นิมิตของอานาปานสติสมาธิ
ถ . นิมิตของอัปปนาสมาธิมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ใช่ไหม ผมเคยฟังว่า นิมิตของอานาปานสติสมาธิ จะเป็นปุยนุ่นเป็นสีขาว เป็นฟอง
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวไว้โดยละเอียด เรื่องนิมิตของแต่ละอารมณ์ ซึ่งดิฉันได้กล่าวถึงน้อยที่สุด และสนใจน้อยที่สุด เพราะรู้แน่ว่าแต่ละท่านที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ไปเสียเวลากับการทำให้สมาธิเกิดถึงขั้นนั้นโดยที่ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าสนใจ ในวิสุทธิมรรคมีแสดงไว้โดยละเอียด
ถ . ที่เรียนถาม เพราะในสมัยหนึ่งกลุ่มของผมกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่อง อานาปานสติสมาธิ ซึ่งต่างก็เข้าใจว่า ตัวเองได้ฌานจิต คือ มีนิมิตอย่างอื่นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นปุยนุ่น เป็นแสงสว่างในตัว หรือแบ่งครึ่งในตัว หรือจะขยายตัวเองเข้าออก คือ ถ้ามีโอกาสผมจะได้คุยกับเพื่อนฝูง
สุ. เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่แม้จะมีกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค แต่ถ้าข้อปฏิบัตินั้นไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง บางคนอาจจะสร้างนิมิตอย่างนั้นขึ้นมาก็ได้ และเข้าใจว่าเป็นนิมิตที่ตรงกับที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยในการที่จะเห็นนิมิตหรือไม่เห็น หรือเห็นนิมิตในลักษณะใด
แต่ขั้นต้นที่สุดที่จะต้องเข้าใจ คือ ขณะนี้สติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของจิต มีไหม ถ้าไม่มี ก็แยกลักษณะของอกุศลจิต และกุศลจิตไม่ออก เมื่อแยกไม่ออก แทนที่กุศลจิตจะเจริญ ก็กลายเป็นความจงใจ ความต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของโลภมูลจิต เป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เป็นอัปปนาสมาธิ หรืออานาปานสติสมาธิเลย เพราะเป็นเรื่องที่ยากเท่าๆ กับเรื่องของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพียงแต่ว่าสมถภาวนานั้น ไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็น ปรมัตถธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องรู้ลักษณะของจิต
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1507
ถ . ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ว่า ทำไมนั่ง ถ้ายังไม่ศึกษาให้รู้ ก็มีเพียงอยาก ทั้งกลุ่มมีผมแตกกลุ่มมาคนเดียว ถ้ามีโอกาสก็อยากจะคุยให้เขาเข้าใจด้วย
สุ. แม้เขาจะบอกว่า เขาเห็นนิมิตเหมือนกับนิมิตอย่างอานาปานสติสมาธิในวิสุทธิมรรค จะเป็นปุยนุ่น หรือจะเป็นสร้อยสังวาล หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นเต้นว่า เป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ แต่ต้องสาวไปถึงเหตุ คือข้อปฏิบัติว่า ขณะนั้นสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร ระลึกอย่างไร โยนิโสมนสิการอย่างไร และทำไมจึงเจาะจงอานาปานสติสมาธิ ซึ่งเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ
สำหรับอานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ยากมาก เพราะถ้าทำผิด ผล คือ อาการโยกโคลง ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดว่า ท่านพระมหากัปปินะเป็นผู้ที่เจริญอานาปานสติอยู่เสมอ การนั่งของท่านตรง ไม่มีการหวั่นไหว ไม่มีการโยกโคลงเลย และมีข้อความอธิบายไว้ว่า การปฏิบัติผิดจะทำให้มีการโยกโคลงเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็จะทำอานาปานสติสมาธิ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่ละเอียด และถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ จะเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เพราะในขณะที่โยกโคลงนั้นไม่ใช่เป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว
ที่มา ...