รู้สึกว่าสงบ อย่างนี้เป็นความสงบ ใช่ไหม


    ถ. เมื่อสองวันนี้ผมมีความสงบเกิดขึ้น คือ ผมไปเสียภาษีป้ายตอนใกล้ๆ เที่ยง เมื่อเสียภาษีแล้วต้องทำธุระอย่างอื่นด้วย ก็คิดว้าวุ่น คิดโน่นคิดนี่ ทำไม ใจเป็นอย่างนี้ คิดถึงธรรม และจอดรถ ใจก็ยังว้าวุ่นคิดว่าจะทันไหม ต้องทำโน่นทำนี่ และก็เหลือบไปเห็นป้ายที่ร้านขายหนังสือธรรมร้านหนึ่งมีข้อความว่า ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น สงบทันทีเลย ที่กังวลว่าจะต้องทำหลายอย่างหยุดทันที รู้สึกว่าสงบ อย่างนี้เป็นความสงบ ใช่ไหม

    สุ. คนอื่นตอบให้ไม่ได้ แต่ขณะนั้นจะทราบว่า ท่านผู้ฟังเองเป็นผู้รู้ความต่างกันว่า จิตที่ไม่สงบเป็นไปอย่างไร และเวลาที่สามารถละความไม่สงบนั้นได้ จิตต่างกันอย่างไร ซึ่งคนอื่นไม่สามารถรู้ได้ แต่ผู้ที่ขณะนั้นละความไม่สงบได้ย่อมรู้ว่าขณะที่เป็นกุศลที่สงบ ต่างกับขณะที่ไม่สงบ

    ถ. การเห็นข้อความอย่างนี้ เท่ากับเราไปนึกถึงความตาย เป็นมรณานุสสติด้วยไหม

    สุ. ไม่ต้องใช้ชื่อ ดีไหม คือ ความสงบเกิดขึ้นโดยอาศัยระลึกอย่างไร นั่นเป็นอนุสสติ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ

    ถ้ามีคนถามว่า วันนี้สงบไหม ตอบได้แล้ว ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่ง และ ตอบว่านั่งแล้วสงบ แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ เพราะความสงบ คือ กุศลจิต นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้สติเกิดระลึกได้ในสภาพจิตของตนเอง เพราะไม่ว่า จะเป็นเรื่องของการกระทำบุญกุศล เช่น ทานกุศล ก็สามารถรู้ได้ว่า กุศลจิตเกิดมากน้อยอย่างไร มีความหวั่นไหว หรือความขุ่นเคืองมากน้อยเท่าไร ถึงแม้จะมีวัตถุทาน ที่เลิศแต่จิตในขณะนั้นไม่ผ่องใส หรือมีอกุศลเกิดแทรกคั่นมาก ก็จะรู้ได้ว่า แม้ วัตถุทานเลิศ แต่กุศลจิตก็น้อย หรือบางครั้งวัตถุทานไม่เลิศ แต่กุศลจิตผ่องใส เต็มเปี่ยมเอิบอิ่มในกุศลนั้น ก็รู้ได้ว่า แม้วัตถุทานไม่เลิศ กุศลจิตก็มากหรือประณีตได้

    เพราะฉะนั้น ไม่เป็นเรื่องของวัตถุ ไม่เป็นเรื่องอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น นอกจาก เป็นเรื่องสภาพของจิตที่เป็นกุศล จึงสงบ ซึ่งการที่จะเห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย นอกจากเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะค่อยๆ รู้สภาพความจริงของนามธรรม และรูปธรรมได้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1511


    หมายเลข 13038
    7 ก.ย. 2567