏฐานสูตรที่เขาแปลกันมานานแล้ว พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านใช้คำว่าอย่างนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสับสนกันขึ้นได้ เช่น คำว่าอรญฺญคโตวา ท่านแปลว่า ไปที่ป่าก็ตาม คำว่าไปที่ป่าก็ตาม ทำให้เราเข้าใจว่า อ้อต้องไปที่ป่า จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ แต่ท่านผู้รู้เมื่อสักครู่นี้ท่านบอกว่า ไม่ใช่อย่างนั้น หรือผู้ที่รู้ภาษาบาลีท่านอื่นๆ ท่านก็บอกแล้วว่า ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม หมายความว่า ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่ใช่ว่า ไปที่ป่าก็ตาม ผมเห็นพ้องกับท่านผู้รู้ภาษาบาลีที่แปลว่า เขาไปอยู่ที่นั่นแล้ว พระเหล่านั้น ท่านไปอยู่โคนต้นไม้บ้าง ตามป่าบ้าง หรือว่าไปสู่ที่ว่างแห่งใดแห่งหนึ่งก็ตาม ที่เหล่านั้นแหละ จะเป็นที่เจริญสติปัฏฐานได้ เป็นปกติของตน

    อีกคำหนึ่ง คือ คำว่า วิหรติ แปลว่า อยู่ คำนี้ท่านอรรถกถา ท่านอธิบายว่า อยู่ด้วยอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี จะนั่งก็เจริญสติได้ จะเดิน จะนอนก็เจริญสติได้ หรือจะอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ความหมายเป็นอย่างนี้ ทีนี้คำแปลต่างๆ เหล่านี้ คล้ายๆ กับว่าไม่สมบูรณ์ จะไปตำหนิท่านก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณายกข้อความในหนังสือที่แปลจากมหาสติปัฏฐาน แม้แต่ข้อความที่ว่า วิหรติ ซึ่งหมายความถึง ย่อมอยู่

    พระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ยังได้อธิบายความไว้ว่า ที่ว่า ย่อมอยู่นั้น ย่อมอยู่อย่างไร ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องชีวิตปกติ เห็น ได้ยิน เป็นสภาพปกติ มีท่านผู้ใดบ้างไหม ที่อยู่ตามปกตินี้ ไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน

    ผู้ฟัง ผมเห็นด้วยที่ว่า วิหรติ แปลว่า อยู่ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสย่อๆ ท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านก็อธิบายว่า อยู่อย่างไร สมมติว่า ผมถามว่า ไปไหนมา อีกฝ่ายก็ตอบว่า เปล่า อยู่บ้าน หมายความว่า อยู่บ้าน ก็ความหมายเดียวกับ หรติ ย่อมอยู่ คือ อยู่บ้าน ซึ่งเราจะนั่งอย่างเดียว หรือจะนอนอย่างเดียว ก็ไม่ใช่ ก็ต้องอยู่ทั้ง ๔ อิริยาบถ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใครจะอยู่โดยไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดินนี้ ไม่มี เป็นชีวิตปกติธรรมดา แต่ไม่ใช่หมายความว่า พอจะทำวิปัสสนา ก็ไปทำนั่ง ทำนอน ทำยืน ทำเดิน ทำจริงๆ นั่งก็ต้องมีท่าทาง โดยเฉพาะเดิน ก็ต้องสำรวม แกว่งมือก็ไม่ได้เป็นปกติก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ความจริงตาม word by word คำว่า วิหรติ

    ติ เป็นกิริยาอาขยาต หร และ วิ ถ้าแปลตามตัว ไม่ใช่นั่ง นอน ยืน เดิน แต่แปลว่า นำไปวิเศษ หร แปลว่า นำไป วิ คือ วิเศษ

    นำไปวิเศษ หมายความว่าอะไร ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จริงๆ แต่อรรถกถาท่านบอกว่าคือ นั่ง นอน ยืน เดิน ย่อมนำไปวิเศษ ท่านว่าอย่างนี้ แปลตามตัวนะ แต่เราแปลตามภาษาสำนวน ก็แปลว่า อยู่

    อยู่ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็ขยายกันไปอย่างนั้น อย่างที่ว่า อยู่บ้าน อยู่บ้านก็ต้องอยู่ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็อยู่ในคำว่า วิหรติ ทั้งนั้นแหละ

    ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องไปทำนั่ง ไปทำนอน ทำยืน ทำเดิน ก็เคยได้รับฟังคำอธิบายของบางท่านว่า พอท่านที่สนใจในเรื่องที่จะทำวิปัสสนาไปถามผู้ที่จะอธิบาย ท่านก็บอกว่า ไหนลองเดินให้ดูซิ ก็ปรากฏว่า คนนั้นเดินไม่เป็น เป็นไปได้อย่างไร เดินไม่เป็น ก็เดินอยู่เป็นปกติ ไปไหนมาไหนก็เดิน แต่พอจะทำวิปัสสนา ผู้ที่จะอธิบายให้ฟังบอกว่า เดินอย่างนั้น เดินไม่เป็น แสดงให้เห็นว่า ต้องไปทำเดินให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นปกติ

    นอกจากนั้น แม้ข้อความในมหาสติปัฏฐานที่ว่า รู้อาการของกาย ในหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อาการของสภาพธรรม อาการของสัญญา อาการของวิตก อาการของกายซึ่งไม่ใช่ตัวตน ก็ได้แก่ รูปที่ปรากฏที่กาย จึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และรูปที่ปรากฏที่กายนี้ มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง มีลักษณะเย็นหรือร้อน มีลักษณะตึงหรือไหว แต่ไม่ใช่ให้รู้ท่าทาง

    คำว่า ให้รู้อาการของกาย ไม่ได้หมายความว่า ให้ควบคุมเป็นท่าทางของรูป และก็รู้ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าให้รู้อาการของกายว่าไม่ใช่ตัวตน ก็คือ อาการนั้นเป็นอาการของธาตุดิน หรือธาตุน้ำ หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ซึ่งมีอาการแต่ละอาการคือ มีลักษณะแต่ละลักษณะนั่นเองปรากฏให้รู้ได้ และจะต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ปรากฏตรงไหน ดับตรงนั้น ไม่สามารถที่จะเอามาต่อควบคุมกัน เป็นท่าเป็นทาง เป็นตัวเป็นตนได้ แม้แต่ลมหายใจที่ปรากฏที่ช่องจมูก เกิดที่ช่องจมูก ปรากฏที่ช่องจมูก ดับที่ช่องจมูก นั่นเป็นอาการของกาย แต่ไม่ใช่เป็นการควบคุมเป็นท่าเป็นทาง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 386

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 387


    หมายเลข 13001
    5 ส.ค. 2567