การคบหาสมาคมกับพระธรรม
เรื่องของการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ยาก ถึงแม้ว่าทุกคนจะรู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ และกล่าวว่ามีทุกข์ และไม่อยากจะมีทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ประเภทใดทั้งสิ้น เวลาที่เกิดความรู้สึกไม่แช่มชื่น หรือความรู้สึกทุกข์กายเกิดขึ้น ก็อยากให้ทุกข์นั้นหมดลงโดยเร็ว แต่ไม่มีใครสามารถดับทุกข์ได้ ถ้ายังดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา โดยเสพคุ้นกับพระธรรม ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ประมาท มิฉะนั้นจะทำให้ห่างไกลออกไปจากการคุ้นเคยกับพระธรรม และการสะสมอบรมเจริญปัญญา ความเห็นถูกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
โดยมากท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ท่านคบหาสมาคมกับบุคคล แต่โดยสภาพของปรมัตถธรรม เป็นการคบหาสมาคมกับธรรมทั้งสิ้น แล้วแต่ท่านจะคบหาสมาคมกับความเห็นถูก หรือคบหาสมาคมกับความเห็นผิด หรือคบหาสมาคมกับกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม ซึ่งการคบหาพระธรรมคือการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรมโดยละเอียด และไตร่ตรองเลือกเฟ้นพระธรรมโดยรอบคอบ ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ท่านจะคบกับพระธรรมอย่างไร ก็โดยการฟัง พระธรรม ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง และบางครั้งอาจจะเกิดความสงสัย ก็คบต่อไปอีก โดยการฟังต่อไป และพิจารณาพระโอวาทที่ได้ทรงตักเตือน
ถ้าท่านคบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นมิตรสหาย อาจจะได้ฟังความคิดเห็นของมิตรสหาย ถ้ามีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มิตรสหายนั้นก็จะโอวาทหรือช่วยตักเตือน เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะคิดว่า เมื่อคบกับพระธรรม พระธรรมจะเป็นเหมือน มิตรสหายได้อย่างไร แต่ความจริงพระธรรมเป็นยิ่งกว่ามิตรสหาย เพราะแม้ไม่เห็นตัว แต่ก็ยังฟัง เหมือนกับมีบุคคลที่กำลังแสดงพระธรรมให้ฟัง และถ้าสงสัย ก็ศึกษา และฟังต่อไปอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการ เหมือนกับการที่จะตอบข้อสงสัยของท่านผู้ฟังได้
บุคคลในสมัยพระผู้มีพระภาค มีความศรัทธา เลื่อมใส และเห็นประโยชน์ของการคบหาสมาคมกับพระธรรม ซึ่งใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอวัสสุตปริยายสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า
เจ้าศากยะทั้งหลายได้สดับว่า สัณฐาคาร (คือ อาคารที่ว่าราชการของพวก เจ้าศากยะ) เสร็จแล้ว จึงได้ไปตรวจดูสัณฐาคารนั้นทั้งหมดตั้งแต่ซุ้มประตู และคิดว่า สัณฐาคารนี้น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง มีสิริมิ่งขวัญ ใครใช้สอยก่อน พึงมีประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสุขแก่พวกเราตลอดกาลนาน
นี่คือความคิดที่ละเอียด แม้แต่การที่พวกเจ้าศากยะจะได้สร้างสัณฐาคารสำหรับว่าราชการแล้ว ก็ยังคิดว่า เมื่อจะใช้สอยสัณฐาคารนี้ จะให้ผู้ใดได้ใช้สอยก่อน จึงจะเป็นประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่พวกเราตลอดกาลนาน
เมื่อปรึกษากันแล้วก็ตกลงกันว่า แม้เมื่อเราถวายครั้งแรกแก่ญาติผู้ประเสริฐของพวกเรา ก็ควรแก่พระศาสดา (คือ โดยความเป็นญาติ การถวายแก่ พระผู้มีพระภาคก็สมควร) แม้เมื่อถวายด้วยอำนาจความเป็นทักขิเนยยบุคคล (คือ ผู้ที่ควรแก่การบูชา) ก็สมแก่พระศาสดาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะให้ พระศาสดาทรงใช้สอยก่อน จักนิมนต์ภิกษุสงฆ์มา เมื่อภิกษุสงฆ์มาแล้ว พระพุทธพจน์คือปิฎกทั้ง ๓ ก็จักเป็นอันมาด้วย เราจะให้อาราธนาพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พวกเราตลอดยามสามแห่งราตรี ดังนั้น สัณฐาคารนี้ พระรัตนตรัยก็ ใช้สอยแล้ว พวกเราจักใช้สอยในภายหลัง อย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่พวกเราตลอดกาลนาน
ถ้าจิตใจเป็นไปในเรื่องของพระธรรม ทุกอย่างในชีวิตประจำวันย่อมจะระลึกถึงพระธรรมเป็นธรรมดา
เจ้าศากยะเหล่านั้น ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้อาราธนาให้ พระผู้มีพระภาคประทับที่สัณฐาคาร
วันนั้น สัณฐาคารเป็นอันจัดด้วยดี ทะนุถนอมด้วยดี เหมือนเทพพิมาน เพื่อเป็นที่ทอดทัศนาสำหรับราชตระกูลก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ชื่อว่าไม่ตบแต่งให้สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จริงอยู่ ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยชอบป่า มีป่าเป็นที่รื่นรมย์ พึงอยู่ในบ้านหรือไม่อยู่ก็ตาม เพราะฉะนั้น พวกเจ้าศากยะจึงดำริว่า พวกเราพอรู้พระหฤทัยของพระผู้มีพระภาค จึงจัดตกแต่งเพื่อให้ไม่ลำบากในการ ฟังธรรมได้ตลอดคืนยันรุ่ง และให้ตั้งตุ่มน้ำขนาดใหญ่ไว้ เพื่อพระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์จะได้ล้างมือล้างเท้า หรือกระทำกิจได้ตามชอบใจ และได้บรรจุน้ำ สีแก้วมณีให้เต็ม ใส่ดอกไม้ต่างๆ เพื่ออบ และจุณอบ
เจ้าศากยะเหล่านั้น ให้ตบแต่งสัณฐาคารอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ โดยที่แท้ ให้ปัดกวาดแม้ถนนของพระนครกบิลพัสดุ์ในทางโยชน์หนึ่ง กระทำนครทั้งสิ้นให้ เป็นราวกับว่ามีดวงดาวเกลื่อนกล่นด้วยประทีป และมาลาเป็นต้น ให้คนตีกลอง ร้องประกาศว่า พวกท่านจงให้เด็กเล็กๆ ที่ยังดื่มนมให้ดื่มนมเสีย ให้พวกเด็กรุ่นๆ รีบกินข้าวแล้วให้นอนเสีย อย่าทำเสียงเอ็ดอึง วันนี้พระผู้มีพระภาคจักประทับในบ้านราตรีหนึ่ง ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประสงค์แต่เงียบเสียง แล้วพากันถือเอาประทีปด้ามด้วยตนเอง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทูลเชิญเสด็จไปประทับที่สัณฐาคาร
ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1501
พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะเองแล้ว มีสาวกผู้ปราศจากราคะแล้ว ห้อมล้อม ทรงปราศจากโทสะ มีสาวกผู้ปราศจากโทสะห้อมล้อม ทรงปราศจากโมหะ มีสาวกผู้ปราศจากโมหะห้อมล้อมแล้ว ทรงปราศจากตัณหา มีสาวกผู้ปราศจากตัณหาห้อมล้อมแล้ว ทรงปราศจากกิเลส มีสาวกผู้ปราศจากกิเลสห้อมล้อมแล้ว เป็นพระพุทธะเอง มีพระพหุสุตพุทธะห้อมล้อมแล้ว เสด็จพระดำเนินไปสู่ทางที่จะนำไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยเพศของพระพุทธเจ้าอันหาผู้เสมอเหมือนมิได้ และด้วยความสง่างามของพระพุทธะอันหาประมาณมิได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับ ณ สัณฐาคาร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้ว พระองค์ทรงแสดงปกิณณกคาถา นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เหล่า เจ้าศากยะชาวกรุงกบิลพัสดุ์แล้วตรัสว่า
ดูกร มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าอาวาสทานนี้ เป็นของใหญ่ อาวาสของพระองค์ เราก็ได้ใช้สอยแล้ว และภิกษุสงฆ์ก็ใช้แล้ว ทั้งเราทั้งภิกษุสงฆ์ก็ใช้แล้ว ก็เป็นอัน พระธรรมรัตนะก็ใช้สอยแล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นอันพระรัตนตรัย ใช้สอยแล้ว
จริงอยู่ เมื่อให้อาวาสทาน ก็เป็นอันชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง ชื่อว่าอานิสงส์แห่งบรรณศาลา และสาขามณฑป ใครๆ ก็ไม่อาจกำหนดได้
ครั้นตรัสธรรมีกถาเป็นอันมาก วิจิตรด้วยนัยต่างๆ อย่างนี้แล้ว ตรัสคาถาวิหารทาน ดังนี้ว่า
เสนาสนะย่อมป้องกันเย็นร้อน สัตว์ร้าย งู ยุง ความหนาวในฤดูหนาว และฝน ทั้งลมแดดอันกล้าที่เกิด เสนาสนะก็ป้องกันได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งฌาน และเพื่อเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้นแล คนผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุเหล่าพหูสูตอยู่ในวิหารนั้นเถิด พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะแก่ท่านเหล่านั้น ด้วยน้ำใจอันผ่องใสในท่านผู้ปฏิบัติตรง เขารู้ธรรมอันใดในพระศาสนานี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมดับสนิท ท่านภิกษุพหูสูตเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมนั้น อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่ เขาแล
ดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงอานิสงสกถาแห่งการถวายที่อยู่อาศัย เกินยามครึ่งตลอดราตรีเป็นอันมาก
อานิสงส์สูงสุดของการถวายวิหาร นอกจากจะเพื่อเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งฌาน และเพื่อเจริญวิปัสสนาแล้ว คือ ท่านรู้ธรรมอันใดในพระศาสนานี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมดับสนิท ท่านภิกษุพหูสูตเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมนั้น อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา นี่คือประโยชน์ที่สุด คือ การมีผู้แสดง พระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว เพื่อประโยชน์ให้บุคคลอื่นพ้นทุกข์
ล่วงไปสองยาม พระผู้มีพระภาคจึงส่งเจ้าศากยะเหล่านั้นไป เพื่อทรงอนุเคราะห์ เพราะเหตุว่าเจ้าศากยะเหล่านั้นเป็นสุขุมาลชาติผู้ละเอียดอ่อน เมื่อ เจ้าศากยะเหล่านั้นประทับนั่งล่วงราตรี ๓ ยามไป ก็จะพึงเกิดอาพาธขึ้นในพระสรีระ แม้ภิกษุสงฆ์ก็มาก ภิกษุสงฆ์นั้นควรจะได้โอกาสยืน และนั่ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงส่งไป เพื่ออนุเคราะห์ทั้งสองอย่าง
คือ ไม่ให้เจ้าศากยะนั้นต้องลำบากกายในการนั่ง และฟังพระธรรมไป ตลอดทั้ง ๓ ยาม
ข้อความต่อไปมีว่า
ความจริง ภิกษุสงฆ์ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีความกระวนกระวายทางกาย และจิต วิการรูปมีความเบากาย และเบาจิตเป็นต้นย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้น ยืนก็ดี นั่งก็ดี ตลอด ๒ ยามฟังธรรมอยู่ ก็ปราศจาก ถีนมิทธะ แม้ถึงปัจฉิมยามก็ปราศจากถีนะมิทธะเหมือนกัน
นี่สำหรับพระภิกษุทั้งหลายที่เป็นบรรพชิต
เมื่อเจ้าศากยะเสด็จกลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่าน พระมหาโมคคัลลานะแสดงธรรมแก่ภิกษุ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงเมื่อยหลัง จักทรงเหยียดหลัง
ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งความเพียรใหญ่ตลอด ๖ ปี ทรงมีทุกข์ ทางกายแล้ว ครั้นต่อมาเมื่อเวลาทรงพระชรา จึงเกิดโรคเจ็บหลังขึ้น แต่ข้อนี้มิใช่เหตุสำหรับพระองค์ที่จะบรรทมเหยียดหลัง เพราะแท้จริงพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสามารถข่มเวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการนั่งขัดสมาธิตลอด ๑ สัปดาห์บ้าง ๒ สัปดาห์บ้าง แต่ทรงมีพระประสงค์จะทรงใช้สอยสัณฐาคารศาลาด้วยอิริยาบถทั้ง ๔
เพื่อที่จะทรงโปรดเจ้าศากยะทั้งหลาย ที่มีความประสงค์จะให้พระผู้มีพระภาคได้ทรงใช้อาคารนั้นทั้ง ๔ อิริยาบถ คือ
ได้เสด็จดำเนินไปจากที่ชำระพระหัตถ์ และพระบาทจนถึงธรรมาสน์ การเสด็จดำเนินไปในที่เท่านี้สำเร็จแล้ว (คือ อิริยาบถหนึ่ง) เสด็จถึงธรรมาสน์ แล้วประทับยืนหน่อยหนึ่ง แล้วประทับนั่ง (ได้ทั้งอิริยาบถยืน และอิริยาบถนั่ง) การเสด็จไปในที่เท่านี้สำเร็จแล้ว ประทับนั่งบนธรรมาสน์ ๒ ยาม การประทับนั่งในที่เท่านี้สำเร็จแล้ว
บัดนี้เมื่อพระองค์บรรทมตะแคงขวาหน่อยหนึ่ง ก็จักสำเร็จการบรรทมดังกล่าวมานี้ พระองค์มีพระประสงค์จะทรงใช้สอยด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ฉะนี้
จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าสรีระที่มีใจครองไม่ควรกล่าวว่า จะไม่เจ็บไข้ เพราะฉะนั้น ทรงถือเอาการเจ็บไข้แม้เล็กน้อยที่เกิดขึ้นเพราะนั่งนาน จึงตรัสอย่างนั้น
เป็นของธรรมดาที่ว่า ถึงอย่างไรก็ทรงเมื่อยหลัง แต่ก็มีพระประสงค์ที่จะได้ใช้อิริยาบถทั้ง ๔
พวกเจ้าศากยะเหล่านั้น สั่งให้วงม่าน ๗ ชั้น ณ ข้างๆ แห่งสัณฐาคาร แล้วให้จัดตั้งเตียงอันสมควร ให้ลาดที่นอนอันสมควร ให้ดาดเพดานประดับด้วยดาวทอง และพวงดอกไม้หอม ให้ตามประทีปด้วยน้ำมันหอม ด้วยทรงพระดำริว่า ไฉนหนอ พระผู้มีพระภาคจะพึงเสด็จลงจากธรรมาสน์พักหน่อยหนึ่งพึงบรรทมในที่นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัณฐาคารของเราที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยด้วยอิริยาบถ ๔ จักมีประโยชน์ และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน
พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาข้อนี้นั่นเอง จึงทรงปูสังฆาฏิ และบรรทมในที่นั้น พระองค์ตั้งสัญญาในกาลเสด็จลุกขึ้นไว้ในพระทัยว่า ล่วงเวลาเท่านี้แล้วจักลุกขึ้น ไม่บรรทมหลับ ทรงฟังธรรมกถาของท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้นแลอยู่
ถ . พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์สอนแก่พวกเจ้าศากยะ ก็เป็นเรื่องพูดธรรมดาๆ นี่เอง จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การปฏิบัติได้อย่างไร
สุ. เรื่องธรรมดา คือ ธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่เรื่องผิดปกติธรรมดา เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นอันมาก พระภิกษุทั้งหลาย และแม้แต่เจ้าศากยะเมื่อได้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะนอกจากจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงแล้ว สติยังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตนในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ เหมือนในขณะนี้ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องสัณฐาคารของเจ้าศากยะ ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติก็จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ . แสดงว่าคนในสมัยนั้น คงไม่มีความสงสัยเรื่องการเจริญสติปัฏฐานว่า จะเจริญอย่างไร ระลึกรู้อะไรอย่างไร หรือสงสัยในเรื่องอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม กระผมเข้าใจว่า เขาคงจะรู้กันเป็นพื้นๆ กันอยู่แล้ว
สุ. เป็นผู้ที่ได้อบรมสะสมบารมีมาแล้ว
ถ . แต่ในสมัยนี้ ถ้าอ่านพระสูตรหรือชาดกต่างๆ รู้สึกว่า ฟังแล้วก็เพลิน สนุก แต่สาระที่จะได้จากพระสูตรในแง่ที่จะอุปการะในการปฏิบัติ รู้สึกว่าจะน้อย
สุ. ที่จริงพระสูตรมีความไพเราะมาก เพราะว่าแสดงถึงสภาพธรรมทุกอย่างพร้อมทั้งอุปมา และลักษณะของพระสูตรแสดงถึงอัธยาศัยที่ต่างๆ กัน โดยแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันวิจิตรมาก แม้แต่ในเรื่องของโลภะของแต่ละบุคคล หรือในเรื่องของโทสะ อย่างเรื่องของพระราชาที่โกรธท่านปิณโฑลภารทวาชะ ซึ่ง ไม่น่าจะโกรธเลย แต่ก็เป็นความจริงที่ว่า มีปัจจัยสะสมมาที่จะเกิดความโกรธ ความโกรธก็เกิด และภายหลังสติก็ระลึกได้ นี่ก็เป็นชีวิตจริง
ถ . สมัยนี้ถ้าฟังจากพระสูตรอย่างเดียว โอกาสที่จะเข้าใจธรรมรู้สึกจะยาก ถ้าไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมด้วย
สุ. และอาจจะเข้าใจผิดด้วย
ถ . การศึกษาพระอภิธรรมเป็นหลักที่จะตัดสินว่า การเข้าใจธรรมของเราถูกหรือผิด ใช่ไหม
สุ. แต่ต้องเข้าใจว่า พระอภิธรรม คือ การแสดงเรื่องละเอียดของธรรม เช่น ในพระสูตร จะกล่าวถึงเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ ในพระอภิธรรมก็แสดงความละเอียดของโลภะ ลักษณะของโลภะ สภาพของโลภะที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ อาศัยปัจจัยอย่างไร เกิดขึ้นในขณะไหน เพื่อเกื้อกูลให้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น เช่น แสดงว่าโลภะ หรือความยินดี ความต้องการเกิดขึ้น เมื่อเห็น เพราะฉะนั้น ทุกคนเห็น และลืมว่าตัวเองมีโลภะ กำลังชอบใจ พอใจ สนุกสนานสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ที่น่าเพลิดเพลินทางใจ ก็ลืมว่าในขณะนั้นมีโลภะ
เพราะฉะนั้น พระอภิธรรมจึงได้แสดงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นโลภะว่า เกิดขึ้นเมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และเป็นเรื่องราวที่วิจิตรต่างๆ ของแต่ละบุคคล
และพระสูตรได้กล่าวถึงความเป็นไปของอกุศลจิต และกุศลจิตอย่างละเอียด อย่างเช่น เจ้าศากยะได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคประทับที่สัณฐาคารที่สร้างเสร็จก่อน เพื่อให้เป็นสิริมงคลแห่งการเจริญในธรรมของเจ้าศากยะทั้งหลาย เพราะเมื่อ พระผู้มีพระภาคเสด็จมา พระองค์ย่อมทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์เจ้าศากยะ ซึ่งประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่หรืออาคารใหม่ โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาถวายภัตตาหาร เป็นการใช้อาคารสถานที่นั้นก่อน เพื่อสิริมงคลนั้นก็สืบต่อมาจากการเจริญกุศลของพุทธบริษัท เช่น เจ้าศากยะนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้ทรงใช้สอยสัณฐาคารใหม่ก่อนนั่นเอง
ถ . พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์เจ้าศากยะจึงทรงใช้สัณฐาคารนั้นให้ครบ ๔ อิริยาบถ เพื่อให้เจ้าศากยะได้ประโยชน์สุขตลอดสิ้นกาลนาน แต่ถ้าพระผู้มีพระภาค ใช้ไม่ครบทั้ง ๔ อิริยาบถ บุญที่เจ้าศากยะได้ทำไว้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เจ้าศากยะสิ้นกาลนานหรือไม่
สุ. ธรรมดาของผู้ที่กระทำบุญกุศล ย่อมมีอัธยาศัยต่างๆ กัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า เจ้าศากยะทั้งหลายประสงค์จะให้พระองค์ใช้สัณฐาคารนั้นทั้ง ๔ อิริยาบถ เมื่อทรงทราบอย่างนี้จึงได้ทรงอนุเคราะห์ เพื่อที่เจ้าศากยะเมื่อ ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ประทับ และทรงใช้สัณฐาคารนั้นทั้ง ๔ อิริยาบถ ความปลาบปลื้มปีติย่อมมีแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย เพราะเจ้าศากยะทั้งหลายประสงค์เช่นนั้น
ถ . ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงใช้ไม่ครบทั้ง ๔ อิริยาบถ อาจจะทำให้เกิดความเศร้าหมอง
สุ. แต่ทรงทราบว่า เจ้าศากยะมีความประสงค์อย่างไร และเจ้าศากยะเหล่านั้นจะเกิดความปลาบปลื้มปีติในกุศลมากอย่างไร ก็ทรงอนุเคราะห์อย่างนั้น
ถ . การกระทำกุศลใดๆ ผู้กระทำมีจิตที่เป็นกุศล มีความปลาบปลื้มมาก ผลที่จะได้รับจะก็มีอานิสงค์มาก ใช่ไหม
สุ. ใช่ เพราะว่ากุศลจิตยังเกิดหลังจากที่ทำกุศลกรรมนั้น คือ เวลาที่ระลึกถึงกุศลนั้นจิตก็ยังเป็นกุศลปลาบปลื้ม ทำให้กุศลนั้นเพิ่มพูนขึ้นอีก
ก็เป็นชีวิตในสังสารวัฏฏ์ แต่ละภพ แต่ละชาติ ซึ่งเหตุการณ์ก็ต่างกันไป เพราะว่าอดีตชาติของท่านทั้งหลาย เมื่อ ๒๐๐๐ ปีได้ทำบุญกุศลอย่างไรบ้าง ก็ไม่สามารถระลึกได้ แต่ว่าชาตินี้ทำอย่างไร อีก ๒๐๐๐ ปี ๓๐๐๐ ปี อีกแสนกัป ถ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์หนึ่งจะทรงพยากรณ์ว่า ในอดีตชาติท่านผู้นี้ได้กระทำกุศลอย่างนี้ ก็คือในขณะนี้กำลังเป็นชาติปัจจุบันของแต่ละท่านเองก็ได้
ที่มา ...