ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ


    ต้องเข้าใจให้ถูกว่า ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ผมขอขยายความคำว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ

    ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ อย่างที่เราได้ฟังอาจารย์ เราก็ฟังกันมาหลายปี คำว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ในขณะที่อาจารย์บอกว่า สภาพธรรมมีปรากฏอยู่ ในขณะนี้ก็มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอยู่แล้ว ทำอย่างไรจึงจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ตรงนี้แหละผมก็อยากจะช้าๆ ค่อยๆ เข้าไป

    ผมฟังแล้วผมก็ค่อยๆ เข้าไปว่า ที่อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็ลืมตาเลย คือ เราลืมตาอยู่แล้ว แต่ในขณะนั้นสังเกต ผมใช้คำว่า สังเกต ดีกว่า ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร ตรงกับที่อาจารย์พูดไหม ตรงกับธรรมของ พระพุทธองค์ที่แสดงไว้ไหม นี่คือการค่อยๆ เข้าไปช้าๆ

    หลังจากได้มีการสังเกตสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว ต่อมาก็มีการสังเกตว่า เห็น เป็นอย่างไร สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรมแล้ว อาการที่เห็น สภาพเห็นเป็นอย่างไร ก็สังเกตว่าเป็นอย่างไร และเอาเรื่องจริงๆ ในชีวิตประจำวันมานั่งดูเลย แต่ไม่ใช่จ้อง ดูแล้วคล้ายกับจ้องเหมือนกัน แต่ไม่ได้จ้องเอาๆ เราสังเกตเอา ซึ่งภาษาธรรมใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ

    ผมใช้วิธีนี้ สังเกตเอาจากชีวิตประจำวันกับสิ่งที่อาจารย์พูดมา เราก็ค่อยๆ เข้าไป ค่อยๆ เข้าไป ค่อยๆ รู้ คือ สังเกตรูปธรรมนามธรรมนั่นเอง และวันหนึ่ง เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยพอแล้วก็จะมีการระลึกได้ ก็อยากจะเล่าสู่กันฟัง ไม่ทราบอาจารย์จะเพิ่มเติมตรงนี้อย่างไรบ้าง

    สุ. ให้เข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การทำ แต่เป็นการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าได้ยินคำว่า ปฏิบัติ และแปลมาตรงๆ ว่า ทำ ก็จะทำให้มีความเข้าใจผิดว่า ต้องไปทำสติปัฏฐาน หรือต้องทำสติปัฏฐาน แต่ความจริง สติ คือ สภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา คือ ความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง ในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังพิจารณาหรือกำลังค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นมรรคมีองค์ ๘ หรือเมื่อยังไม่ถึงโลกุตตรจิต ก็มีมรรคมีองค์ ๕ แน่นอน ขาดวิรตีเจตสิก ๓ ซึ่งได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเจตสิกทั้ง ๓ นี้จะเกิดไม่พร้อมกัน

    ถ้าเราจะไม่พูดเรื่องจำนวนว่า ๕ หรือ ๘ แต่หมายความว่ามรรคมีองค์ ๘ แม้ว่ายังเกิดไม่ครบ แต่ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ และมีสัมมาสมาธิเกิดแน่นอน ซึ่งในขณะนั้นสติเจตสิกที่เป็นมรรค กำลังทำงานของสติเจตสิก เหมือนกับในขณะนี้ ไม่ใช่เราจะทำเห็น แต่สภาพธรรม มีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจเห็น ไม่ใช่เราทำเห็น ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เป็นจิตประเภทไหน เกิดดับสืบต่อกันในวาระหนึ่งอย่างไร นั่นก็คือสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา ฉันใด การอบรมเจริญ สติปัฏฐานก็ไม่ใช่การที่เราจะไปทำ และต้องรู้ว่าเป็นขณะที่โสภณเจตสิกที่เป็นมรรค มีองค์ ๘ เกิดขึ้นทำกิจการงาน โดยเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้าเป็น อย่างนั้น ในขณะนั้นสติต้องเกิด และเป็นสติปัฏฐาน และปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย

    ต้องเข้าใจให้ถูกว่า ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1904


    หมายเลข 13126
    23 ก.ย. 2567