สันตีรณจิตทำกิจได้ ๕ กิจ และทำกิจได้ ๖ ทวาร


    สันตีรณจิตทำกิจได้ ๕ กิจ และทำกิจได้ ๖ ทวาร รวมทั้งทวารวิมุตติด้วย นี่คือความต่างกันของอเหตุกวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม

    สำหรับสันตีรณจิต มี ๓ ดวง ทำได้ ๕ กิจ แต่ต้องแยกประเภทกัน เพราะว่าอุเบกขาสันตีรณจิตเท่านั้นที่ทำได้ถึง ๕ กิจ ส่วนโสมนัสสันตีรณจิตทำกิจได้เพียง ๒ กิจเท่านั้น

    อุเบกขาสันตีรณจิตที่ทำได้ ๕ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑ จุติกิจ ๑ สันตีรณกิจ ๑ และตทาลัมพนกิจ ๑

    อกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตดวงไหนจะทำปฏิสนธิกิจ ในเมื่ออกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวง จักขุวิญญาณทำกิจอื่นไม่ได้ นอกจากเห็นทุกขณะที่เกิด ไม่ว่าในอดีตแสนโกฏิกัปป์ ในปัจจุบัน หรือในอนาคต จักขุวิญญาณก็ทำได้กิจเดียว คือ เห็น โสตวิญญาณก็ทำกิจได้ยิน ตลอดไปจนถึงสัมปฏิจฉันนะก็ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมย่อมให้ผลทำให้ปฏิสนธิ และอกุศลวิบากจิตก็มีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ

    ในเมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากก็ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือว่าเกิดในนรก ฉะนั้น เวลาเห็นสัตว์เดรัจฉาน ทราบได้เลยใช่ไหมว่า ปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก

    ที่กล่าวว่า อุเบกขาสันตีรณะทำปฏิสนธิกิจได้ แต่สำหรับคนที่เป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตไม่ใช่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และไม่ใช่อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด สำหรับผู้ที่บ้า ใบ้ บอด หนวก พิการตั้งแต่กำเนิด เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ต้องเป็นผลของกุศลกรรม แต่เป็นผลของกุศลที่มีกำลังอ่อนมาก จึงไม่ประกอบด้วยเหตุที่เป็นโสภณะ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเหตุ ไม่ประกอบด้วย อโทสเหตุ ไม่ประกอบด้วยอโมหเหตุ เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจึง ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ เป็นผลของกุศล แต่เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน จึงเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด คือ อาจจะตาบอด หรืออาจจะหูหนวก หรืออาจจะเป็นบ้าใบ้ตั้งแต่กำเนิด ไม่ใช่หลังจากปฏิสนธิซึ่งเคยมีจักขุวิญญาณ และมีอุบัติเหตุทำให้จักขุปสาทไม่เกิด ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นตั้งแต่กำเนิด

    ใครก็ตามที่ไม่ได้พิการตั้งแต่กำเนิด ในขณะนี้ก็รู้ได้ว่า ปฏิสนธิจิตไม่ใช่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตเป็น มหาวิบาก เป็นผลของกุศลที่เกิดร่วมกับโสภณเหตุ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และสำหรับบางท่านก็มีอโมหะหรือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่เป็นความต่างกัน คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจได้ ๕ กิจ เมื่อทำปฏิสนธิกิจได้แล้ว ต้องทำภวังคกิจได้ด้วย เพราะแต่ละบุคคลก็มีปฏิสนธิจิตเพียงขณะเดียว คือ ขณะแรกที่เกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น ต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์จนกว่าจะถึงจิตดวงสุดท้าย คือ จุติจิต ที่จะทำกิจเคลื่อน สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อปฏิสนธิจิตของสัตว์เดรัจฉานเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ภวังคจิตของสัตว์นั้นก็ต้องเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และจุติจิตก็ต้องเป็น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก สิ้นสุดสภาพของการเป็นสัตว์บุคคลนั้นในชาตินั้น

    สำหรับ ๓ กิจนี้ จิตใดที่ทำปฏิสนธิกิจ จิตประเภทเดียวกันนั้นเกิดขึ้นอีก ทำภวังคกิจ ระหว่างที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และจิตประเภทนั้นจะเกิดอีกเป็นครั้งสุดท้าย ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น

    สำหรับอุเบกขาสันตีรณะ จิตดวงนี้ทำกิจได้มากกว่าจิตดวงอื่นๆ ทั้งหมด ใน ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท คือ ทำกิจได้ถึง ๕ กิจ

    ผ่านไป ๓ กิจแล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และเมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะแต่ละครั้ง และสัมปฏิจฉันนจิต ดับไป สันตีรณจิตต้องเกิดขึ้นทำสันตีรณกิจอีกกิจหนึ่ง เป็น ๔ กิจ

    และถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับไป เพราะแม้ว่ารูปจะเกิดดับอย่างเร็วมากแต่ก็ ช้ากว่าจิต คือ รูปๆ หนึ่งที่เกิดจะดับเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อรูปใดเกิด และกระทบกับปสาทรูป กระทบกับภวังค์ ตลอดไปจนกระทั่งวิถีจิตถึงชวนวิถีแล้ว รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะถ้านับโดยขณะจิตแล้ว ตั้งแต่อตีตภวังค์ถึงชวนจิตจะเป็นเพียง ๑๕ ขณะ รูปยังมีเหลืออีก ๒ ขณะ ซึ่งผู้ที่เกิดในกามภูมิ มีความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก มีใครบ้างที่ไม่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะในวันหนึ่งๆ

    ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ทุกคนติดข้องอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว กี่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ก็ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จนกระทั่งแม้เกิดอีกในปัจจุบันชาตินี้ ก็เกิดในกามภูมิ คือ ภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ความติด ความพอใจ เยื่อใยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่ารูปจะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ ยังเหลืออีกเพียง ๒ ขณะ วิบากจิตก็เกิดขึ้นรู้รูปนั้นต่ออีก ๒ ขณะจนรูปดับ ภวังคจิตจึงเกิดสืบต่อ

    เพราะฉะนั้น สันตีรณจิตเกิดหลังจากที่ชวนจิตดับ ทำตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะเมื่อรูปนั้นยังไม่ดับทางปัญจทวาร แต่สำหรับสันตีรณจิตเกิดได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เกิดได้ แม้ทวารวิมุตติ คือ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ สันตีรณจิตก็เกิดได้ แสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตประเภทนี้ว่า ต่างกับอเหตุกวิบากอื่นๆ

    เวลาที่ทำตทาลัมพนกิจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางปัญจทวาร รู้รูปที่ยังไม่ดับ เพราะถ้ารูปดับไปแล้ว วิถีจิตทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร จะเกิดต่อไม่ได้ ถ้ารูปดับแล้วจะบอกว่ายังเห็นไม่ได้ ถ้าเสียงดับแล้วจะบอกว่ายังได้ยินไม่ได้ ฉะนั้น สำหรับจักขุทวารวิถีจิต โสตทวารวิถีจิต ฆานทวารวิถีจิต ชิวหาทวารวิถีจิต กายทวารวิถีจิต ต้องรู้รูปที่ยังไม่ดับ ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ก็ตาม ที่เป็นวิถีจิตทางปัญจทวาร ชื่อว่าต้องมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์

    สำหรับสันตีรณะที่เกิดทางปัญจทวาร มีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะทำสันตีรณกิจ หรือตทาลัมพนกิจ แต่สันตีรณจิตก็ยังเกิดทางมโนทวารวิถีได้

    การรู้อารมณ์ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า สลับนับไม่ถ้วน ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็ดูเหมือนได้ยินด้วย และคิดนึกด้วย สลับกันไป อาจจะได้กลิ่น หรืออาจจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แสดงว่า วิถีจิตแต่ละวาระเกิดดับสลับกันเร็วมาก

    สำหรับวิถีจิตทางปัญจทวารทางหนึ่งทางใดที่ดับไป ต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น และหลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็รับรู้สิ่งที่ทางปัญจทวารวิถีรู้ต่อ โดยที่ไม่มี จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเกิดเลย เพราะสำหรับจักขุวิญญาณต้อง เห็นจริงๆ และสัมปฏิจฉันนะรับต่อ สันตีรณะพิจารณาต่อ ถ้าเป็นเสียงทางหู ก็ต้องโสตวิญญาณได้ยินจริงๆ และสัมปฏิจฉันนะรับต่อ สันตีรณะพิจารณาต่อ

    แต่สำหรับทางมโนทวารไม่ใช่อย่างนั้น มโนทวารวิถีไม่มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเลย มโนทวารวิถี จะเริ่มด้วยมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่งแต่ยังไม่ได้กล่าวถึง โดยละเอียด แต่ให้ทราบว่า การคิดนึกทางใจเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต จะมีกิริยาจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต เกิดก่อน และชวนจิตเกิดต่อทันที และ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ปรากฏชัดเจน จะมีตทาลัมพนจิตด้วย ซึ่งสันตีรณจิตสามารถทำ ตทาลัมพนกิจทางมโนทวาร


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1514


    หมายเลข 13045
    9 ก.ย. 2567