ไม่ใช่รีบร้อนชักชวนใครให้ปฏิบัติธรรม
ดิฉันขอเรียนให้ทราบเรื่องส่วนตัว ดิฉันมีน้องสาวคนหนึ่งที่กำลังฟังพระธรรม ทั้งเช้าทั้งค่ำ แต่ดิฉันไม่ได้ชักชวนให้ปฏิบัติธรรมในขั้นของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าปกติน้องสาวเป็นผู้ที่มีจิตใจดี สะสมมาในเรื่องของความเมตตากรุณา มีความกรุณาต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างมาก เพราะฉะนั้น สำหรับน้องผู้นี้เมื่อเริ่ม ฟังพระธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกจากการที่ไม่ได้ฟังมาก่อน เป็นการเริ่มอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง ยังไม่ต้องไปปฏิบัติธรรมอะไร ยังไม่ต้องชักชวน ให้ปฏิบัติ เพียงแต่ฟังให้เข้าใจก่อน จนกว่าจะเริ่มเข้าใจสภาพธรรม และเริ่มเห็นโทษของกิเลสละเอียดขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของ สภาพธรรม และสังเกต พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้นไปเรื่อยๆ นั่นคือ การปฏิบัติธรรม
ไม่ใช่รีบร้อนชักชวนใครให้ปฏิบัติธรรม โดยที่ศรัทธาขั้นนั้นยังไม่เกิด หรือความเข้าใจขั้นที่จะเห็นโทษของกิเลสอย่างละเอียดยังไม่เกิด แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟัง และ เริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นโทษของกิเลสอย่างละเอียด และเมื่อมีปัจจัยสติปัฏฐานก็เกิด เพราะมีความเข้าใจขั้นสติปัฏฐานแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติธรรมอบรมเจริญปัญญา อีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การชวนกันปฏิบัติธรรมโดยไม่เข้าใจอะไรเลย
ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และใคร่ที่จะเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามที่สามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่ต้องไป นั่งชั่วขณะ และลืมว่าชีวิตประจำวันเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าชีวิตประจำวันของทุกท่าน มีความรักตัวเป็นที่สุด แต่ในการรักตัวเองได้มีการกระทำความดีหรือกระทำประโยชน์ให้คนอื่นบ้างหรือเปล่า แม้ไม่ใช่ขั้นสละวัตถุสมบัติ เพียงแต่กุศลจิตเกิด ตั้งตนไว้ชอบ คิดที่จะให้อภัยคนอื่น เป็นเพียงอภัยทานเท่านั้น มีได้ไหม นี่คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่รีบร้อนชวนกันไปปฏิบัติธรรม นั่งเฉยๆ
ชีวิตประจำวัน ทุกขณะปฏิบัติธรรมได้ ตั้งแต่ขั้นของทาน แม้ว่าไม่ใช่โดย การสละวัตถุ เพียงแต่มีความขุ่นใจเคืองใจในบุคคลอื่น และตั้งตนไว้ชอบ เห็นว่า เป็นอกุศล เป็นโทษ เพราะฉะนั้น เกิดอภัยทานขณะใด ขณะนั้นเป็นการถึงพระธรรมเป็นสรณะ เป็นการปฏิบัติตามพระธรรม
ถ้าทุกท่านพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ จิตสงบบ้างไหม คนที่ชวนกันไปปฏิบัติ หรือชวนกันไปนั่งปฏิบัติก็จะตอบว่า ไม่สงบ เพราะไม่ได้นั่งจะสงบได้อย่างไร เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย คือ ต้องพิจารณาว่า ที่คิดอย่างนั้นถูกหรือผิด ถ้ายังไม่พิจารณาแม้ในขั้นนี้จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะว่า ความสงบไม่ได้อยู่ที่นั่ง แต่ความสงบ คือ กุศลจิตเกิดขณะใดขณะนั้นเป็นจิตใจที่ ดีงาม สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดที่แม้ไม่นั่ง แต่เวลาที่เห็นใครแล้วมี จิตใจเมตตา มีความกรุณา พร้อมที่จะช่วยเหลือบุคคลนั้นแม้ในกิจที่เล็กน้อยที่สุด ขณะนั้นจึงเป็นจิตที่สงบจากอกุศล
ถ้าชีวิตประจำวันไม่เป็นอย่างนี้ แต่จะไปนั่งปฏิบัติธรรม ก็เป็นความไม่เข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรม
ความสงบ คือ กุศลจิต ย่อมเกิดได้มีได้ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด และต้องเป็นผู้ที่สังเกตกายวาจาของตนเองด้วยว่า ขณะใดที่มีการอ่อนน้อม หรือช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบ ขณะใดที่วาจาไม่ได้กล่าวคำถากถาง ดูหมิ่น เยาะเย้ย หรือกระทบกระเทียบแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ถ้าละเว้นคำที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ หรือแม้แต่เพียงได้ยินก็จะรู้สึก ไม่สบายหู หรือบางคนอาจจะใช้คำว่า รำคาญหูก็ได้ เพราะว่าบางคนอาจสะสมมาจนชินที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ได้เห็น แม้แต่เสื้อผ้า ผม การแต่งตัว หรือการขับรถยนต์ของคนอื่น ขณะนั้นสงบหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น สังเกตได้จากกาย จากวาจา และใจของตนเอง คนที่คิดถึง คนอื่น และติเตียนแม้เพียงในใจที่ไม่ชอบ ขณะนั้นก็ไม่สงบ แต่ถ้าคิดด้วยความเมตตา และเห็นใจในความผิดในความบกพร่องของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นความสงบ เป็นกุศลจิต
ถ้ากาย วาจา ใจในชีวิตประจำวันไม่ประพฤติปฏิบัติในทางธรรมอย่างนี้ จะ ไปนั่งทำไม นี่เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้ถูกต้อง และก่อนอื่นจะต้องพิจารณาว่า คิดที่จะละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด และการปฏิบัติผิดในชีวิตประจำวันหรือยัง ถ้ายัง ไม่คิด ก็อย่าไปนั่ง แต่ถ้าคิด กุศลจิตย่อมเกิดได้โดยไม่ต้องนั่ง เพราะไม่ว่าขณะใด ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน กุศลจิตเกิดได้
ที่มา ...