สภาพรู้แข็งมี แต่ปัญญาไม่รู้ในสภาพรู้แข็ง


    โดยมากท่านผู้ฟังอยากให้ตอบว่า ถือ หรือ ไม่ถือ แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น

    . คำถามสืบเนื่องมาจากที่พระคุณเจ้าท่านถามเหมือนกัน ที่อาจารย์ ได้เรียนตอบท่านว่า สภาพรู้แข็งมี แต่ปัญญาไม่รู้ในสภาพรู้แข็ง ที่ว่าปัญญาไม่รู้ ในสภาพรู้แข็งนั้น อาจารย์หมายรวมถึงสติไม่ได้ระลึกในสภาพที่รู้แข็งนั้นด้วย ใช่ไหม

    สุ. เพราะปัญญาจะเกิดโดยสติไม่เกิดไม่ได้ สติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก ส่วนปัญญาไม่ใช่โสภณสาธารณะ แม้ว่าสติเกิด ปัญญาไม่เกิดก็ได้ แต่เมื่อปัญญาเกิด สติต้องเกิดกับปัญญา จะมีแต่ปัญญาเกิดโดยสติไม่เกิดไม่ได้เลย

    . ถ้าสติเกิดโดยปัญญาไม่เกิดร่วมด้วย เป็นญาณวิปปยุตต์

    สุ. ถูกต้อง

    . ถือว่าเป็นสติในขั้นสติปัฏฐานหรือเปล่า ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังอยากให้ตอบว่า ถือ หรือไม่ถือ แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น แต่ปัญญาเราสามารถรู้ได้ไหมที่ว่าเป็นอย่างนั้น กุศลจิตมี ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นญาณวิปปยุตต์ ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีกประเภทหนึ่งก็เป็นญาณสัมปยุตต์ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เราจะเห็นได้ชัดๆ คือ ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้นกระทำกิจรู้หรือเข้าใจ นั่นเป็นลักษณะ และ กิจของปัญญา ขณะนั้นรู้ได้ว่าเป็นปัญญาลักษณะนั้น แต่เวลาที่ความเข้าใจก็ดี หรือความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏไม่มี ขณะนั้นปัญญากำลังค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ลักษณะ และกิจของปัญญายังไม่ปรากฏที่จะสามารถกล่าวได้ว่า เป็นสภาพที่กำลังรู้หรือกำลังเข้าใจ แต่ก่อนที่จะรู้หรือจะเข้าใจ ต้องมีการเริ่ม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้ได้ทันทีในขณะนี้ ที่กำลังเห็นว่า เป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ และเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือสิ่งที่ได้ฟัง และกำลังเข้าใจ แต่การเข้าใจเป็นระดับขั้นหนึ่ง ยังไม่ใช่ การประจักษ์แจ้ง และยังไม่ใช่การหมดความสงสัย เพระฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองที่จะรู้ว่า ความรู้ขั้นฟังนั้นขั้นหนึ่ง แต่ขณะที่ฟัง และรู้ และเข้าใจเป็นปัญญาหรือเปล่า เป็น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ทำให้เกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น และเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าระลึกบ่อยๆ และฟังมาก เข้าใจมาก และระลึกอีก ฟังอีกเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความเข้าใจก็เพิ่มอย่างน้อยมาก จะต้องฟังอีกเพื่อเป็นพื้นฐานที่จะให้ เมื่อระลึกแล้วสามารถเข้าใจได้อีก ในขณะนั้นจะกล่าวว่า เป็นปัญญาหรือ มีปัญญาหรือเปล่า มี แต่ว่าน้อย เป็นการเริ่มต้น จนกระทั่งไม่สามารถสังเกตได้ ใช่ไหม

    ถ้าจะให้ตอบว่า เป็น หรือไม่เป็น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองว่า ในขณะที่ฟังมีความเข้าใจเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏกับสภาพรู้จริงๆ และขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ สติระลึก และค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ นี่ต่างกับไม่รู้เสียเลย ใช่ไหม เห็นก็เห็น แต่ไม่รู้ความจริงเลย ย่อมต่างกับเห็น และเคยได้ยิน เคยเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็ค่อยๆ หรือเริ่มที่จะเข้าใจขึ้น นี่คือการเจริญปัญญา จนกว่าจะถึงวาระที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น คงจะไม่ถามอีกเรื่องถือหรือไม่ถือ เป็นญาณสัมปยุตต์ หรือ เป็นญาณวิปปยุตต์

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1903

    . ท่านอาจารย์บอกว่า เริ่มจากฟัง และเข้าใจเป็นปัญญาขั้นหนึ่งที่จะทำให้สติระลึกได้ ในขณะที่สติระลึกเพราะเริ่มมาจากความเข้าใจที่ถูกต้อง สติระลึกแล้ว ในขณะนั้นไม่มีปัญญาประกอบด้วยก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. เราฟังเรื่องของการเห็นในขณะนี้ และฟังเรื่องของรูปที่กำลังปรากฏ สติก็ไม่ได้ระลึก ทั้งๆ ที่เห็น และฟังแล้ว และเข้าใจด้วย เข้าใจตามตำรา ตามความคิดนึก และในขณะที่กำลังเห็น ไม่ได้เข้าใจก็มี แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ผู้นั้นเป็นผู้รู้เองว่า กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีปัญญาของตนเองที่จะรู้ว่า เริ่มละคลายความไม่รู้ และเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ได้ แต่ต้องค่อยๆ เป็นทีละเล็กทีละน้อย

    ที่ใช้คำว่า น้อมพิจารณา หรือว่าน้อมรู้ หรือว่าน้อมไปสู่พระนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นตัวตนที่จะน้อม ขณะนี้ที่กำลังเห็น ให้น้อมไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า ขณะใดที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เริ่ม หรือค่อยๆ เข้าใจขึ้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด และเข้าใจขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือการน้อมไป ครั้งหนึ่ง เพราะการที่จะไปถึงนิพพานทันที หรือการที่จะดับความสงสัยทันที เป็นไปไม่ได้

    ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด และปัญญาเริ่มจะเข้าใจ นั่นคือการน้อมไป สติ และปัญญาน้อมไปสู่นิพพาน น้อมไปสู่การดับความสงสัย น้อมไปสู่การดับกิเลส แต่ไม่ใช่ตัวตนที่จะพยายามน้อมไปที่จะเข้าใจ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1904


    หมายเลข 13124
    23 ก.ย. 2567