การละกิเลสเป็นเรื่องละเอียดมาก


    ผู้ฟัง ผมเปิดฟังท่านอาจารย์ทุกคืนๆ เป็นเวลา ๒ – ๓ ปี สรุปว่า สุขกับทุกข์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าเราใช้สติระลึกถึงสุขกับทุกข์ ๒ อย่างนี้ จะมีทางถึงนิพพานได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ๒ อย่างเท่านั้นหรือ ต้องมากกว่านั้นมาก เพียง ๒ อย่างเท่านั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็ไหนว่า สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม ที่มีอยู่ในปัญจขันธ์ทั้งหมดในโลกนี้ ก็มีแต่สุขเวทนา และทุกขเวทนา ส่วนอุเบกขาผมไม่ถาม คำว่า สุขเวทนา และทุกขเวทนาก็เกิดมาจากเหตุปัจจัยมากระทบกันขึ้น เหมือนอย่างเราเอาไม้ไปเคาะปี๊บ ก็เกิดเสียงดังขึ้นมา ฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยมากระทบกัน ก็ทำให้เกิดความสุข และความทุกข์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ซึ่งถ้าจะพิจารณา ๒ อย่างนี้โดยความเป็นภาวะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา จะไม่มีผลบรรลุบ้างหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีแน่นอน เพราะว่าตลอดชีวิตไม่ใช่มีแต่สุขกับทุกข์ ๒ อย่าง แต่มีเห็นด้วย เห็นมีไหม ได้ยินมีไหม ได้กลิ่นมีไหม ลิ้มรสมีไหม รู้เรื่องราวต่างๆ มีไหม แล้วทำไมจะมีเฉพาะสุขกับทุกข์เท่านั้นหรือ

    ผู้ฟัง ในอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่จะเกิดสุข และทุกข์ ก็ต้องกระทบไปแล้วทั้งนั้น จึงจะเกิดสุข เกิดทุกข์ ถ้าเราจะสำเหนียก หรือว่าจะใช้สติรำลึกในจุดใหญ่ ๒ จุดนี้ ไม่ได้หรือ

    ท่านอาจารย์ สักกายทิฏฐิมี ๒๐ ทางรูปขันธ์ ๔ เวทนาขันธ์ ๔ สัญญาขันธ์ ๔ สังขารขันธ์ ๔ วิญญาณขันธ์ ๔ สักกายทิฏฐิ ๒๐ เคยได้กล่าวถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้อดทนที่จะฟังต่อไป และจากการฟังนั้นเอง จะทำให้ทราบว่า เพียงรู้สุขเวทนากับทุกขเวทนาเท่านั้นไม่พอ

    กำลังเห็นเป็นอวิชชา ขณะที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร และสภาพที่กำลังเห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส ต้องดับอวิชชาด้วย

    เรื่องการละกิเลสเป็นเรื่องละเอียดมาก ต้องสังเกต สำเหนียก สติระลึกเพิ่มความรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จึงจะเป็นการรู้ทั่ว รู้ชัด แต่ถ้าเป็นการไปบังคับไว้ สภาพธรรมตามปกติจะไม่เกิดขึ้นให้รู้เลย เพราะเหตุว่าไปบังคับไว้

    ผู้ฟัง ผมได้ยินอาจารย์บรรยายเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผมฟังอาจารย์ก็พอเข้าใจบ้าง ที่พูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายถึงว่า ตาเราเวลากระทบกับรูปแล้วหายไป ไม่ใช่ตัวตนใช่ไหม พูดถึงหู ในขณะที่ได้ยินเสียง ถ้าเป็นเสียงที่ดีเราก็ชอบ ถ้าเป็นเสียงหยาบคายเราก็ไม่ชอบใช่ไหม พูดถึงจมูก เวลาเราดมกลิ่นหอมเราก็ชอบ ถ้าดมกลิ่นเหม็นเราก็ไม่ชอบ ฉันใดก็ฉันนั้นใช่ไหม ลิ้นสัมผัสกับรสอาหาร อร่อยก็ชอบ ไม่อร่อยก็ไม่ชอบ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจคนเราก็เหมือนกันใช่ไหม ในระหว่างที่คิด ถ้าคิดดีก็ดี ถ้าคิดไม่ดีก็ไม่ดีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องประจักษ์แจ้ง ถ้าจบอย่างนี้จริงๆ ก็ถึงความเป็นพระอรหันต์โดยรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเป็นผู้ตรงต่อตัวเองจริงๆ ว่า รู้จริงหรือว่าคิด ที่ว่าประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไป เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นหมดไป โดยที่ไม่ทันรู้ว่านามธรรมหมดไป หรือรูปธรรมหมดไป ลักษณะใดที่หมดไป ซึ่งจะต้องมีการอบรมอีกมากทีเดียว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 493


    หมายเลข 13004
    6 ส.ค. 2567