ปาราสริยเถรคาถา


    ชีวิตของบรรพชิตเป็นชีวิตที่ยาก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดไม่มีอุปนิสัยสะสมมาที่จะเป็นบรรพชิตจริงๆ การเป็นบรรพชิตย่อมยากมาก เปรียบเทียบได้ระหว่างชีวิตตามความเป็นจริงที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต ซึ่งถ้าผู้ใดได้สะสมอุปนิสัยปัจจัยมาที่จะเจริญสติปัฏฐาน ขัดเกลากิเลส ดับกิเลสในเพศของบรรพชิต ท่านก็จะรู้ได้ว่า เพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาทำให้ท่านบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่จะเจริญสติปัฏฐานในเพศของพระภิกษุจริงๆ

    ขุททกนิกาย เถรคาถา ปาราสริยเถรคาถา ข้อ ๓๙๔ มีข้อความที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า ที่ท่านไม่ใช่บรรพชิต หรือว่าไม่มีปัจจัยที่สะสมมาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็เพราะกิเลสของท่านที่สะสมมามีมากที่จะยังให้เป็นเพศคฤหัสถ์อยู่ จึงจะต้องเจริญสติปัฏฐานในเพศของคฤหัสถ์

    ข้อความใน ปาราสริยเถรคาถา มีว่า

    พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะ มีจิตแน่วแน่เป็นอารมณ์อันเดียว ผู้สงบระงับ ชอบสงัด เจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่ ฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า ในเมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นนาถะของโลกยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว เดี๋ยวนี้ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง คือ ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑล ก็เพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวอันเกิดแต่ลม และปกปิดความละอายเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม ก็เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ติด ไม่พัวพันเลย

    นี่เป็นอัธยาศัยจริงๆ ซึ่งแม้ท่านผู้ฟังจะเป็นคฤหัสถ์ ท่านก็จะได้สารประโยชน์จากการพิจารณาตัวของท่านเองว่า ต่างกันกับผู้ที่เป็นพระภิกษุในครั้งพุทธกาลอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน (แม้จะถูกความเจ็บไข้ครอบงำ) ไม่ขวนขวายหาเภสัชปัจจัยอันเป็นบริการแก่ชีวิต เหมือนการขวนขวายในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

    ท่านผู้ฟังน้อมนำมาพิจารณาได้ สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นว่าประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรเกินไปกว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าภิกษุในครั้งนั้น ท่านจะถูกความเจ็บไข้ครอบงำ แต่ท่านก็หาได้ขวนขวายหาปัจจัยเภสัชอันเป็นบริการแก่ชีวิต เหมือนการขวนขวายในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายไม่

    อะไรที่จะสำคัญกว่ากัน การแสวงหา การขวนขวายหาอย่างอื่น หรือว่าการขวนขวายที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อศึกษา สังเกต รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพื่อให้ถึงความสิ้นอาสวะได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทรมานตัว แต่พูดถึงศรัทธาในการที่จะขวนขวายแสวงหา

    การขวนขวาย แสวงหาปัจจัยต่างๆ กับการขวนขวายในความสิ้นไปแห่ง อาสวะทั้งหลาย อะไรจะมีค่ามากกว่ากัน และแม้แต่ในขณะกำลังขวนขวายแสวงหาปัจจัยเภสัชต่างๆ เพื่อที่จะรักษาความเจ็บไข้ ในขณะนั้นก็ขวนขวายสังเกตระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ไม่ควรจะเสียโอกาส หรือเสียเวลาที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สติระลึกได้ ปัญญารู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    ข้อความต่อไป

    ท่านเหล่านั้นขวนขวายพอกพูนวิเวก มุ่งแต่เรื่องวิเวก อยู่ในป่า โคนไม้ ซอกเขา และถ้ำเท่านั้น

    ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ปากไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์ของตน และผู้อื่น เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง การบริโภคปัจจัย การซ่องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันเหลวไหลออกจากปากภาชนะไม่ขาดสาย ฉะนั้น

    บัดนี้ ท่านเหล่านั้นสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว มักเจริญฌานเป็นอันมาก ประกอบแล้วด้วยฌานใหญ่ เป็นพระเถระผู้คงที่ พากันนิพพานไปเสียหมดแล้ว บัดนี้ ท่านเช่นนั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที

    ท่านผู้ฟังพิจารณาเห็นว่า เป็นชีวิตประจำวันของท่านด้วยหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันของพระภิกษุ หรือว่าเป็นชีวิตประจำวันของท่านผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อขัดเกลากิเลส อย่าลืม จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อขัดเกลากิเลสด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นชีวิตประจำวัน แม้แต่ข้อความที่ว่า ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม ในชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ไม่ใช่จิตตานุปัสสนาสติ- ปัฏฐาน เมื่อไม่ได้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานจะทราบจิตไหมว่า อ่อนน้อม หรือไม่อ่อนน้อม มากหรือน้อย บ่อยหรือไม่บ่อยในวันหนึ่งๆ นี่เป็นเรื่องของจิต เป็นชีวิตจริงๆ

    การขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ขัดเกลาเวลาอื่น วันอื่น ที่นอกจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวันซึ่งมีการแสดงความอ่อนน้อม นอบน้อมต่อบุคคลอื่น และท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า ขณะใดที่มีการแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ก็เป็นตัวตนแน่นอนที่กำลังแสดงความอ่อนน้อม มากหรือน้อย แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เกิดปรากฏในขณะนั้น แต่ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะสภาพของความอ่อนน้อมในขณะนั้น ก็จะรู้ว่า แม้ความอ่อนน้อมที่มีอยู่ในใจ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้น เป็นแต่เพียงลักษณะของจิตซึ่งมีสภาพอ่อนน้อมในขณะนั้น

    เป็นชีวิตปกติประจำวันจริงๆ แต่ละท่านสะสมมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านพอจะทราบไหมว่า ใครอ่อนน้อมมาก หรือว่าอ่อนน้อมน้อย แต่ถึงแม้จะรู้ว่าใครอ่อนน้อมมาก อ่อนน้อมน้อย ก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตที่อ่อนน้อมของท่านเองในขณะนั้นว่า มากหรือน้อยเพราะเหตุใด นี่เป็นความละเอียดของจิต ซึ่งสลับซับซ้อนมาก

    ถ้ามีความยึดติดแน่นในตัวตน มีความสำคัญในตัวตน มีความสำคัญในเรา ความอ่อนน้อมจะมีได้ไหมในขณะที่เกิดสำคัญในตัวเองขึ้น แต่ถ้าขณะนั้นไม่ได้คิดถึงความสำคัญในตน แต่คิดถึงคุณของผู้อื่น ความดีของผู้อื่น จิตก็เกิดความอ่อนน้อมที่จะแสดงความอ่อนน้อมต่อบุคคลนั้นในขณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เป็นสภาพของจิตที่อ่อนน้อม

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ นี้ กิเลสจะปรากฏออกมาได้มากมายหลายทาง ทางกายก็ได้ที่จะไม่อ่อนน้อมหรืออ่อนน้อม ทางวาจาก็ได้ที่จะอ่อนน้อมหรือไม่อ่อนน้อม หรือแม้จะไม่ปรากฏทางกาย ทางวาจา ทางใจปรากฏแล้วว่าสำคัญในตนเองหรือเปล่า มีความหยาบกระด้างเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือว่ามีความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมในขณะนั้น ซึ่งเป็นกุศลจิต ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ บางครั้งท่านจะรู้สึกจริงๆ ว่า ท่านได้แสดงความอ่อนน้อมน้อยกว่าที่ควรจะอ่อนน้อม เคยรู้สึกอย่างนั้นบ้างไหม ใจก็อ่อนน้อมมาก แต่ว่าอาการที่แสดงออก ไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควร และรู้สึกด้วยว่า ในขณะนั้นไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควรจะอ่อนน้อม ซึ่งถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่า แม้จิตในขณะนั้นก็ไม่อ่อนน้อมเท่าที่ควรจะอ่อนน้อมด้วย ก็เป็นเรื่องละเอียดทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานได้รู้จักตัวท่านละเอียดขึ้นตามความเป็นจริง และได้รู้จักลักษณะของจิตซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ละเอียดมากน้อยต่างกันตามเหตุตามปัจจัยแต่ละขณะด้วย ซึ่งอกุศลทั้งหลาย แม้แต่ความอ่อนน้อมน้อย หรือว่าขาดการขาดอ่อนน้อม จะละคลายเบาบางหมดไปได้ ก็ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น

    ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่สำคัญในตัวเอง และขาดการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม หรือถ้าสติไม่เกิดก็จะไม่เห็นว่า การอ่อนน้อมนั้นน้อยไป ควรจะอ่อนน้อมมากกว่านั้นอีก แต่เพราะเหตุว่ากิเลสที่มีมากเป็นปัจจัยทำให้ความอ่อนน้อมที่เกิดมีในขณะนั้น เป็นเพียงแค่นั้นเอง

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการขัดเกลากิเลส เรื่องของการระลึกรู้สภาพของจิตของท่าน ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ที่ท่านปาราสริยเถระกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ปากไม่ร้าย

    แม้แต่กายหรือวาจาก็ต้องเป็นไปตามจิต เมื่อจิตขัดเกลาขึ้น ใจอ่อนโยนขึ้น และเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติ ปากก็ไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์ของตน และผู้อื่น ไม่ดื้อรั้น ไม่สำคัญในตัวเอง หรือในความคิดของตัวเอง แต่พิจารณาตามเหตุตามผล

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 578


    เพราะฉะนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง การบริโภคปัจจัย การซ่องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันเหลวไหลออกจากปากภาชนะไม่ขาดสาย ฉะนั้น

    บัดนี้ ท่านเหล่านั้นสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว มักเจริญฌานเป็นอันมาก ประกอบแล้วด้วยฌานใหญ่ เป็นพระเถระผู้คงที่ พากันนิพพานไปเสียหมดแล้ว บัดนี้ ท่านเช่นนั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที

    ท่านที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จะเหลือมาก หรือว่าจะเหลือน้อย ตามความเป็นจริงแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงที่เกิดอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องรอ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะความสิ้นไปแห่งกุศลธรรม และปัญญา คำสั่งสอนของพระชินสีห์ อันประกอบแล้วด้วยอาการอันประเสริฐทุกอย่าง จะสิ้นไปในเวลาที่ควรจะทำให้ธรรมทั้งหลายอันลามก และกิเลสทั้งหลายสงบไป ภิกษุเหล่าใดปรารถนาความเพียรเพื่อความสงัด ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ กิเลสเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้น ย่อมครอบงำคนพาลเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่นกับพวกคนพาล เหมือนปีศาจเข้าสิงคนทำให้เป็นบ้าเพ้อคลั่งอยู่ ฉะนั้น

    จริงไหม เคยสังเกตไหม เวลาที่กิเลสเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้น ย่อมครอบงำคนพาลเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่นกับพวกคนพาลเหมือนปีศาจเข้าสิงคนทำให้เป็นบ้า เวลาปกติธรรมดาที่กิเลสครอบงำไม่ได้ก็อย่างหนึ่ง แต่เวลาที่กิเลสครอบงำมากๆ และปรากฏอาการออกมาให้เห็นภายนอก เหมือนปีศาจเข้าสิงไหม เมื่อครู่นี้ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น กิริยาวาจาก็เรียบร้อยละมุนละไม แต่พอลุแก่อำนาจของกิเลสเข้า ไม่ผิดกับปีศาจเข้าสิง ทั้งกาย ทั้งวาจา ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป

    ข้อความต่อไป

    นรชนเหล่านั้น ถูกกิเลสครอบงำ ท่องเที่ยวไปมาในสงสารเพราะกิเลสนั้นๆ ยึดถือในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เพราะกิเลสเป็นเหตุ พากันละทิ้งพระสัทธรรมเสีย ทำการทะเลาะซึ่งกัน และกัน ยึดถือตามความเห็นของตน สำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ นรชนทั้งหลายที่ละทิ้งทรัพย์สมบัติ บุตร และภรรยา ออกบวชแล้ว พากันทำกรรมที่ไม่ควรทำ แม้เพราะเหตุแห่งภักษาหารเพียงทัพพีเดียว

    ภิกษุทั้งหลาย ฉันภัตตาหารเต็มอิ่มแล้ว ถึงเวลานอนก็นอนหงาย ตื่นแล้วก็กล่าวแต่ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงติเตียน ภิกษุผู้มีจิตไม่สงบในภายใน พากันเรียน ทำแต่ศิลปะที่ไม่ควรทำ มีการประดับร่มเป็นต้น ย่อมไม่หวังประโยชน์ในทางบำเพ็ญสมณธรรมเสียเลย ภิกษุทั้งหลายผู้มุ่งแต่สิ่งของดีๆ ให้มาก จึงนำเอาดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุรณเจิมบ้าง น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตบ้าง ผลมะม่วงบ้าง ผลมะขามป้อมบ้าง ไปให้แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

    ภิกษุทั้งหลายพากันประกอบเภสัชเหมือนพวกหมอรักษาโรค ทำกิจน้อยใหญ่อย่างคฤหัสถ์ ตบแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา ประพฤติตนเหมือนกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ บริโภคอามิสด้วยอุบายเป็นอันมาก คือ ทำให้คนหลงเชื่อ หลอกลวง เป็นพยานโกงตามโรงศาล ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ อย่างนักเลง ภิกษุเหล่านั้น บริโภคอามิสด้วยการพูดเลียบเคียงเป็นอันมาก เที่ยวแส่หาปัจจัยโดยใช้อุบายต่างๆ ล่อลวงโดยปริยายเพียงเล็กน้อย รวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมากเพราะเหตุแห่งอาชีพ ย่อมยังบริษัทให้บำเรอตนเพราะเหตุแห่งการงาน แต่มิให้บำรุงโดยธรรม เที่ยวแสดงธรรมตามถิ่นต่างๆ เพราะเหตุแห่งลาภ มิใช่เพราะมุ่งประโยชน์ ภิกษุเหล่านั้น ทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภสงฆ์ เป็นผู้เหินห่างจากอริยสงฆ์ เลี้ยงชีวิตด้วยการอาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มีหิริ ไม่ละอาย

    จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวกไม่ประพฤติตามสัทธรรมเสียเลย เป็นเพียงคนโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น ปรารถนาแต่การสรรเสริญถ่ายเดียว มุ่งหวังแต่ลาภ และสักการะ เมื่อธรรมเป็นเครื่องทำลายมีประการต่างๆ เป็นไปอยู่อย่างนี้ การบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือการตามรักษาธรรมที่ได้บรรลุแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย เหมือนเมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่

    มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้าน เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น พระโยคีเมื่อตามระลึกถึงวิปัสสนาที่ปรารภมาแล้วในกาลก่อน ไม่ทอดทิ้งวัตรสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้นเสีย ถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้ายภายหลัง แต่ก็พึงบรรลุอมตบทได้ พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะมีอินทรีย์อันอบรมแล้ว เป็นพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว ครั้นกล่าววิธีปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ปรินิพพานในสาลวัน

    อย่าลืมข้อความที่ว่า ถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้ายภายหลัง แต่ก็พึงบรรลุ อมตบทได้ ถ้าเป็นผู้ที่เหมือน มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้าน เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 579


    หมายเลข 13013
    8 ส.ค. 2567