การยินดีในพระธรรม ประเสริฐกว่าความยินดีทุกชนิด
สำหรับตัวอย่างของผู้ที่เห็นว่า การฟังพระธรรม และการยินดีในพระธรรม ประเสริฐกว่าความยินดีทุกชนิด ขอยกตัวอย่างอุบาสิกาท่านหนึ่งในสมัย พระผู้มีพระภาค คือ ท่านกาฬี อุบาสิกาชาวกุรรฆรนคร ซึ่งท่านเป็นผู้เลิศกว่า อุบาสิกาสาวิกา ผู้เลื่อมใสโดยได้ยินได้ฟังตาม คือ ท่านไม่ได้พบพระผู้มีพระภาคเลย ไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่ท่านสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันได้
เรื่องมีว่า
ท่านเป็นมารดาของท่านโสณโกฏิกัณณะ ซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีถ้อยคำไพเราะ เดิมท่านกาฬีอุบาสิกาเป็นชาวเมืองราชคฤห์ แต่เมื่อท่านแต่งงานแล้ว ท่านก็ไปอยู่ที่กุรรฆรนคร ในอวันตีชนบท เมื่อท่านมีครรภ์แก่ ท่านก็กลับไปบ้านบิดามารดาของท่านที่เมืองราชคฤห์ตามประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วได้ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ ราวป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี นอกจากท่านอัญญาโกณฑัญญะแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก และขณะที่ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอยู่นั้น สาตาคิรยักษ์ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แต่เมื่อไม่เห็นเหมวตยักษ์ผู้เป็นสหายในที่นั้น ก็คิดที่จะไปแสดงคุณของพระผู้มีพระภาคให้สหายฟัง
ขณะนั้นเหมวตยักษ์เห็นดอกไม้บานสะพรั่งในป่าหิมพานต์ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ฤดูกาล จึงคิดที่จะไปชวนสาตาคิรยักษ์ผู้เป็นสหายให้มาเที่ยวชมดอกไม้ในป่า
ทั้งสอง และบริวารได้มาพบกันเหนือเขตบ้านของกาฬีอุบาสิกาที่ชายเมือง ราชคฤห์ เมื่อไต่ถามกันแล้ว สาตาคิรยักษ์ก็ได้กล่าวแก้ปัญหาทั้งหลายที่เหมวตยักษ์ถาม และได้สรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาค ตามข้อความใน เหมวตสูตร ในขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่นั้น เหมวตยักษ์ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แม้กาฬีอุบาสิกาก็ได้บรรลุพระโสดาบันในขณะฟังธรรมที่สาตาคิรยักษ์แสดงแก่เหมวตยักษ์ และได้ให้กำเนิดท่านพระโสณโกฏิกัณณะในคืนนั้นนั่นเอง ในคืนที่ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน
เมื่อท่านอยู่ในเรือนของสกุลของท่านพอสมควรแล้ว ท่านก็พาโสณกุมารกลับไปยังกุรรฆรนคร และได้เป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหากัจจายนะ ซึ่งเป็นภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร
ต่อมาโสณกุมารบุตรของท่านก็คุ้นเคยใกล้ชิดกับท่านพระมหากัจจายนะ และมีศรัทธาที่จะบวชเป็นสามเณรในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ ซึ่งแม้ว่า ท่านปรารถนาจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ตาม แต่เมื่อมีภิกษุไม่ครบองค์ที่จะ อุปสมบทให้ ท่านก็ต้องเพียงบรรพชาเป็นสามเณร แล้วต้องรอไปจนประมาณ ๓ ปี จึงได้ภิกษุครบองค์ที่จะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และท่านได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่พระวิหารเชตวัน เพื่อขอพรในเรื่องพระวินัยแด่พระผู้มีพระภาค ซึ่งกาฬีอุบาสิกาก็ได้มอบผ้ากัมพลผืนหนึ่งให้ถวายพระผู้มีพระภาค เพื่อปูลาดที่พื้นพระคันธกุฎีของ พระผู้มีพระภาคด้วย
พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งให้ท่านพระอานนท์จัดให้ท่านพระโสณะอยู่ใน พระคันธกุฎีกับพระองค์ด้วย และเมื่อทรงลุกจากที่พระบรรทมภายหลังมัชฌิมยามแล้ว ได้ตรัสให้ท่านพระโสณะแสดงธรรม ท่านพระโสณะก็ได้แสดงธรรมด้วยเสียง และ บทที่ไพเราะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงประทานสาธุการ แม้เทพยดาทั้งหลาย และเทพ ผู้สถิตในเรือนของกาฬีอุบาสิกาในกุรรฆรนคร ซึ่งไกลจากพระวิหารเชตวันประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ก็ได้ให้สาธุการด้วย
เมื่อท่านพระโสณโกฏิกัณณะกลับไปสู่กุรรฆรนครแล้ว กาฬีอุบาสิกาก็ขอให้ท่านแสดงธรรมแก่ท่านด้วย ซึ่งท่านกาฬีอุบาสิกาก็ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อทำการบูชาแล้วก็ได้พาคนในบ้านทั้งสิ้นไปฟังพระธรรม โดยให้หญิงทาสีคนเดียวเฝ้าเรือนไว้
ในเวลานั้น มีพวกโจรที่มองหาช่องในเรือนของอุบาสิกานั้น ซึ่งเรือนของอุบาสิกากาฬีล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น มีซุ้มประตู ๗ ประตู และล่ามสุนัขที่ดุไว้ที่ ซุ้มประตูทุกประตู นอกจากนั้นยังขุดคูไว้ที่น้ำตกแห่งชายคาภายในเรือน และใส่ดีบุกจนเต็ม เวลากลางวันดีบุกนั้นปรากฏเป็นประดุจว่าละลายเดือดพล่านอยู่เพราะแสงอาทิตย์ ในเวลากลางคืนปรากฏเป็นก้อนแข็งกระด้าง และยังปักขวากเหล็กใหญ่ไว้ที่พื้นในระหว่างคูนั้นติดๆ กันไปด้วย พวกโจรเหล่านั้นไม่ได้โอกาส เพราะเหตุว่าการรักษาซุ้มประตูเป็นไปอย่างเคร่งครัด และอุบาสิกานั้นก็อยู่ในเรือนด้วย
วันนั้นเมื่อพวกโจรทราบว่า อุบาสิกาไปฟังธรรม ก็ได้จัดการขุดอุโมงค์เข้าไป สู่เรือน แล้วส่งหัวหน้าโจรไปสู่สำนักของท่านพระโสณะที่กำลังแสดงธรรม แล้วสั่งว่า ถ้าอุบาสิกากลับมาบ้านเพราะรู้ว่าพวกเราเข้าไปในบ้าน ก็ให้ฟันอุบาสิกานั้นให้ ตายเสียด้วยดาบ ซึ่งหัวหน้าโจรนั้นก็ไปยืนอยู่ในสำนักที่อุบาสิกากำลังฟังธรรม แล้วพวกโจรก็จุดไฟให้สว่างภายในบ้าน เปิดประตูห้องเก็บกหาปนะ
เมื่อนางทาสีเห็นพวกโจรนั้น ก็รีบไปบอกอุบาสิกาว่า โจรเป็นอันมากเข้าไป สู่เรือน ขณะนี้กำลังงัดประตูห้องเก็บกหาปนะแล้ว
อุบาสิกากล่าวว่า ให้พวกโจรขนกหาปนะที่ตนค้นพบแล้วไปเถอะ เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย เจ้าจงไปเรือน เสียเถิด
นี่คือผู้ที่เห็นประโยชน์ในการฟังธรรม เพราะว่าเงินทองไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพวกโจรจะนำเงินออกจากห้องเก็บเงินไปทั้งหมด ก็ไม่ควรที่จะต้องให้อุบาสิกากลับไป
เมื่อพวกโจรเก็บกหาปนะในห้องเก็บกหาปนะหมดแล้ว ก็งัดห้องเก็บเงิน นางทาสีก็ไปแจ้งเรื่องให้อุบาสิกานั้นฟังอีก ซึ่งอุบาสิกาก็กล่าวว่า พวกโจรจงขนเอาทรัพย์ที่ปรารถนาไปเถอะ เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย แล้วให้นางทาสีนั้นกลับไปอีก
พวกโจรก็เก็บเงินในห้องเก็บเงินหมดแล้ว ก็งัดห้องเก็บทอง นางทาสีก็ไปแจ้งเรื่องนั้นให้อุบาสิกาฟังอีก
ครั้งนั้น อุบาสิกาเรียกนางทาสีมาแล้วพูดว่า เจ้ามาที่นี้ มาบอกเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า ให้พวกโจรขนเอาไปตามชอบใจเถอะ เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย ก็หาเอื้อเฟื้อถ้อยคำของเราไม่ ยังขืนมา ซ้ำๆ ซากๆ ร่ำไป ทีนี้ถ้ามาอีกจะถูกลงโทษ แล้วก็ให้ทาสีกลับไป
บางท่านไม่ทราบว่า ขณะที่ผู้อื่นกำลังฟังธรรม หรือกำลังทำกุศลประการหนึ่งประการใด และมีอุปสรรคโดยการขัดขวางของท่าน เท่ากับว่าท่านปล้นบุคคลนั้น เพราะบุคคลนั้นกำลังจะได้สมบัติซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐ แต่มีเหตุที่ทำให้เขาไม่ได้สมบัตินั้น อย่างเช่น น้องชายของท่านพระสารีบุตรคนสุดท้าย มารดาของท่าน ไม่ปรารถนาที่จะให้ท่านบวช ปรารถนาที่จะให้ท่านแต่งงาน ซึ่งท่านก็ทำอุบาย ค่อยๆ หนีไปทีละเล็กทีละน้อย วิ่งไปเรื่อยๆ ในที่สุดไปถึงสำนักของสงฆ์ ก็ขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ภิกษุทั้งหลายก็ไม่บวชให้ ท่านก็ร้องว่า โจรปล้นแล้ว โจรปล้นแล้ว เพราะว่าท่านกำลังจะได้สมบัติอันเกิดจากการบวช แต่พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้บวช ให้ท่าน ซึ่งภิกษุทั้งหลายไม่เห็นโจรเลย แต่ได้ยินท่านเรวตะกล่าวว่า โจรปล้น โจรปล้น ก็แปลกใจว่าโจรที่ไหนปล้น ความจริงภิกษุทั้งหลายนั่นเองกำลังปล้นทรัพย์ ที่น้องชายของท่านพระสารีบุตรควรจะได้
สำหรับอุบาสิกาท่านนี้ ท่านเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม แม้ว่าโจรจะเข้าไปเอาทรัพย์สมบัติในบ้านแล้ว ท่านก็ยังคงปรารถนาที่จะฟังธรรมต่อไป
เมื่อนายโจรได้ฟังถ้อยคำของอุบาสิกานั้นแล้วก็คิดว่า ไม่ควรนำทรัพย์ของหญิงเห็นปานนี้ไปเลย และได้กลับไปที่บ้านของอุบาสิกา สั่งให้พวกโจรทั้งหลายขนทรัพย์ของอุบาสิกาเข้าไปเก็บไว้ตามเดิมโดยเร็ว
โจรเหล่านั้นก็เก็บกหาปนะเต็มห้องกหาปนะเหมือนเดิม และเก็บเงิน และทองไว้ในห้องเก็บเงิน และทองตามเดิม
ได้ยินว่า ความที่ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นธรรมดา เพราะ เหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมแลย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ นี่เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
เมื่อพวกโจรได้ไปยืนอยู่ในที่ฟังธรรม เมื่อพระเถระแสดงธรรมจบแล้ว หัวหน้าโจรได้หมอบลงแทบเท้าอุบาสิกา ขอให้อุบาสิกายกโทษให้ และขออุปสมบทใน พระธรรมวินัย
เพราะฉะนั้น เรื่องที่เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม บ่อยๆ เนืองๆ ก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงจิตใจของผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเลื่อมใส จนแม้โจรปล้นบ้านก็ไม่เดือดร้อน กับจิตใจของท่านผู้ฟังที่ยังมีความยินดีในทรัพย์ ยินดีในวัตถุสิ่งของต่างๆ และเมื่อไรจิตใจจะถึงระดับของอุบาสิกานั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องอบรม และเป็นผู้ที่สังเกตจิตใจว่า เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน ยังมีความติดในวัตถุ ในทรัพย์ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญมากน้อยเพียงใด
ถ้าเป็นอย่างอุบาสิกาท่านนั้น ทุกคนจะได้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ คือ แม้แต่โจรปล้นบ้านก็ไม่เดือดร้อน
มีท่านผู้ฟังกล่าวว่า ก่อนที่ท่านจะเข้าใจข้อความที่เป็นคำเตือน เป็นพระธรรมเทศนา เป็นอนุสาสนี เป็นโอวาทในชาดก ท่านไม่สนใจชาดกเลย เพราะท่านคิดว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ คล้ายๆ กับเป็นนิทาน แต่เมื่อได้เห็นว่า ชีวิตของสาวก แต่ละท่านก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านต้องมีการอบรมเจริญปัญญาทุกด้าน เป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้อกุศลของตนเอง และเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลแต่ละชาติๆ โดยเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำให้ท่านอ่านชาดกด้วยความสนใจ และเห็นประโยชน์ของพระธรรมแม้ในชาดกต่างๆ เพราะเป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละท่าน
ถ้าท่านผู้ฟังจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป พระผู้มีพระภาคอาจจะแสดงอดีตชาติของท่านผู้ฟังชาติหนึ่งในขณะนี้ว่า มีความคิดที่เป็นกุศลอกุศลมากน้อยแค่ไหน เป็นผู้ที่มีอธิษฐานบารมี ความ ตั้งใจมั่น และมีสัจจบารมี ความจริง ความตรงต่อความตั้งใจมั่นนั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เพียงได้ฟังพระธรรมในชาติหนึ่ง และสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องอีกมากมายหลายชาติทีเดียว
ถ. ขณะนั้นอุบาสิกาเป็นพระโสดาบันแล้ว ใช่ไหม
สุ. เป็นพระโสดาบันแล้ว
ถ. ก็คงจะไหว ถ้าเป็นอย่างผม ขณะนี้ถ้าใครมาบอกว่า ไฟกำลังไหม้บ้าน หรือโจรปล้น ก็คงจะไปก่อน ไม่อยู่ฟังธรรมอาจารย์
สุ. แล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าจิตใจยังไม่มั่นคงอย่างพระโสดาบัน อย่างอุบาสิกาท่านนั้น ทุกคนจะทำ จะพูด จะคิด ไม่มีใครสามารถบังคับได้ แล้วแต่ เหตุปัจจัยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดๆ หรือเพียงการพูด การคิด ก็ต้องเกิดจากการสะสม ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว สะสมมาแล้วมากในชาติก่อนๆ จนกระทั่งการพูด การคิด การกระทำในชาตินี้เป็นอย่างนี้ และที่จะเป็นต่อๆ ไป ในชาตินี้ และในชาติหน้า ก็เพราะการสะสมซึ่งกำลังสะสมอยู่เรื่อยๆ
ที่มา ...