ลักษณะของพาลและบัณฑิต (ปัณฑิตวรรคที่ ๖)


    ลักษณะของพาล และบัณฑิต ข้อความใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖ ข้อ ๑๖ มีว่า

    หน้าที่ของบัณฑิต คือ

    ... ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดศรให้ตรง พวกช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นพาล ใครจะเป็นบัณฑิต ขึ้นอยู่กับการพิจารณา โดยแยบคายว่า บัณฑิตมีหน้าที่ฝึกตน

    การที่จะไขน้ำเสีย คือ กิเลสที่หมักหมมเน่าเหม็น มีหนทางเดียว คือ ด้วยการเพิ่มน้ำใส คือ กุศลจิต และการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะต้องพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่ดีของตัวเองก่อน เพราะว่ากุศลจิตน้อยมากเมื่อเทียบกับ อกุศลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คิดแก้อกุศลโดยการเพิ่มกุศลในทุกๆ ทาง ย่อมไม่มีทางดับกิเลสได้ แต่ถ้าเริ่มเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกตน จะทำให้เป็นผู้ที่ตรงโดยการเห็นว่า กิเลสทั้งหลายเป็นโทษ จึงพากเพียรที่จะละกิเลส

    ถ้าผูกโกรธใคร คิดดู จะเป็นพาลหรือจะเป็นบัณฑิต ถ้าจะเป็นพาลก็ผูกโกรธต่อไป ใครก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นบัณฑิต ก็เห็นว่าความผูกโกรธไม่มีประโยชน์เลย เป็นอันตราย เป็นโทษ เพียงแค่อภัยทานยังทำไม่ได้ จะปฏิบัติธรรมอะไรได้

    เมื่อมีการพิจารณาตนเองในทุกๆ ทาง จะทำให้เป็นผู้ที่เพิ่มกุศลจิตด้วยการ ทำดีทางกาย ทางวาจา ต่อคนที่คิดว่าไม่เป็นมิตรกัน หรือว่าไม่ถูกกัน

    นี่คือ บัณฑิตที่ย่อมฝึกตน และเป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ทำกุศลทุกอย่างทันที

    ทุกคนถ้าตายในวันนี้ ก็ลืมเรื่องของชาตินี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น จะเดือดร้อนทำไมกับความโกรธบ้าง ความโลภบ้าง ความรักบ้าง ความชังบ้างในชาตินี้ ฉะนั้น ถ้าลืมเสียตั้งแต่ในชาตินี้ ไม่ต้องคอยถึงชาติหน้า จะดีกว่าไหม แทนที่จะยังโกรธอยู่ เพราะยังจำได้ แต่ถ้าคิดว่า ตายแล้วก็ลืมหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นที่ชัง หรือสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นที่ชัง ก็ลืมเสียเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องคอยถึงชาติหน้า และตั้งต้นใหม่ทุกขณะ โดยการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น

    ซึ่งความจริงแล้วที่ปรากฏเป็นโลก เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีใครเลยจริงๆ ขณะที่สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจะมีสิ่งอื่นไม่ได้ ขณะที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหูจะมีสิ่งอื่นไม่ได้ นอกจากได้ยินกับเสียง เพราะฉะนั้น โลก คือ แต่ละขณะ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นการฟังเรื่องของ สภาพธรรมที่ปรากฏ และพิจารณาตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น เห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะอะไร ก็เพราะว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ หรืออาการรู้ ซึ่งเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เพียงเท่านี้ ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ จะคิดอย่างนี้ไปทั้งวัน ก็ดับกิเลสไม่ได้ จนกว่าสติจะระลึกที่ลักษณะที่กำลังเห็น ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลย แต่สิ่งที่เห็นหรือสภาพที่เห็นมีจริง เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งนั้นมีจริง สติย่อมเกิดระลึกได้ เพียงแต่ว่าก่อนที่สติจะระลึกได้ ไม่ใช่ว่าจะระลึกได้ตามใจชอบ หรือคิดว่าขณะนี้จะระลึกที่นั่น จะระลึกที่นี่ แต่ ต้องเป็นสติเองที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และระลึกได้ และขณะนั้นปัญญาก็พิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่อบรมเจริญได้


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1512


    หมายเลข 13043
    8 ก.ย. 2567