อ่านพระไตรปิฎกแล้ว อ่านไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ


    ส่วนใดที่ยังไม่เข้าใจ ลองอ่านอีก ตั้งใจอ่าน และพิจารณา ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นจริงๆ ไม่ได้ใส่ใจใคร่ครวญพิจารณา ตอนนั้นจริงๆ ก็ทำให้ไม่เข้าใจ ลองอ่านใหม่อีก และลองพิจารณาส่วนที่ไม่เข้าใจ


    อ.นิภัทร อาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกนั้นเป็นพุทธวจนะ เป็นตัวแทนของ พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมก็เป็นศาสดา เป็นครู เป็นอาจารย์แทนพระองค์ ที่ท่านตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว จะเป็นศาสดาแทนพระองค์แต่เราก็มีพระไตรปิฎกอยู่ในบ้าน ซื้อมา ๔ – ๕ พัน ก็ไม่ค่อยจะเปิดดู จะว่ามีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธาก็ไม่รู้ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ไม่ค่อยจะได้เปิดดูเท่าไร เพราะฉะนั้น เรื่องศรัทธาที่จะมีจริงๆ ต้องเกิดจากมีความเข้าใจ เพราะบางทีอ่านพระไตรปิฎกแล้ว อ่านไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ ยกตัวอย่างที่อาจารย์เคยพูดว่า สัตว์บุคคลเบื้องหน้าแต่ตายแล้วไปเกิดอีกหรือไม่ อะไรอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าคนมีกิเลสก็ต้องไปเกิดอีก แต่ พระพุทธองค์บอกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ ผมไม่เข้าใจที่ว่า สัตว์บุคคลที่ตายแล้วจะไปเกิดอีก ทำไมจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เมื่ออาจารย์พูดว่า สัตว์บุคคลไปเกิดไม่ได้ เพราะเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่สภาวธรรม ผมจึงได้เข้าใจ แต่ถ้าเราไม่ได้ฟัง เราไม่สามารถรู้ได้เลย คนตายไปเกิดไม่ได้ สัตว์ตายไปเกิดไม่ได้ เพราะว่าที่ไปเกิดนั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นสภาวธรรม ที่ว่าเป็นไปตาม จิตตนิยาม คือ จุติจิตเกิด และดับปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อทันที ซึ่งทางโลกเรียกว่า สัตว์ตาย คนตาย แต่ความจริงไม่ใช่สัตว์ตาย คนตาย เป็นแต่เพียงจุติจิตเกิด และดับปฏิสนธิเกิดต่อทันที

    เป็นเรื่องที่หาฟังได้ยาก และเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก ผมเห็นใจคนอื่นรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ และศึกษาให้เข้าใจ ที่จะให้เกิดอุตสาหะ ให้เกิดศรัทธา ให้มีความพยามยามที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อๆ ไป เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ ที่จะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่อ่าน แม้จะอ่านพระไตรปิฎกแล้วก็ดี ทั้งๆ ที่อ่านจบไปแล้วสองเที่ยว สามเที่ยว ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็จะต้องสะสมศรัทธาอีกเรื่อยๆ เพราะว่าส่วนใดที่ยังไม่เข้าใจ ลองอ่านอีก ตั้งใจอ่าน และพิจารณา ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นจริงๆ เพราะบางที ในขณะที่อ่านอาจจะสนใจข้อความตอนอื่น และข้ามตอนที่ไม่เข้าใจไป โดยที่อาจจะคิดว่าไม่ได้ข้าม แต่เมื่อไม่ได้เพ่งถึงความละเอียด ไม่ได้ใส่ใจใคร่ครวญพิจารณา ตอนนั้นจริงๆ ก็ทำให้ไม่เข้าใจ ลองอ่านใหม่อีก และลองพิจารณาส่วนที่ไม่เข้าใจ

    แม้แต่เรื่องของอุบาสิกาซึ่งลูกถูกงูกัด ก็จะได้เห็นศรัทธาที่มั่นคงว่า การที่ นางคิดว่า ถ้าเราจะบอกว่าลูกของเราถูกงูกัด ก็จะเป็นอันตรายแก่การฟังพระธรรม คือ อาจจะทำให้คนอื่นพลอยวุ่นวายด้วย ใช่ไหม ขณะที่ทุกคนกำลังมีโอกาสได้ ฟังพระธรรมนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้การฟังพระธรรมนั้นหยุดชะงักลงได้ ซึ่ง ถ้าแลกกันแล้ว ก็คิดว่า การฟังพระธรรมซึ่งเป็นโอกาสที่หายาก ควรจะมีมากกว่า ที่จะมีความทุกข์ความกังวลใจในเรื่องของลูก ซึ่งนางเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในกรรม จริงๆ ว่า การที่ลูกถูกงูกัดก็ต้องเป็นผลของกรรม และการที่ลูกจะตาย ถ้าถึงเวลาตายจริงๆ ใครก็ไม่สามารถช่วยได้ แต่ด้วยศรัทธาที่มั่นคง เมื่อได้บรรลุโสดาบันเมื่อ อรุณขึ้นแล้ว ก็ได้ทำลายพิษงูในบุตรด้วยสัจจกิริยา


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1544


    หมายเลข 13130
    24 ก.ย. 2567