เรื่องมหานามศากยะและอนุรุทธศากยะ


    พระวินัยปิฎก จุลวรรค เรื่องมหานามศากยะ และอนุรุทธศากยะ ข้อ ๓๓๗ มีข้อความว่า

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของพวกเจ้ามัลละ ครั้งนั้น พวกศากยกุมารที่มีชื่อเสียงออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว ฯ

    สมัยนั้น มหานามศากยะ และอนุรุทธศากยะ ทั้ง ๒ เป็นพี่น้องกัน อนุรุทธศากยะเป็นสุขุมาลชาติ เธอมีปราสาท ๓ หลัง คือ สำหรับอยู่ในฤดูหนาวหลัง ๑ สำหรับอยู่ในฤดูร้อนหลัง ๑ สำหรับอยู่ในฤดูฝนหลัง ๑ เธออันเหล่าสตรีไม่มีบุรุษเจือปนบำเรออยู่ด้วยดนตรีตลอด ๔ เดือนในปราสาทสำหรับฤดูฝน ไม่ลงมาภายใต้ปราสาทเลย

    ครั้งนั้น มหานามศากยะคิดว่า บัดนี้พวกศากยกุมารที่มีชื่อเสียงต่างออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว แต่สกุลของเราไม่มีใครออกบวชเลย ถ้ากระไร เราหรืออนุรุทธะพึงบวช จึงเข้าไปหาอนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ บัดนี้พวกศากยะกุมารที่มีชื่อเสียงต่างออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้ว แต่สกุลของเราไม่มีใครออกบวชเลย ถ้าเช่นนั้นน้องจงบวช หรือพี่จักบวช

    ท่านอนุรุทธะกล่าวว่า

    ฉันเป็นสุขุมาลชาติ ไม่สามารถจะออกบวชได้ พี่จงบวชเถิด

    ท่านมหานามะกล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ น้องจงมา พี่จะพร่ำสอนเรื่องการครองเรือนแก่น้องผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไขน้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอนหญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนต้องทำอย่างนี้ๆ แหละต่อไปอีก

    ท่านอนุรุทธะกล่าวว่า

    การงานไม่หมดสิ้น ที่สุดของการงานไม่ปรากฏ เมื่อไรการงานจักหมดสิ้น เมื่อไรที่สุดของการงานจักปรากฏ เมื่อไรเราจักขวนขวายน้อย เพียบพร้อมบำเรอด้วยเบญจกามคุณ

    คือ เมื่อไรงานทั้งหลายนี้จะเสร็จเสียที จะได้ไม่ต้องลำบาก จะได้สบายๆ ด้วยเบญจกามคุณ

    ท่านมหานามะกล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ การงานไม่หมดสิ้นแน่ ที่สุดของการงานก็ไม่ปรากฏ เมื่อการงานยังไม่สิ้น มารดา บิดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ได้ตายไปแล้ว

    บรรพบุรุษทั้งหลาย ท่านก็ได้สิ้นชีวิตไปเรื่อยๆ แต่การงานในโลกนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีวันที่จะหมด ทุกคนยังคงต้องประกอบการงานต่อไป และบรรพบุรุษทั้งหลายท่านก็จากไปอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอนุรุทธะกล่าวว่า

    ถ้าเช่นนั้น พี่จงเข้าใจเรื่องการอยู่ครองเรือนเองเถิด ฉันจักออกบวชละ ฯ

    ครั้งนั้น อนุรุทธศากยะเข้าไปหามารดา แล้วกล่าวว่า

    ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด

    เมื่ออนุรุทธศากยะกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาได้กล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ เจ้าทั้งสองเป็นลูกที่รักที่พึงใจ ไม่เป็นที่เกลียดชังของแม่ แม้ด้วยการตายของเจ้าทั้งหลาย แม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก ไฉนแม่จะยอมอนุญาตให้เจ้าทั้งสองผู้ยังมีชีวิตออกบวชเล่า

    แม้ครั้งที่สอง ...

    แม้ครั้งที่สาม อนุรุทธศากยะได้กล่าวกะมารดาว่า

    ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด ฯ

    ก่อนที่จะได้ปรารภกันถึงการออกบวชตามพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นชีวิตของอนุรุทธศากยะ และมหานามศากยะ ซึ่งระหว่างนั้นก็ไม่คิดที่จะบวช แต่เมื่อเกิดความคิดที่จะบวช ในระหว่าง ๒ ท่าน ท่านผู้ใดมีปัจจัยที่จะบวช ท่านมหานามะท่านก็ไม่เป็นไร คือบวชก็ได้ แต่ท่านพระอนุรุทธะทีแรกท่านไม่คิดที่จะบวชเลย ซึ่งถ้าท่านไม่มีเหตุปัจจัยจริงๆ ท่านจะบวชได้ไหม ท่านก็บวชไม่ได้ใช่ไหม แม้ว่าครั้งแรกไม่เคยคิดที่จะบวช แต่ว่าในอดีตอนันตชาติของท่าน ท่านได้สะสมเหตุปัจจัยมาถึงการที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในจักษุทิพย์ เพราะฉะนั้น ท่านมีปัจจัยพร้อมแล้ว แม้ในปัจจุบันชาตินี้ ก็ยังมีปัจจัยให้บวชด้วย

    แต่สำหรับท่านพระมหานามศากยะ ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล เล่ม ๒ อรรถกถาพระวินัย มหานามสิกขาบทที่ ๗ ได้กล่าวถึงท่านว่า ท่านเป็นโอรสแห่งพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาค แก่กว่าพระผู้มีพระภาคเพียงเดือนเดียว และในขั้นสุดท้าย ท่านก็ได้เป็นพระอริยสาวกดำรงอยู่ในผลทั้งสอง คือ บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระสกทาคามี ท่านสะสมมาที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีในเพศคฤหัสถ์ แต่ท่านพระอนุรุทธะสะสมปัจจัยมาที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ผู้เป็นเอตทัคคะในจักษุทิพย์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีชีวิตตามความเป็นจริงอย่างไร สะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดกับท่านตามความเป็นจริงอย่างนั้น จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในเพศคฤหัสถ์ หรือในเพศบรรพชิต ต่างกันไปตามอัธยาศัย

    ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มี ที่เป็นบรรพชิตก็มี แม้แต่พวกศากยะทั้งหลายหรือว่าโอรสของพวกศากยะทั้งหลาย ที่ออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้วก็มี ผู้ที่ไม่ได้ออกผนวชตามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงผนวชแล้วก็มี ตามอัธยาศัย ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า ตัวท่านขณะนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นความจริงอย่างนั้น มีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ และต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างที่เหตุปัจจัยได้สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นๆ และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ชีวิตของบรรพชิตเป็นชีวิตที่ยาก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดไม่มีอุปนิสัยสะสมมาที่จะเป็นบรรพชิตจริงๆ การเป็นบรรพชิตย่อมยากมาก เปรียบเทียบได้ระหว่างชีวิตตามความเป็นจริงที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต ซึ่งถ้าผู้ใดได้สะสมอุปนิสัยปัจจัยมาที่จะเจริญสติปัฏฐาน ขัดเกลากิเลส ดับกิเลสในเพศของบรรพชิต ท่านก็จะรู้ได้ว่า เพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาทำให้ท่านบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่จะเจริญสติปัฏฐานในเพศของพระภิกษุจริงๆ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 578


    หมายเลข 13012
    8 ส.ค. 2567