อานาปานสติในมหาสติปัฏฐาน


    . อานาปานสติสมาธิ กับอานาปานสติในมหาสติปัฏฐาน ต่างกันอย่างไร

    สุ. อาปานสติมี ๒ อย่าง สมถภาวนาก็ได้ วิปัสสนาภาวนาก็ได้ ถ้าเจริญสมถภาวนาก็เป็นอานาปานสติสมาธิ แต่แม้ว่าจะเจริญสมถภาวนาโดยมีลมหายใจเป็นอารมณ์ และมีความสงบของจิตเพิ่มขึ้นจนกระทั่งปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ สติปัฏฐานก็สามารถระลึกที่ลักษณะของสภาพของนามธรรมในขณะนั้น และรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    . อานาปานสติสมาธิ เจริญจนเป็นสมาธิ จะมีนิมิตอะไรเกิดหรือเปล่า

    สุ. มี

    . นิมิตที่เกิดนั้นจะเป็นลมหายใจ หรือจะเป็นนิมิตอีกต่างหาก

    สุ. ลมหายใจไม่มีรูปร่าง ใช่ไหม แต่นิมิตมีลักษณะของนิมิต

    . นิมิตในที่นี้หมายความว่า ลมหายใจปรากฏชัด หรือว่ามีนิมิตอย่างอื่น

    สุ. นิมิตของลมหายใจจะปรากฏเหมือนกับปุยนุ่น หรือสภาพที่เป็นนิมิต ไม่ใช่ลักษณะของธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม

    . แต่นิมิตที่ปรากฏ ไม่ใช่ลมหายใจ ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่

    ถ. แต่เนื่องจากลมหายใจ

    สุ. เนื่องจากลมหายใจ

    . สงสัยมานานว่า เมื่อเจริญอานาปานสติสมาธิ จิตสงบขึ้นแล้วจะปรากฏนิมิต นึกว่าจะเป็นลมหายใจปรากฏชัดเจนขึ้นมา

    สุ. ถ้ากล่าวถึงนิมิตของสมถภาวนา จะไม่ใช่อารมณ์เดียวกับสิ่งที่เจริญ ในเบื้องต้น เพราะจะต้องให้นิมิตนั้นติดตา ฉะนั้น เมื่อติดตาก็ไม่ใช่สิ่งที่เห็น แต่เพียงแต่อาศัยสิ่งที่เห็นทำให้เกิดนิมิตที่ติดตา

    เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะจะมีสักกี่ท่านที่อบรมเจริญ สมถภาวนาโดยถูกต้องจริงๆ นอกจากจะทำสมาธิ และเข้าใจว่า นั่นเป็นสมาธิภาวนา เพราะถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา และรู้เรื่องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แทนที่จะไปเจริญ ความสงบให้มั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สติปัฏฐานย่อมจะเกิดระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อละคลายการยึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นตัวตน มากกว่าที่จะไปพยายามทำให้จิตสงบถึงขั้นฌานจิต ซึ่งไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ชาติก่อนๆ อาจจะเคยทำมาแล้วมากหลายชาติ แต่ก็ต้องมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยที่ว่ายังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะถ้าจะดับได้ต้องเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ส่วนการที่จะสงบเพียง ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสด้วยกำลังของความสงบที่เป็นสมถภาวนานั้น ดับกิเลสไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม พร้อมด้วยฌานสมาบัตินั้น มีน้อยกว่าผู้ที่เป็นสุกขวิปัสสกะ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่ถึงขั้นฌานจิต

    สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ ถ้ารู้เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทุกท่านก็คงจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของฌานสมาบัติเป็นเรื่องที่ไกลแสนไกลทีเดียว


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1507


    หมายเลข 13083
    14 ก.ย. 2567