การฆ่าตัวตาย เป็นไปตามกรรมและการสะสมของกรรม


    บางท่านที่มีทุกข์กาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย บางท่านก็สามารถที่จะทน และ ทนไป ทนไป ไม่ว่าจะมีความเจ็บป่วยร้ายแรงสักแค่ไหน แต่บางท่านก็ไม่ทน ความทุกข์ที่กายมีมากจนกระทั่งบางคนทนไม่ไหว หรืออาจจะทนได้เพียงเท่าที่สามารถจะทนได้ ยังไม่ถึงขีดขั้นที่ทนไม่ได้

    บางคนได้ยินเสียงในหูตลอดเวลา เป็นความเจ็บป่วยประการหนึ่งของร่างกาย มีความรู้สึกเหมือนกับจะทนไม่ไหว ก็เข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่ฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถทนความป่วยเจ็บของร่างกายได้ แต่คนนั้นก็ยังไม่ถึงกับจะทนไม่ได้ เพียงแต่มีความรู้สึกเหมือนกับว่าทนไม่ไหว แต่ก็ยังทนไป ทนไป จนกว่าจะถึงเวลาที่บางท่านอาจจะไม่ทนอีกต่อไป

    ทุกข์กาย ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ใจ สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสมาก จนกระทั่ง บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่อาจทนความทุกข์ทรมานกายได้ บางคนก็เตรียมยาพิษ และบอกว่า ถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่ทำให้คนอื่นต้องพลอยลำบากเดือดร้อน และตัวเองต้องเป็นภาระของผู้อื่นเมื่อไร ก็ขอดื่มยาพิษ แทนที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

    สำหรับการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะฆ่าตัวตายนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นไปตามกรรม และการสะสมของกรรม เพราะบางคนแม้ว่าจะไม่เจ็บป่วย ไม่มีทุกข์กาย ไม่มีโรคภัยใดๆ เลย แต่สะสมความเคยชิน หรือความคุ้นเคยกับการฆ่า ก็เป็นเหตุให้สามารถฆ่าตัวตายได้โดยง่าย เพราะว่าเป็นผลของการสะสมของกรรม และกิเลสที่ได้สะสมความโกรธ หรือความไม่พอใจ หรือการฆ่าบ่อยๆ ทำให้บางคนแม้ว่ามีเหตุเพียงความน้อยใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะฆ่าตัวตายได้

    แม้ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุซึ่งไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยเลย แต่ก็ได้ฆ่าตัวตายตามกรรม และการสะสม

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เวสาลีสูตร ข้อ ๑๓๔๘ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักกึ่งเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

    ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว ใครๆ ไม่เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

    ระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นนั้น ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้ฆ่าตัวตายเองบ้าง และขอให้นายมิคลัณฑิกะฆ่าบ้าง วันละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปขึ้นไปบ้าง

    ไม่เป็นสิ่งที่ใครๆ น่าจะได้เห็น หรือน่าจะได้ยินได้ฟังเลย แม้พระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลที่อดีตกรรมของภิกษุ ๕๐๐ นั้นจะให้ผล ขึ้นชื่อว่าวิบากของกรรมแล้ว ไม่มีใครแม้พระผู้มีพระภาคสามารถจะห้ามหรือจะป้องกันได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงอสุภกัมมัฏฐานแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดกุศลจิต คลายความยึดมั่นในร่างกาย และคลายความกลัวภัยของความตาย

    คือ ทรงมุ่งที่จะให้เกิดกุศลจิต ไม่ใช่มุ่งที่จะพรรณนาถึงคุณของความตาย ท่านผู้ฟังพิจารณาดูว่า เมื่อถึงกาลที่กรรมจะให้ผลที่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นจะสิ้นชีวิต การที่จะตายด้วยการเกิดกุศลจิต และละคลายความยึดมั่นในร่างกายในชีวิต กับ การตายโดยที่ยังยึดมั่นในร่างกายในชีวิต และถูกฆ่าตาย อย่างไหนจะมีความหวาดกลัว มีความตกใจ มีความหวาดหวั่นมากกว่ากัน การตายโดยสมัครใจกับการตาย โดยไม่สมัครใจ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของภิกษุเหล่านั้น คือ

    ในอดีตชาติ พวกพรานเนื้อ ๕๐๐ คนเอาท่อนไม้ และบ่วงเป็นต้นขนาดใหญ่ๆ มาล้อมป่าไว้ ต่างดีอกดีใจ เลี้ยงชีวิตด้วยทำการฆ่าเนื้อ และนกตลอดชีวิตมาด้วยกันทีเดียว เมื่อตายแล้วก็เกิดในนรก พวกเขาไหม้ในนรกนั้นแล้ว ด้วยกุศลกรรมบางอย่างที่ทำไว้เมื่อก่อนนั้น ภายหลังก็มาเกิดในหมู่มนุษย์ ด้วยอำนาจอุปนิสัยอันงาม ทุกคนก็ได้บรรพชา และอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค แต่อกุศลกรรมเดิมที่ฆ่าสัตว์มากมายนั้นให้ผลยังไม่หมด ทำให้เกิดวิบาก คือ ปลงชีวิตของตนด้วยความพยายามของตนเอง และด้วยความพยายามของคนอื่น


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1506


    หมายเลข 13064
    11 ก.ย. 2567