เวทนา ความรู้สึก มีลักษณะ ๕


    ขอกล่าวถึงความยากในการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น ความรู้สึก ซึ่ง ทุกคนมี และก็ถือความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้ามีความทุกข์สักนิดหนึ่งเกิดขึ้น เดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงได้ ใช่ไหม เพียงความรู้สึกไม่สบายกาย เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่กายวิญญาณอกุศลวิบากจิตเกิด ก็เดือดร้อนมาก หารู้ไม่ว่าเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นที่เป็นทุกข์ทางกาย ส่วนความเดือดร้อนกระวนกระวายทั้งหมดเป็นเรื่องของความทุกข์ทางใจ ไม่ใช่ทางกาย

    เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ถึงแม้จะทรงแสดงไว้ว่า มีลักษณะ ๕ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ แต่ก็ยากที่จะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมจิต และดับพร้อมจิต สลับกันอย่างรวดเร็ว

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาสัมมสนญาณนิทเทส แสดงความหยาบ และความละเอียดของเวทนา ด้วยสามารถแห่งชาติ สภาวะ บุคคล โลกียะ และโลกุตตระ

    นี่คือเวทนาในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นบุคคลใด

    ที่ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์ โดยนัยมีอาทิว่า เวทนาเป็นอกุศลหยาบ เวทนาเป็นกุศล และอัพยากตะละเอียด

    ทุกคนมีจิตเจตสิกซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง และการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก จะต้องรู้ว่า ความรู้สึกขณะจิตใดสามารถรู้ได้ ง่ายกว่าขณะจิตอื่น และถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของความรู้สึก เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะว่าปัญญาต้องละความยึดมั่นในขันธ์ ๕ คือ ทั้งในรูปขันธ์ ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ และในวิญญาณขันธ์

    ในเมื่อความรู้สึกมีจริง แต่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ความจริงของความรู้สึก จะให้ละคลายการยึดถือความรู้สึกว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ควรทราบว่า ขณะที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของเวทนา เวทนาประเภทไหนหยาบพอที่จะระลึกได้มากกว่าเวทนาที่ละเอียด

    โดยชาติ ซึ่งมี ๔ คือ อกุศล ๑ กุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ เวทนาเป็นอกุศลหยาบ เวทนาเป็นกุศล และอัพยากตะ คือ วิบาก และกิริยา ละเอียด

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เวทนาที่เป็นอกุศล เป็นไปเพื่อความไม่สงบ เพราะเป็นกิริยาเหตุอันมีโทษ และเพราะกิเลสทำให้เดือดร้อน เพราะเหตุนั้นจึงเป็นเวทนาหยาบกว่าเวทนาที่เป็นกุศล

    เวทนาที่เป็นอกุศล เป็นเวทนาหยาบกว่าวิบาก และกิริยา เพราะมีความขวนขวาย มีความอุตสาหะ มีวิบาก โดยกิเลสทำให้เดือดร้อน และโดยมีโทษ

    ขณะนี้มีเวทนา พิจารณายากไหม ความรู้สึก ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ตอบได้ ขณะนี้รู้สึกอย่างไร ดีใจ หรือว่าเฉยๆ แต่เวลาสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึก ยากแล้ว ใช่ไหม ความรู้สึกในขณะนี้เป็นอะไร เกือบจะตอบไม่ได้ เพราะเหตุใด

    ขณะที่กำลังเห็น ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณที่เห็น แต่เป็นสภาพธรรมที่รู้ยากเพราะเป็นสภาพที่ละเอียด เพราะเป็นวิบาก แต่ในขณะใดที่เวทนาเป็นอกุศล จะรู้ง่าย ใช่ไหม กำลังดีใจ ตื่นเต้น ปีติ โสมนัส เป็นสุข สติยังพอที่จะระลึกได้ว่า สภาพความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง พอที่จะเห็นได้ พอที่จะระลึกได้ แต่ทางตาที่กำลังเห็น และเป็นอุเบกขาเวทนา ทางหูที่กำลังได้ยินเป็น อุเบกขาเวทนา ขณะที่กำลังได้กลิ่นเป็นอุเบกขาเวทนา ยากไหม ถ้าเป็นกลิ่นที่ ไม่น่าปรารถนา กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ กลิ่นเหม็น กลิ่นขยะ กลิ่นน้ำเน่า ในขณะนั้นพอที่จะรู้ลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่กำลังได้กลิ่นไหม หรือเป็นความรู้สึกเดือดร้อนมาก ทนไม่ได้ บางท่านถึงกับแสดงกิริยาอาการป้องกันไม่ให้กลิ่นนั้นปรากฏหรือกระทบกับฆานปสาท อาจจะอุดจมูก หรือทำอะไรก็แล้วแต่

    แสดงให้เห็นว่า เวทนาที่เป็นอกุศลหยาบกว่าเวทนาที่เป็นวิบาก และกิริยา อย่างไรก็ตาม สติจะต้องระลึกลักษณะของความรู้สึก แต่ไม่ใช่บังคับว่า วันนี้ควร หรือวันนี้ต้องระลึกลักษณะของเวทนา แล้วแต่สติจะเกิดขณะใด เพราะสติเป็นอนัตตา สติมีกิจระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วแต่สติจะระลึกลักษณะของรูปหรือนาม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จะระลึกลักษณะของความรู้สึก หรือจะระลึกลักษณะของสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินก็แล้วแต่ แต่แสดงให้เห็นว่า การที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาต้องเจริญ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าสามารถดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้โดยไม่รู้ลักษณะ ของขันธ์ ๕

    เพราะฉะนั้น จะเหลืออีกเท่าไรที่ปัญญาจะต้องเจริญ ก็แล้วแต่ปัญญาของ แต่ละบุคคลที่สะสมมามากน้อยต่างกันว่า จะต้องอบรมเจริญระลึกรู้ลักษณะของ ขันธ์ใด ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับเวทนาที่หยาบด้วยสามารถของสภาวะ คือ ทุกขเวทนาหยาบกว่าอุเบกขาเวทนา และสุขเวทนา

    ใช่ไหม วันนี้ไม่รู้เลยว่า เวทนาเป็นอุเบกขาหรือเป็นสุขเวทนาทางกาย แต่เวลาที่ทุกขเวทนาทางกายเกิดเมื่อไร รู้ทันที เจ็บสักนิดหนึ่ง คันสักนิดหนึ่ง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดฟัน พวกนี้เป็นทุกขเวทนา ซึ่งโดยสภาวะแล้วหยาบกว่าอุเบกขาเวทนา และสุขเวทนา เพราะไม่มีความพอใจ มีแต่ความเดือดร้อน และครอบงำด้วย

    สุข ทุกข์ ๒ อย่าง เป็นเวทนาหยาบกว่าอทุกขมสุข ทั้งสุข และทุกข์หยาบกว่า อทุกขมสุข คือ อุเบกขาเวทนา โดยความควรแก่ความเดือดร้อน โดยทำความกำเริบ และโดยปรากฏ

    สำหรับอกุศลจิตด้วยกัน เวทนาที่เกิดกับโทสมูลจิตหยาบกว่าเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต

    จริงไหม เวลาที่โทสมูลจิตเกิด รู้เลยว่าหยาบกระด้าง ความรู้สึกในขณะนั้นหยาบมาก

    ผู้ฟัง ผมคิดว่า เวทนาสำคัญมาก ฟังอาจารย์พูดเรื่องเวทนา ก็ฟังมานานแล้ว แต่สติไม่ค่อยได้ระลึกที่เวทนาเท่าไร เวทนาเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดอยู่ทุกเวลาแต่ไม่ค่อยรู้ เมื่ออาจารย์อธิบายว่า มีความละเอียด และหยาบแตกต่างกัน ถ้าเป็นทุกขเวทนาจะหยาบ และรู้สึกง่าย เป็นการเตือนสติจริงๆ เหมือนได้มองหน้า และได้เห็นหน้าของเวทนาชัดขึ้นหลังจากที่ได้ฟังแล้ว ขอบคุณ

    สุ. ข้อความในพระไตรปิฎก ในสูตรหนึ่งมีว่า ในพรรษาหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเฉพาะเวทนาอย่างเดียวตลอด ๓ เดือน เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึก เป็นสภาพที่น่าพิจารณา และถ้ายิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นความวิจิตร หรือความต่างกันของความรู้สึกแต่ละอย่างแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาจริงๆ มิฉะนั้นไม่สามารถรู้ความต่างกันของลักษณะของเวทนาได้

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

    เวทนาเป็นกามาวจร สำเร็จด้วยทานหยาบ สำเร็จด้วยศีลละเอียด แม้สำเร็จด้วยศีลก็หยาบ สำเร็จด้วยภาวนาละเอียด แม้สำเร็จด้วยภาวนาเป็น ทุเหตุกะ (คือ มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๒ เหตุ) ก็หยาบกว่าเวทนาที่เป็นติเหตุกะ (คือ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย) แม้เป็นติเหตุกะ เป็น สสังขาริกะก็หยาบ เป็นอสังขาริกะละเอียด

    เป็นความละเอียดของเวทนาซึ่งเกิดร่วมกับจิต จิตยากที่จะรู้ เวทนาที่เกิดดับไปพร้อมกับจิตก็ยากที่จะรู้ด้วย

    ท่านที่อาจจะยังไม่เคยพิจารณาลักษณะของเวทนาความรู้สึกเลย แต่เมื่อ ทราบว่าจะต้องระลึก ก็อาจจะทำให้เกิดระลึกขึ้นได้บ้าง แต่ต้องตรงลักษณะของความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม เช่น ในขณะที่กำลังเห็น แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ จะรู้ว่าเวทนาเป็นอย่างไรได้ไหมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็รู้ไม่ได้ เพราะเคยรู้ว่าเวทนาเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา ก็ถือว่าเป็นเรา


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1522


    หมายเลข 13096
    17 ก.ย. 2567