วิถีจิตทางปัญจทวารเกิดสลับกับวิถีจิตทางมโนทวาร


    ถ. ถ้าชวนะทั้งทางปัญจทวาร และทางมโนทวารเป็นมหากุศล สมมติว่าสติปัฏฐานเกิดด้วย สติปัฏฐานจะเกิดกับชวนจิตทางปัญจทวาร หรือจะเกิดกับชวนจิตทางมโนทวาร หรือจะเกิดได้ทั้ง ๒ ทวาร

    สุ. เวลานี้มโนทวารวิถีจิตกับปัญจทวารวิถีจิต หรือเวลาไหนๆ ก็ตาม แยกกันได้ไหม ตามความเป็นจริง จะเกิดสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ที่จะรู้ว่าเร็วแค่ไหน คือ เพียงเฉพาะทางตา และทางหูที่ปรากฏเสมือนว่าสืบต่อกันไม่มีช่องว่างเลย ในขณะที่เห็นด้วยได้ยินด้วยเดี๋ยวนี้ เสมือนไม่มีช่องว่าง ไม่มีจิตใดๆ เกิดคั่นเลย แต่ตามความเป็นจริง ทางตา จักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่น และมโนทวารวิถีจิต เกิดสืบต่อ ต่อจากนั้น ภวังคจิตคั่นหลายวาระกว่าจะถึงทางหู เพราะฉะนั้น จะแยกอย่างไรในความเร็วอย่างนี้

    และเวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด ขณะนั้นสติระลึกลักษณะสภาพของอารมณ์ที่กำลังปรากฏจึงรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่เป็นนามธรรมว่า ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม ซึ่งในขณะนั้นต้องมีปัญจทวารวิถีแต่ละทวารที่กำลังเกิดขึ้นรู้รูปแต่ละรูป ที่ทำให้มโนทวารวิถีจิตซึ่งเกิดสลับรู้ชัดในอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้น มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ด้วยทางปัญจทวาร เมื่อเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ปัญญานั้นอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และเกิดสลับสืบต่อกันอย่างเร็วจนกระทั่งแยกไม่ออกเลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าอย่างไร

    ถ. เพราะว่าทางมโนทวาร และทางปัญจทวารเกิดดับสลับกันเร็วมาก และมหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ทั้ง ๒ ทวาร

    สุ. ทั้ง ๖ ทวาร

    ถ. แต่มโนทวาร การเจริญสติปัฏฐานเท่าที่ผมมีความเข้าใจ คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏก็ระลึกที่สภาพธรรมนั้น ซึ่งการที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกจะปราศจากวิถีจิตทางปัญจทวารไม่ได้ ข้อนี้ผมเข้าใจที่ท่านอาจารย์อธิบาย

    แต่ปัญหาที่ผมเรียนถาม คือ ขณะที่สติเกิด ขณะนั้นสติเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต และสติที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ต้องขณะที่เป็นชวนะ อยากทราบเท่านั้นเองว่า ขณะที่สติเกิด ในขณะนั้นจิตที่เกิดเป็นประธานให้สติเกิด ร่วมด้วย และรู้รูปารมณ์ ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ชวนะขณะนั้นน่าจะเป็นทางไหน

    สุ. มโนทวารวิถีจิตกับปัญจทวารวิถีจิต เกิดดับสลับกันอย่างเร็วจนกระทั่งแยกไม่ได้ เหมือนขณะนี้ ทางตากับทางหูเหมือนกับไม่มีอะไรคั่นเลย และจะถามว่าเป็นทางไหน ในเมื่อเพียงทางตาทางเดียวที่จักขุทวารวิถีจิตดับลงไปภวังคจิตก็หลายขณะ มโนทวารวิถีจิตก็หลายวาระ รวมทั้งภวังค์คั่นด้วย ใช่ไหม ก็คิดดูตามความเป็นจริงว่า เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็ ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ความชัดเจนนั้นต้องเป็นทางมโนทวารแน่นอน เพราะว่ารู้ลักษณะที่ต่างกันของทั้งนามธรรม และรูปธรรม

    และในขณะที่รูปหนึ่งรูปใดปรากฏ มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ทางทวาร นั้นๆ ที่รูปปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ แต่เป็นมหากุศล และญาณสัมปยุตต์ด้วย และเมื่อเป็นทางปัญจทวาร ก็รู้ได้แต่เฉพาะรูปทางทวารนั้นๆ ในขณะที่เป็นปัญจทวารวิถีทวารหนึ่งทวารใด แต่สำหรับทางมโนทวารวิถี สามารถ รู้ได้ทั้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    ถ. ถ้าไม่พูดถึงการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม พูดแค่เรื่องการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้นว่า จริงๆ ชวนจิตทางปัญจทวารเป็นมหากุศลได้ทั้ง ๘ ดวง สติจึง เกิดได้ ซึ่งสติเจตสิกก็ต้องเกิดร่วมกับโสภณจิต

    สุ. ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าวิปัสสนาญาณกำลังเกิด ใช่ไหม จะกล่าวว่าวิปัสสนาญาณเกิดโดยไม่มีสติปัฏฐานหรือไม่เป็นสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะว่าขณะที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติยังไม่มีกำลัง เพียงระลึกลักษณะของนามธรรมนิดหน่อยบางนาม รู้ลักษณะของรูปธรรมบ้างบางรูป ในขณะที่ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ สติย่อมมีกำลังมากกว่าขณะที่กำลังเกิดบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ใช่ไหม ซึ่งปัญญา ในขณะนั้นรู้ชัด แม้วิถีจิตทางปัญจทวารในขณะนั้น รูปปรากฏ ก็รู้ชัดในรูปมากกว่า ในขณะที่สีปรากฏ เสียงปรากฏ และจิตเป็นโลภะบ้าง หรือโทสะบ้าง หรือโมหะบ้าง หรือว่าสติปัฏฐานเพิ่งจะเกิด นี่เป็นความต่างกันของความชัดเจนของวิปัสสนาญาณกับขณะที่สติเพิ่งจะเริ่มอบรม

    และจะมีความประณีต หรือความละเอียด หรือความชัดเจนขึ้นเป็นขั้นๆ ตามลำดับของญาณด้วย แต่จะแยกปัญจทวารวิถีออกจากมโนทวารวิถีให้ห่างกันไกลมาก และให้เป็นแต่ละขณะไม่ได้ เพราะว่าขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ หมายความว่า สติ และปัญญาต้องมีกำลังตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณนั้นๆ เพียงแต่ว่าทาง ปัญจทวารวิถีไม่สามารถมีนามธรรมเป็นอารมณ์ แต่เมื่อมโนทวารวิถีสามารถประจักษ์แจ้งชัดเจนในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏกับปัญจทวารวิถีก็ต้องชัดเจนด้วย

    ถ. ขอบพระคุณ

    สุ. เรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็มีทั้งจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าพระธรรมจะทรงแสดงไว้โดยละเอียดถึงลักษณะของจิตประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ รูปประเภทต่างๆ แต่การที่จะรู้จริงๆ ว่า จิตแต่ละลักษณะ แต่ละประเภท หรือว่าเจตสิกนั้นๆ รูปนั้นๆ มีลักษณะอย่างไร ต้องในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1522


    หมายเลข 13095
    17 ก.ย. 2567