อาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศรัทธา*
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สาลสูตร ข้อ ๔๐
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยกิ่ง และใบ ๑ ย่อมเจริญด้วยเปลือก ๑ ย่อมเจริญด้วยกะเทาะ ๑ ย่อมเจริญด้วยกระพี้ ๑ ย่อมเจริญด้วยแก่น ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้แลฉันใด ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการฉันนั้นเหมือนกันแล ความเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑ ย่อมเจริญด้วยศีล ๑ ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้แล ฯ
ต้นไม้ทั้งหลาย อาศัยบรรพตศิลาล้วนในป่าใหญ่ ย่อมเจริญขึ้นเป็นไม้ใหญ่ ชั้นเจ้าป่าฉันใด บุตร ภรรยา มิตร อำมาตย์ หมู่ญาติ และคนที่เข้าไปอาศัย เลี้ยงชีพทั้งหลายในโลกนี้ ได้อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล จึงเจริญได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ชนเหล่านั้นเห็นศีล จาคะ และสุจริตทั้งหลายของกุลบุตร ผู้มีศีล จาคะ และสุจริตนั้น เมื่อประจักษ์ชัดแล้ว ย่อมประพฤติตาม ชนเหล่านั้น ครั้นประพฤติธรรมอันเป็นที่ไปสู่สวรรค์สุคติในโลกนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เพลิดเพลิน เพียบพร้อมด้วยกามบันเทิงใจในเทวโลก ฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
จะเห็นได้ว่า การกระทำของทุกท่านซึ่งเป็นหัวหน้าบ้าน หัวหน้าครอบครัว จะก่อให้เกิดกุศลจิตอีกหลายขณะสำหรับคนในบ้าน แม้แต่ในเรื่องการฟังธรรม ท่านอาจจะคิดว่า ท่านฟังคนเดียว แต่ถ้าเปิดแล้วคนอื่นมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังบ้าง แม้ว่าทีแรกอาจจะไม่สนใจ ฟังไปทีละเล็กทีละน้อย ย่อมจะเจริญด้วยศรัทธา ๑ เจริญด้วยศีล ๑ เจริญด้วยสุตะ ๑ เจริญด้วยจาคะ ๑ เจริญด้วยปัญญา ๑ ตามควรแก่การสะสมของแต่ละท่าน ซึ่งไม่สามารถที่จะเร่งรัดบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ เพราะว่าแต่ละคนก็ต้องคอยกาลเวลาที่สมควร
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งศรัทธาในวันหนึ่งๆ ถ้าสังเกตจะรู้ว่า เจริญขึ้น หรือว่าเสื่อมลง เฉพาะตัวก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาบุคคลอื่น และถ้าพิจารณาบุคคลอื่น ก็ควรจะพิจารณาในลักษณะที่เป็นเครื่องเตือนใจให้ตนเองเป็นผู้ที่ ไม่ประมาทที่จะเสื่อมศรัทธาเหมือนอย่างบุคคลที่เสื่อมศรัทธา หรือว่าควรเป็นผู้ที่มีศรัทธาเจริญขึ้นเหมือนท่านที่มีศรัทธาเจริญขึ้น และเวลาที่ศรัทธาเจริญขึ้นจะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนเองก็สามารถสังเกตเห็นได้ หรือแม้คนอื่นก็สังเกตเห็นได้ อย่างกุศลที่บางท่านอาจจะทำได้ยาก แต่ง่ายสำหรับคนอื่น ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าจะ เพิ่มกุศลอย่างนั้น ซึ่งตนเองเข้าใจว่าทำยาก แต่ทำไมคนอื่นทำได้สะดวก ก็เพราะว่าสะสมมา จึงมีปัจจัยที่จะทำอย่างนั้น
และวันหนึ่งทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป ไม่รู้ไม่เห็นว่ามีสิ่งอะไรเกิดขึ้นต่อไปอีก ในโลกนี้ และโลกใหม่ที่จะไปสู่ ในขณะนี้ก็ไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่มีเหตุที่จะไปสู่โลก ใหม่นั้นแล้ว แต่ตราบใดที่ยังอยู่ในโลกนี้ ก็ยังไม่สามารถรู้แน่ว่าจะไปสู่โลกไหน ต้องแล้วแต่กรรมของผู้ที่ได้กระทำไว้ ซึ่งมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาเจริญขึ้นในโลกนี้ ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จุนทิสูตร ข้อ ๓๒ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ราชกุมารีชื่อว่าจุนที แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดาของหม่อมฉัน กล่าวอย่างนี้ว่า หญิงหรือชายเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ดังนี้ หม่อมฉันจึงขอทูลถามว่า
ผู้ที่เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในสงฆ์เช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในศีลเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร จุนที สัตว์ที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใส ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนเสียซึ่งความอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ นิพพานบัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใส ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ฯ
หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของพระตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ศีลมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว คือ ศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหา และทิฏฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าศีลเหล่านั้น ชนเหล่าใดย่อมทำให้บริบูรณ์ในอริยกันตศีล ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ฯ
บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคลชั้นเยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศอันปราศจากราคะ เป็นที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศ บันเทิงใจอยู่ ฯ
จบ สูตรที่ ๒
ท่านที่อยากจะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ที่พระวิหารเวฬุวัน หรือที่ พระวิหารเชตวัน ก็จะได้ฟังจากพระสูตรนี้ คือ จุนทิสูตร ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
ไม่ว่าในกาลสมัยไหน แม้ว่าจะ ๒๕๐๐ กว่าปีผ่านไปแล้ว ข้อความที่ ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำไว้ และท่านพระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำสืบๆ ต่อกันมา ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอกาลเวลาที่จะถึงอีกสมัยหนึ่งของพระพุทธเจ้า อีกพระองค์หนึ่ง ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ข้อความก็ชัดเจน คือ ถ้าเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้ที่ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นก็ย่อมไม่เกิด ในอบายภูมิ
ถ . พระสูตรนี้เริ่มจากถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ สรุป คือ ต้องถึงพระรัตนตรัยนั่นเอง
สุ. และถึงศีลที่พระอริยะทั้งหลายใคร่ คือ ศีลที่สัมปยุตต์ด้วยมรรค และผล เพราะว่าทุกท่านอยากจะเป็นผู้ที่มีศีล แต่ยังมีบางกาลที่อาจจะล่วงศีล และเวลาที่ ล่วงศีลจิตใจก็คงจะเดือดร้อนกระวนกระวาย อาจจะระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ล่วงศีล จิตใจก็กระสับกระส่าย แต่ผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม ศีลของท่านจะสมบูรณ์ คือ เป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล ๕ อันเป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมบถที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ
ถ . สรุปแล้ว คือ ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
สุ. เป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และเข้าใจถูกต้องด้วย ถ้าเพียงแต่ ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ยังไม่เข้าใจโดยถูกต้อง ก็ยังไม่ถึง ยังไม่บรรลุ
ถ . ถ้าต่างศาสนา เขาศรัทธาในศาสดาของเขา ชื่อว่าศรัทธาไหม
สุ. ไม่ชื่อว่าศรัทธา
ถ . ต้องในพระพุทธศาสนา
สุ. ศรัทธาเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้น เกิดกับกุศลจิตโดยที่ ไม่จำกัดเชื้อชาติ และศาสนา ไม่ได้หมายความว่า คนที่นับถือศาสนาอื่นหรือว่า มีความเห็นผิดจะไม่มีกุศลจิตเลย เพราะว่ากุศลจิตก็ต่างขณะกับขณะที่กำลังมีความเห็นผิด แต่ในขณะใดที่มีความเชื่อในลัทธิในความเห็นที่ไม่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นชาติศาสนาใด ก็เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น คือ เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์
ถ . ถ้าเราเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และศรัทธาในพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาลมีคนเลื่อมใสศรัทธาในพระผู้มีพระภาค และก็บวช แต่ศรัทธานั้นก็เสื่อมได้
สุ. ถ้ายังไม่ถึงไตรสรณคมน์ที่เป็นโลกุตตระก็เสื่อมได้ ควรเป็นผู้ไม่ ประมาทจริงๆ เพราะเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่เกิดมาชั่วขณะที่มีสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลเพียงเล็กน้อย และก็ดับ
เพราะฉะนั้น ความมั่นคงจริงๆ ในการที่จะเข้าใจในเหตุผลของสภาพธรรม จนไม่หวั่นไหว ก็ลองพิสูจน์ว่า ในวันหนึ่งๆ จะไขว้เขวไปบ้างหรือเปล่า เหตุกับผลจะตรงกันไหม
ขณะใดที่ไขว้เขว ขณะนั้นไม่ใช่ศรัทธา ศรัทธานั้นไม่มั่นคง อกุศลจิตจึงทำให้ไขว้เขว เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่จะมั่นคงจริงๆ ต้องเป็นศรัทธาของผู้ที่เป็น พระอริยบุคคล ซึ่งได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และเป็นผู้ที่รู้จักสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตน แม้แต่ศรัทธาก็สามารถรู้ได้ว่า เจริญขึ้นหรือว่าเสื่อมลงในประการใด เพราะว่าเรื่องของกุศลก็มีมากมายหลายประการ ทั้งในทาน ในศีล ในภาวนา ก็เป็นเรื่องของเหตุการณ์ และกาลเวลา
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน จะช่วยได้มาก เพราะว่าเมื่อ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างใด จิตใจอาจจะขุ่นเคือง เศร้าหมอง หมกมุ่น หรือเต็มไปด้วยโลภะในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง แต่การระลึกได้ที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ยังเกิดได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ซึ่งผู้ที่ จะเป็นพระอริยบุคคลจะเลือกเวลา และอารมณ์ของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่เป็นวิถีจิต สติปัฏฐานควรที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด สติควรระลึกรู้ เวลานี้ผมอยู่ในสถานการณ์ที่ท่ามกลางโลภะขนาดหนัก เพราะผมกำลังซ่อมบ้านอยู่ ช่าง ก็ระดมสี เอาวัสดุต่างๆ มา สติไม่เกิดเลย มีแต่วุ่นวาย หลายๆ วันนี้ไม่ค่อยได้ระลึก แสดงว่าท่ามกลางสถานการณ์นี้ ไม่ดีแน่
สุ. มิได้ ให้ทราบว่าเป็นธรรมดา ไม่ว่าสถานการณ์ไหน ปัญญาต้องสามารถรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้นจริงๆ จึงจะดับ ...
ผู้ฟัง ก็ไม่ยอมรู้
สุ. เรื่องของการไม่รู้ เป็นเรื่องของการไม่รู้ แต่เรื่องรู้ที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนจะต้องรู้ว่า อบรมไป เจริญไป เวลาระลึกขึ้นมาได้ ก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง มีอยู่เสมอ
ผู้ฟัง เวลานั่งฟังอาจารย์ ไม่ว่าท่ามกลางสถานการณ์อะไรก็ทำให้คิดได้ ประเดี๋ยวเรากลับไปคงจะไม่จู้จี้กับช่าง
สุ. ขณะกำลังจู้จี้ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ควรเว้นเลยสักขณะ ที่เป็นวิถีจิต กำลังจู้จี้ก็รู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่มีอื่นเลยตลอดสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมาด้วยความไม่รู้ วิธีที่จะแก้ไข ก็ต้องแก้ไขด้วยความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ มิฉะนั้น จะดับความยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้
ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้สวย แต่แม้ในขณะที่จู้จี้ก็เป็นนามธรรม และ เป็นรูปธรรม ไม่ว่าเวทนา ความรู้สึก จะเป็นโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะเข้าใจผิดคิดว่าธรรมเป็นอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกที่ไม่ทำอะไรเลย และก็ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไป ผิดๆ ถูกๆ
ที่มา ...