อเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง และ อเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง


    อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง ที่พูดถึงอเหตุกจิต ไม่ใช่พูดถึงจิตอื่นเลย ในขณะนี้เอง เพียงแต่ไม่รู้จักชื่อ

    การที่ได้กล่าวถึงจิตที่เป็นกามาวจรจิต ที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะโดยละเอียด พร้อมทั้งตัวอย่างในพระสูตร ก็เพื่อให้ระลึกว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของกรรม และวิบาก คือ อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง เป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่ออกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้กระทำสำเร็จ ลงไปแล้วย่อมมีผล ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ และผลนั้นคืออกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ซึ่งเป็นอเหตุกจิตในชีวิตประจำวัน

    สำหรับอเหตุกวิบาก ๑๕ ดวงที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ อย่างละ ๒ ดวง ก็เป็น ๑๐ ดวง

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็ง่าย จักขุวิญญาณกุศลวิบาก คือ จิตเห็นสิ่งที่ดีๆ เป็นผลของกุศลกรรม ๑ ดวง จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก คือ จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม ๑ ดวง นี่ทางตาที่เห็นเป็นปกติ ซึ่งอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า ขณะไหนเป็นอกุศลวิบาก ขณะไหนเป็นกุศลวิบาก แต่ถ้าเห็น สิ่งที่ไม่พอใจ น่ารังเกียจ รู้ได้ทันทีว่า นี่เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมของตนเองที่ได้กระทำแล้ว

    ทางหู ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบาก เป็นผลของกรรมของตนเองที่ได้กระทำไว้

    ทางจมูก ได้กลิ่นที่ไม่ดีขณะใด ก็เป็นผลของอดีตกรรมที่เป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะนั้นก็เป็นฆานวิญญาณอกุศลวิบาก

    ทางลิ้น ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก

    ทางกาย เกิดเจ็บแม้สักเพียงเล็กน้อย ยุงกัด หรือคันนิดคันหน่อย หรืออะไร ก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นกายวิญญาณอกุศลวิบากที่เป็นผลของอกุศลกรรม (นาทีที่ 3)

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1508

    โดยมากทุกท่านต้องการกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งแต่ละท่านจะทราบได้ว่า ชีวิตของท่านในชาติหนึ่งๆ นั้น ขณะใดเป็นผลของอกุศลกรรม และขณะใดเป็นผลของกุศลกรรม

    ถ้าจะกล่าวเพียงแต่ว่า การรับผลของกรรม คือ ตื่นขึ้นมาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้ากล่าวสั้นๆ เพียงเท่านี้ จะพอไหม ซึ่งก็เป็นความจริง ทุกคนจำได้ง่ายๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางตาก็จักขุวิญญาณ ทางหูก็โสตวิญญาณ ทางจมูกก็ฆานวิญญาณ ทางลิ้นก็ชิวหาวิญญาณ ทางกาย ก็กายวิญญาณ อกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ รวมเป็น ๑๐ ดวง ก็น่าจะพอแล้ว ใช่ไหม

    แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า การที่จะดับกิเลสโดยไม่ฟังเรื่องของธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับอย่างละเอียด จะไม่ทำให้เข้าใจสภาพที่ไม่เที่ยงซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมากได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงแสดงเรื่องของจิต เจตสิก และรูปโดยละเอียด เพื่อที่จะให้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ในขณะที่เข้าใจว่า กำลังเห็น และไม่ดับเลย จะมีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้คลายแม้ ในขั้นของการฟังว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คงจำได้ และไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ควรทราบว่า อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ทำให้ปัญจวิญญาณ ๕ ดวง ที่เป็นอกุศลวิบากเกิด แต่อกุศลจิต ๑๒ ดวงที่ได้กระทำอกุศลกรรมสำเร็จไปแล้ว จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก ๗ ดวง สำหรับ ๕ ดวง คือ จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑

    เพราะฉะนั้น จะได้กล่าวถึงอีก ๒ ดวง ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม นอกจากนั้นจะไม่มีอกุศลวิบากอีกเลย เพราะว่าอกุศลวิบากจิตมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น

    บางท่านบอกว่าชื่อยาก ชื่อยากก็หมดไปแล้ว ๕ ชื่อ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะฉะนั้น เหลืออกุศลวิบากอีก ๒ ดวงเท่านั้น คือ สัมปฏิจฉันนจิตอกุศลวิบาก ๑ ดวง และ สันตีรณจิตอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    นี่เป็นผลของอกุศลกรรม

    ถ้าเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรมไว้แล้ว น่าที่จะรู้จักผลของอกุศลกรรมว่า มีอกุศลวิบาก ๗ ดวง

    ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ชินกับชื่อ

    อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง

    วิบากจิต ๑๕ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง และสันตีรณจิต ๓ ดวง

    สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง

    สันตีรณจิต ๓ ดวง ที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง ที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง

    การกล่าวถึงจิต จำเป็นต้องกล่าวถึงเวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพื่อจำแนกจิตออกเป็นประเภทๆ อย่างสันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากจิต มี ๓ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง สำหรับกุศลวิบาก ๒ ดวง ถ้าไม่จำแนกโดยเวทนา จะไม่สามารถแยกจิต ๒ ดวงนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อสันตีรณจิตมี ๓ ดวง จึงเป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา และเป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง ดวงหนึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา อีกดวงหนึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา คือ จำแนกสันตีรณกุศลวิบากเป็น ๒ ดวง เพราะต่างกันที่เวทนาเจตสิก

    ขณะนี้ก็มี จักขุวิญญาณก็เกิด โสตวิญญาณก็เกิด กายวิญญาณก็เกิด สัมปฏิจฉันนะก็เกิด สันตีรณะก็เกิด เพียงแต่เมื่อไม่ศึกษาก็ไม่สามารถรู้ว่า เป็นจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดเพราะปัจจัยต่างๆ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ ใครจะสามารถรู้ได้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ก็ได้ทรงแสดงเรื่องของจิต โดยละเอียด เพื่อให้พิจารณาเห็นว่า แม้ในขณะที่เห็นนิดเดียว สั้นสักเท่าไรก็ตาม จิตเกิดดับเท่าไร ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณดวงเดียวเท่านั้น

    สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต ต้องเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ เพราะว่ากรรมใดก็ตามที่จะให้ผล ต้องมีจิตที่เป็นวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จึงจะเป็นการรับผลของกรรม ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วนอน นิ่งเฉยๆ หลับสนิทอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นจะไม่มีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย แต่กรรมไม่ได้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็ดับ และก็เป็นภวังค์ แต่ต้องมีการรับผลของกรรม แล้วแต่ว่ากรรมนั้นจะให้ผลทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    และสำหรับจิตที่จะเป็นสภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ต้องเป็นวิบากจิต จิตอื่นที่ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผลของกรรม

    ต้องทราบว่า จักขุวิญญาณเป็นวิบาก โสตวิญญาณเป็นวิบาก ฆานวิญญาณเป็นวิบาก ชิวหาวิญญาณเป็นวิบาก กายวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบาก สันตีรณจิตเป็นวิบาก

    กรรมไม่ได้ทำให้เพียงจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ แต่ยังทำให้ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดสืบต่อ

    ที่ชื่อว่าสัมปฏิจฉันนจิต เพราะว่าเป็นจิตที่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณนั่นเอง

    ถ้าเห็นแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อเลย ก็ ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม เห็นแล้วก็หมด ได้ยินแล้วก็หมด ได้กลิ่นแล้วก็หมด ลิ้มรสแล้ว ก็หมด หรือเพียงแค่ทุกขเวทนาทางกายชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดกับกายวิญญาณ และดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจิตอื่นที่เป็นวิบากไม่เกิดขึ้นต่อ ผลของกรรมก็น้อยไป

    เพราะฉะนั้น นอกจากทวิปัญจวิญญาณแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

    ขณะนี้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้น จะรู้ดี หรือไม่รู้ดี

    ทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อทุกครั้ง ดีไหมที่ทราบ ดีกว่าไม่รู้ จะได้เห็นความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอนเลยของจักขุวิญญาณ เกิดขึ้น ขณะเดียวแล้วดับ แต่ทำไมดูเหมือนไม่ดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิด รับอารมณ์นั้นต่อ

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิต คือ

    จักขุวิญญาณาทีนัง อนันตรรูปาทิวิชชานนลักขณา มีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ

    หมายความว่า เมื่อจักขุวิญญาณ เห็น ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะรับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ เมื่อโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยิน ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นรับเสียงนั้นต่อ เมื่อฆานวิญญาณเกิดขึ้นได้กลิ่น ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นรับรู้กลิ่นนั้นต่อ เมื่อชิวหาวิญญาณลิ้มรสแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้รสนั้นต่อ เมื่อกายวิญญาณรู้โผฏฐัพพะแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพะนั้นต่อ

    รูปาทีนัง สัมปฏิจฉันนรสา มีการรับอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นรสะ คือ เป็นกิจ ตถาภาวปัจจุปัฏฐานา มีภาวะอย่างนั้น คือ เป็นภาวะที่รับอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    จักขุวิญญาณาทิ อปคมนปทัฏฐานา มีความไปปราศของจักขุวิญญาณ เป็นต้นเป็นปทัฏฐาน

    คือ ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจาก สัมปฏิจฉันนจิต เช่นเดียวกับทางหู เวลาที่โสตวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลยนอกจากสัมปฏิจฉันนจิต ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทราบแล้วว่า ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1509


    หมายเลข 13067
    15 ก.ย. 2567