เหตุให้ภิกษุสามารถที่จะบรรลุอรหัตได้


    ท่านพระอานนท์ท่านจึงทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการณ์อย่างอื่น ซึ่งเป็น เหตุให้ภิกษุสามารถที่จะบรรลุอรหัตได้

    เพราะว่ากัมมัฏฐานอื่นๆ ก็ยังมีอีก นอกจากอสุภกัมมัฏฐาน เช่น อนุสสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ จตุธาตุววัฏฐาน พรหมวิหาร และอานาปานสติ เหมือนท่าสำหรับลงสู่ทะเลหลวงซึ่งมีหลายท่า ก็ย่อมไปสู่ทะเลหลวงด้วยกัน

    พระผู้มีพระภาคจึงทรงให้ประชุมภิกษุทั่วพระนครเวสาลี และได้ทรงแสดง อานาปานสติสมาธิ

    สำหรับความต่างกันของอสุภกัมมัฏฐานกับอานาปานสติ คือ

    อสุภกัมมัฏฐานนั้นสงบ และประณีต ด้วยอำนาจการแทงตลอดอย่างเดียว

    คือ สงบประณีตเฉพาะในขณะที่ปัญญาเกิดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะว่าอสุภเป็นอารมณ์ที่หยาบ และเวลาที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ถ้าไม่ใช่เป็น ผู้ที่มีปกติเจริญปัญญาอยู่เสมอแล้ว จิตใจย่อมหวั่นไหวในอสุภที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น อสุภกัมมัฏฐานจึงไม่ใช่อารมณ์ที่ประณีต และสงบอย่าง อานาปานสติ ซึ่งเริ่มสงบประณีตตั้งแต่เริ่มพิจารณาลักษณะของลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจเป็นสภาพที่ละเอียดประณีต

    ลมที่กำลังกระทบสัมผัสกายในขณะนี้ เป็นโผฏฐัพพารมณ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ เมื่อกระทบกับกายปสาทเช่นเดียวกับลมหายใจ แต่ในขณะนี้ ทุกๆ ขณะที่มีชีวิตอยู่ มีลมหายใจ แต่ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างโผฏฐัพพะอื่น เพราะว่าลักษณะของ ลมหายใจนั้นละเอียด และประณีต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะระลึกหรือพิจารณาลักษณะของลมหายใจ จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นจิตที่สงบในขณะนั้น จึงจะพิจารณาอารมณ์ที่สงบ และละเอียดอย่าง ลมหายใจได้

    ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงให้ประชุมภิกษุทั่วพระนครเวสาลี และทรงแสดงอานาปานสติสมาธิ แต่ไม่ใช่หมายความว่า จะให้ท่านผู้ฟังเลือกที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจ เพราะแท้ที่จริงแล้วอารมณ์ที่ละเอียด อารมณ์ที่ประณีตนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่สะสมปัญญามามาก พร้อมที่จะได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม โดยเฉพาะสามารถถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คอยที่จะรู้ลมหายใจ แต่สติเกิดเมื่อไร ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าปัญญายังไม่รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริงตามปกติอย่างนี้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เลย

    ด้วยความไม่รู้ ดับกิเลสไม่ได้ แต่ต้องด้วยความรู้จริงๆ ซึ่งเกิดเพราะสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ และปัญญาค่อยๆ พิจารณาเพิ่มความรู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น จนกว่าจะชิน

    ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะทำกิจการงาน ที่ไหน ขณะไหน ถ้าสติเกิด เมื่อเป็นผู้ที่ชินแล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ และดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการดับไปของนามธรรม และรูปธรรมยังไม่ปรากฏ แต่การฟังบ่อยๆ การเข้าใจจริงๆ การน้อมพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏได้ ก็เป็นทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้น และหมดไป ค่อยๆ ชินขึ้น


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1507


    หมายเลข 13081
    14 ก.ย. 2567