ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต


    ถ้าจะพิจารณาเพื่อให้เกิดความสลด และเกิดวิริยะที่จะเห็นประโยชน์ของ การเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คงไม่ลืมข้อความที่ว่า

    จิต และเจตสิกคือธรรมทั้งหลาย ออกไปภายนอกจากอารมณ์ของภวังค์ สู่อารมณ์อื่นคือรู้อารมณ์อื่น แล้วก็กลับเป็นภวังคจิตอย่างรวดเร็ว

    เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่า ชั่วขณะๆ ซึ่งข้อความใน อรรถกถาสังขารยมก มีข้อความสั้นๆ คือ

    ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต

    จิตเจตสิกทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์ ย่อแล้วมีข้อความสั้นๆ ว่า ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต

    ปฐมจิต หมายถึงภวังค์ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิ เมื่อมีปฏิสนธิ การเกิดขึ้น ชั่วขณะเดียวขณะแรก และดับไป หลังจากนั้นแล้วเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น ภวังค์ทั้งหมดเป็นปฐมจิต เพราะว่าเหมือนกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติไว้ ไม่มีอะไรต่างในขณะที่กำลังเป็นภวังคจิต

    อาวัชชนจิต ชื่อว่าทุติยจิต เพราะว่าเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์สู่อารมณ์อื่น และเร็วมาก ทางตาที่เห็นเป็นกุศล เป็นอกุศล และกลับเป็นภวังค์อีก ทางหูที่ได้ยิน เป็นกุศล เป็นอกุศล และกลับเป็นภวังค์อีก

    ไม่ว่าใครจะริษยา ใครจะผูกโกรธ หรือจะเป็นกุศลประเภทใดๆ ก็ตาม สภาพธรรมไม่มีสาระ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย และกลับเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว ในวันหนึ่งๆ และตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ ก็เพียงแต่ ปฐมจิต ทุติยจิต คือ ออกไปสู่อารมณ์อื่น และกลับสู่ภวังค์เท่านั้นเองจริงๆ จนกว่าจะถึงปัจฉิมจิต คือ จุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายจริงๆ

    ถ้าจะพิจารณาให้เห็นสภาพธรรมในความไม่มีสาระ ชาติก่อนๆ จะเคย สุขสำราญ จะเคยมีปราสาทราชวัง จะเคยมีผู้ที่ผูกโกรธอาฆาตริษยาต่างๆ ก็ผ่าน ไปแล้วหมด ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ ชาติก่อนเป็นอย่างนั้นฉันใด ชาตินี้ก็เป็น อย่างนั้นแหละ และชาติต่อๆ ไปก็จะเป็นอย่างนี้

    และถ้าสรุปจิตจริงๆ ก็มีแต่ปฐมจิต ทุติยจิต จนกว่าจะถึงปัจฉิมจิตเมื่อไร เมื่อนั้นก็ทราบได้ว่า ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน ตราบนั้นก็เหมือนคนที่ทำการงาน ที่รอเวลาเลิกงานเท่านั้น เพราะว่าต้องมีกรรมที่ให้ผลจนกว่าจะถึงปรินิพพาน โดย ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ไม่มี กิเลสใดๆ เลยหลังจากบรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ปัจฉิมจิต คือ จิตสุดท้าย เป็นจุติจิตของพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น วันนี้ไม่มีสาระเลย เหมือนชาติก่อนๆ ไม่ว่ากุศล อกุศล ก็คือ ปฐมจิต ทุติยจิต เท่านั้นเอง แต่ยังไม่ถึงปัจฉิมจิต เพราะยังคงต้องมีปฐมจิต และทุติยจิต อบรมเจริญปัญญาเรื่อยไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงการดับ กิเลสหมดเป็นสมุจเฉท เป็นพระอรหันต์

    จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาไม่เกิด และยังเป็นผู้ที่หลงติดยินดีในชั่วขณะจิต ที่ออกจากภวังค์มารู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง เพียงสั้นๆ และกลับเป็นภวังค์อีก ด้วยความไม่รู้ ก็จะทำให้มีอวิชชาหรือว่ากิเลสเพิ่ม

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีข้อความว่า

    กามทั้งหลาย (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) มีความยินดีน้อย (แต่) มีการผูกพันด้วยสิ่งที่ไม่มีประโยชน์มากมาย

    รูปที่น่าพอใจทางตา เสียงที่น่าพอใจทางหู สั้นๆ น้อยมาก ถ้าจะให้เกิด ความยินดีก็ให้เกิดความยินดีเพียงเล็กน้อย แต่โทษคือการผูกพันด้วยสิ่งที่ ไม่มีประโยชน์มากมาย

    ดุจลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด

    กล้าไหม ลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด ทุกคนกำลังกล้ามาก ที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่แสนสั้น และเป็นโทษ

    เพราะตั้งอยู่บนความเศร้าหมองทั้งสิ้น เพราะคับแค้นมากด้วยบุตรภรรยา เป็นต้น เพราะวุ่นวายด้วยการตั้งใจทำการงานหลายอย่างมีกสิกรรม และพาณิชยกรรมเป็นต้น

    นี่คือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ท่านที่ยังไม่มีครอบครัว คงไม่รู้ถึงความคับแค้นมากด้วยบุตรภรรยา แต่ท่านที่มีครอบครัวแล้วคงพิจารณาได้ว่า เป็นความจริง แต่แม้กระนั้นผู้ที่ไม่มีครอบครัว ตัวคนเดียว คิดว่าไม่ต้องดิ้นรนเดือดร้อนเท่าผู้ที่มีครอบครัว ก็ไม่หายวุ่น ไม่ใช่ว่าไม่มีครอบครัวจะไม่วุ่น แม้ไม่มีครอบครัวก็ยังวุ่นวาย ด้วยการตั้งใจทำการงานหลายอย่างมีกสิกรรม และพาณิชยกรรมเป็นต้น

    ได้เวลานิดหน่อย ดุจการฟ้อนรำที่ต้องใช้แสงไฟ

    เวลาที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพียงเล็กน้อยจริงๆ ชั่วขณะที่ออกจากภวังค์มารู้อารมณ์ภายนอก อุปมาเหมือนกับ ได้เวลานิดหน่อย ดุจการฟ้อนรำที่ต้อง ใช้แสงไฟ

    ได้สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า

    ไม่ว่าจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เหมือน ได้สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า เป็นการตอบแทน ท่านอาจจะเป็นผู้ที่ มีการงานสำคัญ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีตำแหน่ง มีเกียรติยศ แต่ให้ทราบว่า นั่นคือ สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า

    ดุจปกปิดไว้ด้วยคูถ ไม่อิ่ม ดุจดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ

    ไม่มีใครอิ่มในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความไม่อิ่มของทุกคนเปรียบเหมือนดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะอิ่มได้

    มีความไม่สบาย ดุจบริโภคอาหารในเวลาหิว เป็นเหตุรวมความพินาศ ดุจเหยื่อที่เบ็ด เป็นเหตุเกิดทุกข์ใน ๓ กาล ดุจความร้อนของไฟ มีการผูก เป็นเครื่องหมาย ดุจยางดักลิง เป็นที่ตั้งแห่งภัย ดุจอยู่บ้านศัตรู

    อยู่บ้านท่านเองปลอดภัย ใช่ไหม แต่เวลาที่อยู่บ้านศัตรูจะเกิดอันตรายวันไหนเมื่อไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้น การที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในกามทั้งหลาย ได้รับทุกข์โทษเพราะกามทั้งหลายเมื่อไร ก็เหมือนกับ อยู่บ้านของศัตรู

    เป็นเหยื่อของกิเลสมารเป็นต้น ดุจเลี้ยงศัตรู มีทุกข์เกิดจากการปรวนแปรไป ดุจสมบัติมหรสพ

    ในละคร ในหนัง ทุกคนก็เห็นปราสาทราชวัง มีสมบัติมากมาย แต่ก็เป็นเพียงสมมติในเรื่องเท่านั้นเอง

    มีการเผาภายใน ดุจไฟในโพรงไม้ … เป็นเหตุแห่งความกระหาย ดุจดื่มน้ำเค็ม การเสพของชนชั้นต่ำ ดุจสุราเมรัย

    เพราะเหตุว่าเป็นความหลงผิดในกามทั้งหลายนั่นเอง

    ถ้าเห็นโทษเห็นภัยอย่างนี้ ทุกคนคงจะมีวิริยะเป็นบารมีที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และที่ได้ฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซ้ำไปซ้ำมา ก็เพื่อให้สติสัมปชัญญะสามารถรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1899


    หมายเลข 13117
    20 ก.ย. 2567