ใส่บาตร เอาเงินใส่ไป ควรไหม


    ถ. มีหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น ใส่บาตร เอาเงินใส่ไป เป็นต้น

    สุ. ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพร

    อ.สมพร ปัญหานี้ คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นการทำบุญที่สะดวกดี แต่ไม่รู้ว่า การทำเช่นนี้สะดวกกับเราจริง แต่ไม่สะดวกกับพระภิกษุ การรับเงินรับทองนั้น ท่านต้องอาบัติ พิจารณาดูว่า ถ้าทำให้คนอื่นเกิดความเศร้าหมอง ก็ไม่ดี ใช่ไหม แม้เราจะมีเจตนาดี แต่เรากระทำในสิ่งที่ไม่ถูก ถ้าพิจารณาดูให้ดีว่า สิ่งที่ท่านรับนั้นเป็นอนามาส ถ้าเราเข้าใจ เราก็ไม่ควรถวาย ควรถวายสิ่งที่สมควรแก่ภิกษุ ซึ่งโดยสภาวะก็มี ๔ อย่างเท่านั้นเรียกว่า ปัจจัย ๔ นอกจากนี้เรียกว่า อดิเรกลาภ คือ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้าเราถวายปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่เกี่ยวกับเงินทอง ก็ทำให้บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย เราก็เป็นผู้บริสุทธิ์ พระผู้รับก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าเราถวาย เงิน และทอง เราบริสุทธิ์จริง แต่ท่านรับไปแล้วท่านเป็นผู้ที่ต้องอาบัติ ก็เป็นผู้ที่ ไม่บริสุทธิ์ในขณะนั้น และถ้ายินดีเงิน และทองนั้นก็แสดงอาบัติไม่หลุด ต้องสละเงิน และทองนั้นก่อน จึงแสดงอาบัติได้

    สุ. เงินทองที่นี่ หมายความถึงที่จะเอาไปจับจ่ายใช้สอย หรือพวกเครื่องเงินเครื่องทอง

    อ.สมพร ใช้สอยต่างเงินทองเรียกว่า ปัจจัย ปัจจัยที่ควรแก่ภิกษุจริงๆ มี ๔ อย่าง คือ จีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย คิลานเภสัช นอกจากนั้นเป็นอดิเรกลาภ เช่น จีวรที่ได้มามากมาย แต่ถ้าเป็นรถยนต์ เป็นสิ่งที่ ไม่ควร เป็นอนามาส ไม่ควรแก่ภิกษุ

    ภิกษุจริงๆ มีของ ๔ อย่างนี้เท่านั้น และที่ชื่อว่าอดิเรกลาภ เพราะว่าได้มามาก อย่างจีวรก็ได้มาก อาหารก็ได้มาก ยาก็ได้มากเกินจากความจำเป็น อย่างผ้า ท่านใช้ ๓ ผืน เกินกว่านั้นเรียกว่า อดิเรกลาภ ลาภพิเศษ สิ่งอื่นไม่ควรแก่ภิกษุทั้งสิ้น เพราะว่าภิกษุเป็นผู้ละแล้ว ขณะนี้ยังละไม่ได้ แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อจะละ

    ถ้าเป็นปุถุชน ยังยินดีอยู่ในกาม ก็ยาก คำว่า นิสสัคคีย์กับปาจิตตีย์นี้ เป็น ๒ ศัพท์ ปาจิตตีย์เป็นชื่ออาบัติ นิสสัคคีย์ แปลว่า ต้องสละวัตถุที่รับมาเสียก่อน จึงแสดงอาบัติได้ เช่น รับเงิน และทองมา ตราบใดที่ยังยินดีในเงิน และทอง แสดงอาบัติแสดงอย่างไรก็ไม่ตก อาบัติก็ไม่ออก จะต้องสละโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ให้ลูกศิษย์ หรือทิ้งไปเลยก็ได้ และแสดงอาบัติ อาบัตินั้นจึงตก เพราะว่าภิกษุจริงๆ ไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ ในสมัยก่อนเป็นเช่นนี้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1941


    หมายเลข 13028
    4 ก.ย. 2567