คำพังเพยคำโบราณที่ว่า ปากร้าย ใจดี
พุทธพจน์ที่ว่า ใจประเสริฐ ใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ฉะนั้น ขณะที่ใจร้าย พูดอะไรก็เป็นร้ายออกมา แต่มีคำพังเพยคำโบราณที่ว่า ปากร้าย ใจดี จะขัดกันไหม
สุ. แล้วแต่การสะสม
ถ . คำว่า ปากร้าย ใจดี เป็นได้หรือ ถ้าเป็นได้ ก็ไม่ตรงกับพุทธพจน์นี้
สุ. จิตเกิดดับสลับเร็วมาก
ถ . ขณะที่พูดออกไป ถ้าร้ายก็ต้องร้าย แต่ขณะที่ใจดี ก็คนละขณะ ใช่ไหม
สุ. ถ้ายังไม่หมดกิเลส ก็ยังมีเหตุทำให้คำร้ายๆ เกิด
ถ . คำร้ายๆ แต่ใจร้ายด้วยหรือเปล่า
สุ. ในขณะที่กิเลสยังไม่หมด ขณะนั้นอกุศลจิตต้องมีได้ แล้วแต่ว่าจะถึง ขั้นไหน
ถ . แต่ขณะที่พูดนั้น ถ้าพูดร้ายก็ต้องร้าย ส่วนอีกขณะจิตหนึ่ง ใจอาจจะดี ก็คนละขณะแล้ว
สุ. พูดเพราะ พูดไม่เพราะ แต่ยังไม่ถึงร้ายก็มี ใช่ไหม คำพูดมีหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการพูดดีหรือในการพูดร้าย ถ้าในการพูดดี ก็มีทั้งคำพูดที่จริง คำพูดที่เป็นประโยชน์ แต่กล่าวอย่างเพราะหรือเปล่า นั่นก็เป็นระดับขั้นของคำที่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น คำที่ร้ายก็เหมือนกัน โดยนัยเดียวกัน ต้องมีคำที่ร้ายพอประมาณ หรือร้ายมาก หรือเพียงคำพูดที่ไม่เพราะจะเรียกว่าร้ายก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่การสะสม เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องสังเกตตัวเองจึงจะรู้ตามความเป็นจริง
ไม่ชอบคำร้าย แต่เมื่อยังมีกิเลส ก็มีเหตุให้กล่าวคำร้าย แต่สติที่ระลึกได้ จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าจะรู้ว่า คำใดควรกล่าว คำใดไม่ควรกล่าว แต่ถ้าสติไม่เกิด ระลึกไม่ได้ ก็จะกล่าวต่อไป และคำพูดที่ดีก็ยังจะดีขึ้นอีกได้เรื่อยๆ ตามสภาพของกุศลจิต เพราะนอกจากจะเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ เป็นคำจริง ก็ยังพูดด้วยคำที่ไพเราะน่าฟังด้วย
ที่มา ...