ศีล ๑๐ เป็นศีลหรือสิกขาของสามเณร


    จะขอกล่าวถึงศีล ๑๐ ซึ่งปกติเป็นศีลหรือสิกขาของสามเณร แต่ว่าดังที่ท่านผู้ฟังได้ทราบแล้วว่า สำหรับคฤหัสถ์บางท่านผู้ทรงคุณธรรมสูง ก็สามารถที่จะรักษาศีล ๑๐ ได้ด้วยคุณธรรมของท่าน แต่ถ้าด้วยการบรรพชาแล้ว เป็นวินัยบัญญัติซึ่งผู้ที่บรรพชาเป็นสามเณรจะต้องศึกษาโดยตรง

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ สิกขาบทของสามเณร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลายได้มีความดำริว่า สิกขาบทของพวกเรามีเท่าไรหนอแล และพวกเราจะต้องศึกษาในอะไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ

    ๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป ปาณาติปาตา เวรมณี

    ๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้ อทินนาทานา เวรมณี

    ๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ อพรหมจริยา เวรมณี

    ๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ มุสาวาทา เวรมณี

    ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี

    ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล วิกาลโภชนา เวรมณี

    ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนา เวรมณี

    ๘. เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี

    ๙. เว้นจากที่นั่ง และที่นอนอันสูง และใหญ่ อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี

    ๑๐. เว้นจากการรับทอง และเงิน ชาตรูปรชตปฏิคคหณา เวรมณี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ นี้ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นี้

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความต่างกันระหว่างคฤหัสถ์ และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็มีการรักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีลเป็นประจำได้ แต่สำหรับเพศของบรรพชิตที่ต่างกันจริงๆ อย่างศีล ๘ กับศีล ๑๐ นั้น คือองค์ที่ ๑๐ เว้นจากการรับทอง และเงิน ที่ทำให้ต่างกันเป็นเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า สำหรับประการที่ต่างกันที่สำคัญคือ เว้นจากการรับทอง และเงิน ซึ่งจะทำให้ฐานะของบุคคลนั้นเปลี่ยนจากเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต ก็คงจะต้องมีความสำคัญ เพราะว่าผู้ที่ยังไม่สามารถจะตัดขาด สละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ย่อมมีการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามความพอใจ ซึ่งจะต้องอาศัยเงิน และทองเป็นปัจจัยในการที่จะแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสามารถที่จะสละชีวิตของคฤหัสถ์ไปสู่ชีวิตของบรรพชิต ย่อมจะต้องไม่ยินดีในการรับเงิน และทองด้วย เพราะว่าเมื่อต้องการที่จะสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ต้องสละการที่จะรับเงิน และทองซึ่งเป็นปัจจัยที่จะให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 564


    หมายเลข 13029
    4 ก.ย. 2567