พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค


    ใน ตติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย มหาวรรควรรณนา มีข้อความที่กล่าวถึงพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค คือ เมื่อพระพุทธบิดาได้โปรดให้ท่านพระกาฬุทายีเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคมายัง พระนครกบิลพัสดุ์ และเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแล้ว พระองค์ก็ได้เชิญเสด็จ พระผู้มีพระภาคประทับยังนิโครธาราม ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นสภาพจิตของเจ้าศากยะทั้งหลายที่ท่านได้สะสมมาต่างๆ กัน ที่จะนอบน้อมบ้าง ไม่นอบน้อมบ้างในพระผู้มีพระภาค แม้ว่าท่านจะได้สะสมบุญกุศลในการที่ได้เกิดในศากยตระกูล แต่แม้กระนั้นแต่ละขณะ จิตใจประเภทใดจะเกิดขึ้น ย่อมไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ บางคนอาจจะตั้งใจไว้ว่า จะเป็นผู้ที่เจริญกุศล อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม แต่พอถึงเวลาที่ได้พบกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ จิตก็ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ เพราะว่าจิตของแต่ละท่านต้องเป็นไปตามการสะสมที่พร้อมจะเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะ

    ข้อความมีว่า

    พวกศากยราชเป็นคนที่เจ้ามานะ ถือตัวจัดนัก พวกศากยราชเหล่านั้นทรงดำริว่า สิทธัตถกุมารยังหนุ่มเด็กกว่าพวกเรา เป็นพระกนิฎฐะ เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส เป็นพระนัดดาแห่งพวกเรา จึงรับสั่งกะราชกุมารหนุ่มๆ ว่า พวกเธอจงบังคม พวกฉันจักนั่งข้างหลังพวกเธอ

    ครั้นเมื่อศากยราชเหล่านั้น ประทับนั่งอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูอัธยาศัยของพวกเธอ แล้วทรงคำนึงว่า พวกพระญาติไม่ยอมไหว้เรา เอาเถิดบัดนี้ เราจักให้พระญาติเหล่านั้นไหว้ ดังนี้แล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยพระฤทธิ์ ได้ทรงทำปาฏิหาริย์คล้ายยมกปาฏิหาริย์ที่ควงแห่งคัณฑามพฤกษ์ ราวกะว่าทรงโปรยธุลีที่พระบาทลงบนเศียรแห่งพระญาติเหล่านั้น

    พระราชาทรงเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ซึ่งพระพี่เลี้ยงนำเข้าไปเพื่อไหว้พราหมณ์ในวันมงคล หม่อมฉันแม้ได้เห็นพระบาทของพระองค์ ไพล่ไปประดิษฐานบนกระหม่อมของพราหมณ์ จึงบังคมพระองค์ นี้เป็นปฐมวันทนาของหม่อมฉัน

    ในวันวัปมงคล เมื่อพระองค์บรรทมบนพระที่อันมีสิริที่เงาไม้หว้า หม่อมฉันเห็นเงาไม้หว้ามิได้คล้อยตามไป จึงบังคมพระบาท นี้เป็นทุติยวันทนาของหม่อมฉัน

    บัดนี้ หม่อมฉันได้เห็นปาฏิหาริย์ซึ่งยังไม่เคยเห็นนี้ ขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ นี้เป็นตติยวันทนาของหม่อมฉัน

    ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระเจ้าสุทโธทนมหาราชถวายบังคมแล้ว แม้ศากยะองค์หนึ่ง ซึ่งชื่อไม่ถวายบังคม มิได้มี ได้ถวายบังคมหมดทั้งนั้น

    ศากยราชที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในครั้งที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม ถ้าในบัดนี้ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านจะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครทราบ แต่ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของกิเลส เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาทเลย มีใครบ้างไหมที่คิดว่า จะไม่กราบนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนแล้ว ก็คงจะรู้สึกว่าไม่มี แต่ว่าในครั้งนั้น มีมากทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ถ้าสะสมมานะ ความถือตัว ความยกตน ความข่มผู้อื่นไว้มาก สักวันหนึ่งมานะ ความถือตัว การยกตน การข่มผู้อื่น ก็จะทำให้ท่านถึงกับไม่แสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมก็ได้

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เห็นกิเลสทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรจะขัดเกลา ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และแม้ว่าจะเห็นโทษสักเท่าไร ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้

    ถ. ทำไมเจ้าศากยตระกูลเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่ลุกรับกราบไหว้ได้ เท่าที่ผมศึกษามา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ และจะไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งพระปัญจวัคคีย์ท่านก็ตั้งใจไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงแล้วจะไม่ลุกรับ ไม่ปฏิบัติ ไม่ต้อนรับ แต่พอเห็นพระผู้มีพระภาคเข้าจริงๆ ต่างคนต่างลืม ไปปูอาสนะ ตักน้ำล้างพระบาท เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญบารมีมา พระองค์อุปมาว่า ใครเห็นพระผู้มีพระภาคแล้วไม่ต้อนรับนั้น เป็นไปไม่ได้ อุปมาเหมือนกับจะพยายามเอาน้ำผึ้งมาตั้ง ก็คงจะตั้งไม่ได้ ทำไมพวกศากยะเหล่านี้จึงตั้งอยู่ได้

    สุ. การสะสมมาต่างกัน สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏทั้งหมดในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นถึงการสะสมที่วิจิตร ที่ละเอียด ที่ต่างกันมากจริงๆ ในที่นี้จะมีกี่ท่านก็ตาม ความคิดนึกไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสม เพราะฉะนั้น เรื่องของพระปัญจวัคคีย์ก็เป็นเรื่องที่ท่านพระปัญจวัคคีย์กระทำตามการสะสมที่ท่านได้สะสมมา เรื่องของเจ้าศากยะทั้งหลายแต่ละท่านจะกระทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านสะสมมา ซึ่งข้อความตอนนี้ มีแต่เพียงว่า พวกศากยราชเหล่านั้นทรงดำริว่า สิทธัตถกุมารยังหนุ่มเด็กกว่าพวกเรา เป็นพระกนิฎฐะ เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส เป็นพระนัดดาแห่งพวกเรา จึงรับสั่งกะราชกุมารหนุ่มๆ ว่า พวกเธอจงบังคม พวกฉันจักนั่งข้างหลังพวกเธอ

    เป็นไปได้ไหม เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น แม้แต่จะไหว้ก็ไหว้ไม่ได้ เพราะอกุศลจิต เวลาที่จิตอ่อนโยนเป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง มีความอ่อนน้อม มีความนอบน้อม แต่เวลาที่จิตเกิดกระด้างเพราะเป็นอกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือ อกุศลที่เป็นไปในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะกระทำอย่างไร จะนั่งข้างหลัง และจะไม่ถวายบังคม ก็เป็นสภาพของจิตในขณะนั้น ซึ่งเป็นอย่างนั้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 608


    ในพระไตรปิฎก มีบุคคลที่แสดงกิริยาที่ไม่เคารพต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่จะไม่มีเลย ตามการสะสมของบุคคลนั้นๆ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของบุคคลทั้งหลายที่ปรากฏ เป็นตัวอย่างในพระไตรปิฎก ชีวิตจริงในทุกวันนี้ ไม่ใช่เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน สภาพธรรมก็ยังคงเกิดดับสะสมวิจิตรต่างๆ กันไปตามความเป็นจริง ซึ่งเรื่องของบุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะกระทำอย่างใดได้ แต่ว่าสำหรับจิตของท่านเอง มีอกุศลธรรมอย่างนี้ไหม มีหรือไม่มี สามารถที่จะรู้ชัดขึ้นได้ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของสภาพจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่า ถ้าเป็นอาการที่หยาบกระด้าง ถือตัว สำคัญตน ในขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่แข็ง เป็นอกุศล ตรงกันข้ามกับขณะที่ท่านมีความรู้สึกอ่อนน้อม เพราะเห็นว่าบุคคลอื่นก็มีคุณธรรม มีความดีที่ควรแก่การที่จะอ่อนน้อม ซึ่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ได้

    แต่ละท่านยังมีมานะ บุคคลที่ไม่มีมานะคือพระอรหันต์เท่านั้น พระโสดาบันบุคคลก็ยังมี พระสกทาคามีบุคคลก็ยังมี พระอนาคามีบุคคลก็ยังมี พระอรหันต์เท่านั้นที่ดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท รวมทั้งความสำคัญตน การถือตนด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของมานะ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 609


    หมายเลข 13015
    9 ส.ค. 2567