อินทริยกถา ปุถุชนเจริญวิปัสสนา
อย่างใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อินทริยกถา มีข้อความว่า
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน
ประการที่ ๑ ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
ประการที่ ๒ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข ๑
ประการที่ ๓ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นอนัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นอัตตา ๑
ประการที่ ๔ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
ประการที่ ๕ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเสื่อมไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความประมวลมา ๑
ประการที่ ๖ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยั่งยืน ๑
ประการที่ ๗ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยเป็นสภาพนิมิต ๑
ประการที่ ๘ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีที่ตั้ง ๑
ประการที่ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น ๑
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 193
สุ . ประการที่ ๑ ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
พิจารณาระลึกถึงสภาพความเป็นจริงของธรรมทั้งหลายซึ่งไม่เที่ยง เสียงเมื่อสักครู่นี้หมดแล้ว ได้ยินเมื่อสักครู่นี้หมดแล้ว เย็นเมื่อสักครู่นี้หมดแล้ว ที่รู้ว่าเย็นเมื่อสักครู่นี้ก็หมดแล้ว รวดเร็วเหลือเกิน
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปแสวงหาสัจธรรมที่อื่น แต่สติระลึกรู้ลักษณะของสัจธรรมที่เกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย และไม่เที่ยงด้วย เพราะฉะนั้น ปุถุชนเจริญวิปัสสนาย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ เป็น ผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
ประการที่ ๒ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข ๑
ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง สภาพที่ไม่เที่ยงจะเป็นสุขได้ไหม หมดไปแล้ว หมดไปจริงๆ จะสุขได้อย่างไรกับสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะนิดเดียว และหมดไปเลย
เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข เพราะสุขนั้นก็แปรปรวน เปลี่ยนไป หมดไป
ประการที่ ๓ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นอนัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นอัตตา ๑
ถ้าไม่มีลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ ปรากฏ จะถ่ายถอนความคิดที่ว่าเป็นอัตตาไม่ได้เลย แต่ที่จะประจักษ์ว่าเป็นอนัตตา เพราะมีลักษณะปรากฏแล้วก็หมดไป เสียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้จริงๆ ไม่สามารถที่จะถ่ายถอนสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ประชุม ควบคุมรวมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
ประการที่ ๔ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
อะไรๆ ที่ยังประชุม ควบคุม รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดที่ยังประชุมรวมกันเป็นก้อน จะไม่ปรากฏความสิ้นไป เพราะฉะนั้น ในประการที่ ๔ นี้ จึงเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
ประการที่ ๕ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเสื่อมไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความประมวลมา ๑
สิ่งที่เสื่อมไปแล้ว ก็หมดไปแล้ว อย่าประมวล มาเชื่อม มาโยง มาต่อ มารวมกันเอาไว้อีก หรือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ปรากฏแต่ละทาง แต่ละลักษณะ อย่าประมวลนำมาเชื่อม มาโยง มาต่อกันให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน
สำหรับประการที่ ๖ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยั่งยืน ๑
ตั้งแต่เมื่อสักครู่นี้จนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่เคยระลึกถึงความแปรปรวนของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏเลย
ประการที่ ๗ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีนิมิต ๑
นิมิต ในที่นี้หมายถึง นิมิตที่ว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นอัตตา
ประการที่ ๘ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีที่ตั้ง ๑
นามที่กำลังเห็น เกิดแล้วดับไปเลย อาศัยเหตุปัจจัยใดเกิดขึ้นก็ดับไป เมื่อหมดปัจจัยนั้น ก็ได้ยิน เมื่อหมดเหตุปัจจัยแล้ว ได้ยินก็ดับ ไม่ใช่ว่า ไปมีที่ตั้งที่เก็บไว้ เดี๋ยวจะมาใหม่ หรือว่าเดี๋ยวจะเกิดขึ้นอีก ที่เกิดอีกก็เป็นนามใหม่ เป็นรูปใหม่ที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามีที่เก็บ ไม่ใช่มีที่ตั้งที่ถาวร ทุกขณะนี้เสื่อมไป สิ้นไป แปรปรวนไปอย่างรวดเร็วมาก แต่เพราะเหตุว่าไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นสัจธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จึงไม่สามารถที่จะละคลายการที่เคยยึดถือชีวิตปกติประจำวันว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ประการที่ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น ๑
อาการ ๙ ย่อลงแล้วคือ มนสิการถึงความไม่เที่ยง มนสิการถึงความเป็นทุกข์ มนสิการถึงความเป็นอนัตตา แต่ทรงบัญญัติพยัญชนะหลายประการ เป็นต้นว่า ความเสื่อม เวลาที่ยังไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง ก็ประจักษ์ความเสื่อมก่อนก็ได้
ใจความสำคัญ คือ ให้มีโยนิโสมนสิการ ซึ่งถ้าแปลตามพยัญชนะ คือ กระทำไว้ในใจด้วยอุบายที่แยบคาย แต่ในที่นี้หมายความว่า พิจารณาตามคลองของสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อสภาพธรรมนั้นๆ ไม่เที่ยง ท่านก็ระลึกถึงความไม่เที่ยงของธรรมนั้น เมื่อธรรมนั้นเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ท่านก็ให้มีสติระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ และทุกสิ่งที่ปรากฏที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยงทั้งนั้น ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่จะต้องมนสิการตามคลองหรือตามสภาพของธรรมนั้นๆ นั่นเอง ต้องมีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มีแข็ง มีอ่อน มีเย็น มีร้อน มีเสียง มีได้ยิน มีเห็น มีสี มีกลิ่น มีรส ไม่ใช่ตัวตนเลย เพราะว่าลักษณะนั้นกำลังปรากฏทางนั้นทางเดียว
ที่มา ...