แยกไม่ออกว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล
ถ. เคยได้ยินว่า กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล สงสัยว่า อกุศลจิตเป็นเหตุ หรือเป็นผล
สุ. อกุศลเป็นเหตุ อกุศลวิบากเป็นผล หรืออกุศลจิตขณะนี้เป็นเหตุ คือ เป็นปัจจัย โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยสะสมสืบต่อทำให้อกุศลขณะต่อไปข้างหน้าเกิดขึ้น เช่น ถ้ามีโลภะชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด อยากจะเห็นสิ่งนั้นอีก ยังไม่เลิก ยังไม่ละ ยังไม่ ทิ้งไป เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดโลภะในรูปทางตา จะสะสมสืบต่อไปที่จะให้โลภะ เกิดอีกในขณะที่เห็นรูปทางตา หรือว่าสะสมโทสะก็ได้ สะสมอิสสา สะสมมัจฉริยะ ความตระหนี่ สะสมความสำคัญตน ได้ทุกอย่าง โดยอุปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เพราะว่าเกิดดับสะสมบ่อยๆ
ถ. ผมมักจะแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล เช่น มาฟังธรรมที่นี่ เป็นการทำบุญ หรือที่เราได้มาฟังธรรมเพราะเราได้ทำบุญไว้แล้ว การมาฟังเป็นเหตุ หรือเรากำลังรับผลที่เคยทำบุญมาก่อนๆ
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเรียนเรื่องชาติของจิตโดยละเอียดว่า จิตขณะไหนเป็นวิบาก จิตขณะไหนเป็นกิริยา จิตขณะไหนเป็นกุศล จิตขณะไหนเป็นอกุศล ไม่อย่างนั้นแยกไม่ออก เพราะว่าแต่ละวาระก็เกิดดับสลับซับซ้อนกันเร็วมาก จนกระทั่งเหมือนกับเห็นด้วย ได้ยินด้วย แต่ความจริงแล้ว วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หลายวาระโดยมีภวังค์คั่นแต่ละวาระ ซึ่งวาระหนึ่งๆ ก็มีวิถีจิตหลายประเภทที่รู้อารมณ์เดียวกัน
ถ. บางทีมีเรื่องส่วนตัวทำให้เดือดร้อนใจ เดือดร้อนก็เป็นโทสมูลจิต เป็นอกุศล ดูเหมือนว่าเรื่องทำนองนี้เป็นเหตุ เป็นกรรม เป็นบาป แต่คิดว่าเรื่องของความเดือดร้อนน่าจะเป็นผลของบาปที่เกิดจากอกุศลกรรมที่เคยทำไว้แล้ว
สุ. ถ้าเป็นผลของกรรม วิบากจิต ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมพนจิต นอกจากนี้ไม่ใช่วิบาก นี่เป็นเหตุที่จะต้องรู้ว่า ในวาระหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่วิบากจิต เพราะเมื่อถึงชวนะ เป็นเหตุแล้ว
ถ. ถ้าอย่างนั้น เวลาเกิดโกรธขึ้นมา ขัดเคืองใจ หรือมีเรื่องเดือดร้อนใจ นี่ไม่ใช่เป็นผลของกรรม
สุ. ไม่ใช่เป็นผลของกรรม แต่เป็นผลของการสะสมโทสะในอดีตที่ยัง ไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น โทสะเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ไม่ได้จบหรือหมดไปเพียงเท่านั้น ยังสะสมสืบต่อทำให้โทสมูลจิตเกิดข้างหน้าอีก
เพราะฉะนั้น อกุศลใดๆ ที่ยังไม่ดับ อกุศลนั้นๆ แม้ไม่เกิดขึ้นก็เป็นอนุสัยกิเลส คือ ตามนอนเนื่องสืบต่ออยู่ในจิต จนกว่าจะมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด อกุศลประเภทนั้นก็เกิด
ขณะใดที่โลภะเกิด รู้ได้เลยว่ายังไม่ได้ดับโลภะเป็นสมุจเฉท จึงมีเหตุปัจจัย ทำให้โลภะเกิดในขณะนี้ และโลภะไม่ใช่วิบาก ถ้าเป็นวิบากต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ใช่ผลของอกุศลจิต ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่มีเจตนาทำทุจริตกรรม
ถ้ารับประทานอร่อย ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิต ผลของโลภมูลจิตในขณะนั้น คือ ทำให้โลภมูลจิตเกิดต่อไปข้างหน้าอีก สะสมเพิ่มขึ้นอีก
เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดเดือดร้อน ลำบาก กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ให้ทราบว่าในขณะนั้นจักขุวิญญาณเป็นอะไร เป็นอกุศลวิบากหรือเปล่า หรือแม้ว่า เห็นสิ่งต่างๆ ที่น่ารื่นรมย์ น่าพอใจ แต่ใจเศร้าหมองเดือดร้อน ขณะนั้นก็แยกได้ว่า ขณะเห็น จักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลจึงเห็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่ขณะที่ใจกำลังเดือดร้อนกระสับกระส่าย ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก
วิบากต้องเฉพาะจักขุวิญญาณ ขณะเห็น ถ้าเป็นจักขุทวารวิถีก็ทั้ง สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ และตทาลัมพนะเป็นวิบาก นอกจากนั้นไม่ใช่วิบาก
ถ. ในขณะที่เป็นวิบาก ยังไม่เป็นกุศล และอกุศล
สุ. ถูกต้อง คือ จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นกุศล จะเป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาไม่ได้ ถ้าจิตเป็นกิริยา ก็จะเป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นอกุศลไม่ได้
ที่มา ...