เรื่อง สีหเสนาบดี*


    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เรื่อง สีหเสนาบดี มีข้อความว่า

    สีหเสนาบดีทรงดำริเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย และเวลานั้น สีหบดีสาวกของนิครนถ์นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้จึงได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วจึงได้เข้าไปหานิครนถ์นาฎบุตรถึงสำนัก

    ครั้นแล้วไหว้นิครนถ์นาฏบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้แจ้งความประสงค์นี้แก่นิครนถ์นาฏบุตรว่า

    ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม

    นิครนถ์นาฏบุตรมีความเห็นผิด และท่านสีหเสนาบดีก็เป็นสาวกของท่าน แต่ เพราะว่าเป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยในอดีตที่ต้องการจะรู้ความจริงอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเจ้าลิจฉวีทั้งหลายสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็มีความประสงค์ที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ติดอยู่แต่ที่นิครนถ์นาฏ-บุตร แต่ก่อนที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั้นได้ไปหานิครนถ์นาฏบุตร และได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรว่า

    ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม

    นิครนถ์นาฏบุตรจะให้ไปไหม ทำไมจะต้องกลัวเกรงการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถ้าพระองค์ตรัสผิด ทรงแสดงธรรมผิด บุคคลนั้นมีสิทธิ มีโอกาสที่จะพิจารณาธรรมนั้นได้เองว่า มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล

    ข้อความต่อไป

    อกิริยวาทกถา นิครนถ์นาฏบุตรพูดค้านว่า

    ท่านสีหะ ก็ท่านเป็นคนกล่าวการทำ ไฉนจึงจักไปเฝ้าพระสมณโคดมผู้เป็นคนกล่าวการไม่ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น

    นิครนถ์ไม่ได้พระฟังธรรมโดยตลอด ฟังเพียงบางส่วน แล้วก็ยกบางส่วนนั้นขึ้นมาตำหนิ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขณะนั้นความตระเตรียมในอันที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดีได้เลิกล้มไป แม้ครั้งที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก ได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย ท่านสีหเสนาบดีก็ได้คิดเป็นครั้งที่ ๓ ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้ จึงได้มานั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย

    ก็พวกนิครนถ์ เราจะบอก หรือไม่บอก จะทำอะไรแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยทีเดียว ถึงเวลาบ่าย สีหเสนาบดีออกจากพระนครเวสาลีพร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไปด้วยยวดยานตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะผ่านไปได้ แล้วลงจากยวดยาน เดินเข้าไปถึงพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ยับยั้งสีหเสนาบดีได้ไหม ไม่ได้ แต่อาจจะยับยั้งคนอื่นได้ คนอื่นที่ไม่ไปก็เพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาพร้อมที่จะพิจารณาว่า การไปเฝ้า การไปฟังธรรมนั้น ไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรเลย

    เมื่อสีหเสนาบดีนั่งแล้ว ก็ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

    พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น บุคคลจำพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้นั้น ได้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง กล่าวอ้างเหตุสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่สมควรพูดบางอย่างที่มีเหตุผล จะไม่มาถึงฐานะที่วิญญูชนจะติเตียนบ้างหรือ เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 194

    ถึงแม้ว่าจะได้ฟังจากอาจารย์ของตนที่กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้น ท่านก็นำข้อความนั้นมาสอบทาน กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนว่าถูกผิดอย่างไร นี่เป็นลักษณะของบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการเหตุผล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    พระองค์ตรัสทั้งการไม่ทำ และการทำ แต่นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวกะท่านสีหเสนา-บดีเพียงประการเดียว คือกล่าวว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ

    ต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรม เพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านสีหเสนาบดีว่า

    ดูกร สีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล

    เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    ถ้าไม่มีสติขั้นวิรัติ จะละเว้นกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตไม่ได้ สติระลึกรู้ได้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เว้น ที่วิรัติ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเรากล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าวการทำสิ่งที่เป็นกุศลหลายอย่างนี้แล

    เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล

    เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อ ความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล

    เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    พระผู้มีพระภาคทรงรังเกียจอกุศลทุกประเภท ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ท่านผู้ฟังรังเกียจโลภะบ้างไหม สภาพที่เพลิดเพลินยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ ซึ่งเป็นเหตุ เป็นสมุทัยที่จะให้มีการเกิดอีก เห็นอีก ได้ยินดีอีก ได้กลิ่นอีก รู้รสอีก รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง โผฏฐัพพะอีก ไม่เบื่อ เมื่อวานนี้ก็เห็น ก็ยังอยากจะเห็นอย่างนั้นอย่างนี้อีก เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้ก็จะเห็นต่อไปอีก ภพชาติต่อๆ ไปก็ไม่พ้นจากการที่มีความติดข้อง ยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสถานะที่เป็นอกุศลหลายอย่างนี้แล

    เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    จะกำจัดราคะ โทสะ โมหะ ถ้าไม่เจริญสติกำจัดได้ไหม

    ท่านที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จะแสดงวิธีกำจัดราคะ โทสะ โมหะได้อย่างไรให้เป็นสมุจเฉท กำจัดให้ขาดสูญเป็นสมุจเฉททีเดียว ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คิดวิธีอื่นที่กำจัดราคะ โทสะ โมหะ โดยไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ลองดูว่าจะสำเร็จได้ไหม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่า เป็นธรรมควรเผาผลาญ

    ธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดได้ละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ

    ดูกร สีหะ ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดานี้แล

    เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    ถ้าท่านผู้ฟังจะอนุเคราะห์มิตรสหายให้เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เผาความไม่รู้ลักษณะของนาม ลักษณะของรูปในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ชื่อว่าท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ผู้อื่นให้เผาผลาญอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของนาม และรูป และเผาผลาญทิฏฐิ ความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ผุดเกิด

    ดูกร สีหะ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา

    นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    ดูกร สีหะ อนึ่งเหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

    ดูกร สีหะ เพราะเราเบาใจด้วยธรรม ที่ให้เกิดความโล่งใจอย่างสูง และเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้นนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

    ถ้าไม่ทราบว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม หนักใจไหม

    เวลาที่อกุศลจิตเกิด หรือเวลาที่เจ็บปวด ป่วยไข้ มีทุกขเวทนากำลังเกิดขึ้นปรากฏ ก็เดือดร้อน กระวนกระวาย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    แต่หากท่านระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมมากขึ้น ทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น จะทราบว่าในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญใดๆ ก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่มีการยึดมั่น ไม่ว่าสุข ว่าทุกข์ใดๆ ไม่ว่าเป็นลาภ ก็ไม่เพลิดเพลินยิ่งนัก ไม่ว่าเสื่อมลาภก็ไม่เศร้าโศกยิ่งนัก อย่างนี้จะเบาใจไหม

    แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด ทำอย่างไรๆ จะเบาใจหรือว่าโล่งใจถึงขั้นนั้นก็ไม่ได้ ก็ยังคงหนักใจ จะตัดใจคิดเสียว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนี้ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ถึงความเบาใจ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านสีหเสนาบดีได้กราบทูลคำนี้แด่พระ ผู้มีพระภาคว่า

    ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้

    ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

    ทิ้งนิครนถ์นาฏบุตรผู้เป็นอาจารย์ได้ไหม เพราะว่าทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นความจริง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ก็ทำให้ท่านได้ทราบชัดถึงเหตุผลที่ถูกต้อง

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านสีหเสนาบดีว่า

    ดูกร สีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ

    คือ ขอให้คิดดีๆ เสียก่อนในการที่จะเป็นผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต เพราะเหตุว่าท่านสีหเสนาบดีนั้น ท่านเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำจริง ไม่ใช่ว่ากลับไปกลับมา

    ซึ่งท่านสีหเสนาบดีก็ได้กราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดี พอใจยิ่งกว่าคาดหมายไว้ เพราะพระองค์ตรัสอย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกร สีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำเป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ ความจริงพวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พึงยกธงเที่ยวประกาศทั่วพระนครเวสาลีว่า สีหเสนาบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพวกเราแล้ว แต่ส่วนพระองค์สิมาตรัสอย่างนี้กับข้าพระพุทธเจ้าว่า

    ดูกร สีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำเป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้-มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า

    นี่เป็นครั้งที่ ๒ ที่ท่านยิ่งชื่นชม พอใจยิ่งกว่าที่คาดหมายไว้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรองพวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุ นั้น เธอพึงสำคัญเห็นบิณฑบาตว่า เป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้น ผู้เข้าไปถึงแล้ว

    ไม่ได้ทรงจำกัดให้สีหเสนาบดีให้ทานแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่ากุศลจิตควรเจริญทั้งสิ้น โดยฐานะของการอนุเคราะห์ ไม่ใช่โดยฐานะที่จะส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าความเห็นผิด ถ้าโดยฐานะที่ว่า ผู้นั้นกำลังอยู่ในสภาพที่ควรจะอนุเคราะห์อย่างยิ่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ก็ควรจะอนุเคราะห์ แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในฐานะที่จะอนุเคราะห์ แต่ท่านมีศรัทธาที่จะไปส่งเสริมความเห็นผิดนั้นให้เจริญแพร่หลายขึ้น อย่างนั้นก็ไม่ถูก

    ซึ่งสีหเสนาบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดี พอใจยิ่งกว่าคาดหมายไว้ เพราะพระองค์ตรัสอย่างนี้กับข้าพระพุทธเจ้าว่า นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรองพวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญบิณฑบาตว่า เป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้น ผู้เข้าไปถึงแล้ว ดังนี้

    ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระสมณโคดมรับสั่งอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราผู้เดียว ไม่ควรให้ทานแก่คนพวกอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น เพราะทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่คนพวกอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของศาสดาอื่น ไม่มีผลมาก

    แต่ส่วนพระองค์ทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ แม้ในพวกนิครนถ์ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจักรู้กาลในข้อนี้เอง ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า

    ท่านรู้ว่าท่านควรให้ในฐานะอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สีหเสนาบดีได้ธัมมจักษุ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา แก่สีเสนาบดี คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า สีหเสนาบดีมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่สีหเสนาบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า

    สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น

    ชีวิตธรรมดาใช่ไหม ไปเฝ้า และกราบทูลสนทนากับพระผู้มีพระภาคด้วยเรื่องธรรมดาๆ แต่เมื่อพระองค์ทรงแสดงทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม และทรงแสดงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    ท่านสีหเสนาบดีผู้ได้อบรมอินทรีย์แล้ว ก็บรรลุอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคล ณ ที่นั่งนั้นนั่นแล

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 195

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นสีหเสนาบดีเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระ-ภาคว่า

    ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศล และปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นสีหเสนาบดีทราบอาการที่ทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป

    ต่อมาสีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า

    พนาย เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสดที่เขาขาย

    แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอันประณีต โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้มหาดเล็กไปกราบทูลภัตรกาลแก่พระผู้มีพระภาคว่า

    ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว

    ที่ว่า ท่านสีหเสนาบดีได้สั่งมหาดเล็กผู้หนึ่งว่า จงไปหาซื้อเนื้อสดที่เขาขาย แล้วก็สั่งให้เขาตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านไม่มีเจตนาที่จะให้ฆ่าสัตว์ในการที่จะทำบุญ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร จีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางนิเวศน์ของสีหเสนาบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์

    ก็โดยสมัยนั้นแล พวกนิครนถ์เป็นอันมาก พากันประคองแขน คร่ำครวญไปตามถนนหนทาง สี่แยก สามแยก ทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้ สีหเสนาบดีล้มสัตว์ของเลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบอยู่ ยังเสวยเนื้อนั้นที่เขาทำเฉพาะเจาะจงตน

    นี่เป็นความจริงหรือเท็จของพวกนิครนถ์ เกิดความเดือดร้อนทนไม่ไหวแล้ว ที่ท่านสีหเสนบดีเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

    ขณะนั้นมหาดเล็กผู้หนึ่ง เข้าไปเฝ้าสีหเสนาบดี ทูลกระซิบว่า ขอเดชะ ฝ่าพระบาทพึงทราบว่า นิครนถ์มากมายเหล่านั้นพากันประคองแขน คร่ำครวญไปตามถนนหนทาง สี่แยก สามแยก ทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้ สีหเสนาบดีล้มสัตว์ของเลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบอยู่ ยังเสวยเนื้อนั้นที่เขาทำเฉพาะเจาะจงตน

    สีหเสนาบดีตอบว่า

    ช่างเถิดเจ้า ท่านเหล่านั้นมุ่งติเตียนพระพุทธเจ้า มุ่งติเตียนพระธรรม มุ่ง ติเตียนพระสงฆ์มานานแล้ว แต่ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยถ้อยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่จริง ยังไม่หนำใจ ส่วนพวกเราไม่ตั้งใจปลงสัตว์จากชีวิต แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย

    ครั้งนั้น สีหเสนาบดีอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย- โภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธัมมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับไป

    เรื่องสีหเสนาบดีจบ

    เรื่องธรรมดาในครั้งโน้นที่ยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิกับผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    สำหรับพระผู้มีพระภาคเองนั้น ทรงทราบว่า ท่านสีหเสนาบดีได้ให้ภัตตาหารเป็นทานกับพวกนิครนถ์เป็นเวลานานมาแล้ว เพราะฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณา ก็ไม่ได้ทรงให้ท่านสีหเสนบดีหยุดการให้ภัตตาหารแก่พวกนิครนถ์นาฏบุตร แต่พวกนิครนถ์นาฏบุตรซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิก็ทนไม่ไหว แม้ข้อความใดที่ไม่จริง พวกนิครนถ์ก็กล่าวได้ นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิกับผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 196


    หมายเลข 13120
    21 ก.ย. 2567