ความเป็นผู้โอ้อวดเป็นไฉน


    ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ ข้อ ๗๗๒ มีว่า

    คำว่า เมื่อรู้สึกตัว ไม่พึงทำความโอ้อวด

    ต้องขัดเกลาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ไม่ว่าสภาพธรรมจะเกิดขึ้นวิจิตรอย่างไรก็ตาม สติจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลา เพื่อให้ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท สำหรับท่านที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่โอ้อวด รู้สึกตัวบ้างไหม บางท่านอาจจะโอ้อวดจนเป็นนิสัย เพื่อนฝูงก็รู้จักดีว่า ท่านเป็นผู้ที่โอ้อวด แต่ว่าบุคคลผู้โอ้อวดเอง รู้จักตัวเองบ้างไหมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ชัดเจนยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง พร้อมกันนั้นสติก็จะเกิดขึ้น เพราะว่ามีปัจจัยที่ได้อบรมแล้ว ทำให้ขัดเกลาได้ ทำให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งแล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นสติขั้นใด บางครั้งก็เป็นสติเพียงขั้นเกิดขึ้นวิรัติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ที่ทำให้กระทำการโอ้อวดไม่ว่าจะด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นสภาพธรรมละเอียดขึ้น ทั้งสติขั้นที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน และขั้นของสติที่เป็นสติปัฏฐานด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความว่า ความเป็นผู้โอ้อวดเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้อวดอ้าง ความโอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด ความเป็นผู้โอ้อวด ความเป็นผู้ฟุ้งเฟ้อ กิริยาที่ฟุ้งเฟ้อ ความเป็นผู้เห่อ กิริยาที่เห่อ ที่มีในบุคคลนั้น ลักษณะนี้เรียกว่า ความเป็นผู้โอ้อวด

    คำว่า เมื่อรู้สึกตัว ไม่พึงทำความโอ้อวด ความว่า เมื่อเป็นผู้รู้สึกตัว ไม่พึงทำความเป็นผู้โอ้อวด ไม่พึงยังความโอ้อวดให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งความเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องความเป็นผู้โอ้อวด พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อรู้สึกตัว ไม่พึงทำความโอ้อวด

    ยากหรือง่าย เป็นไปตามความตั้งใจหรือความต้องการได้หรือไม่ได้ หรือว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะเห็นกิเลส และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ได้สะสมมาอย่างละเอียด และการที่จะละคลายกิเลส ก็เป็นไปอย่างละเอียด ทีละเล็ก ทีละน้อยตามลำดับขั้นของปัญญาจริงๆ

    ท่านผู้ฟังบางท่านที่อ่านพระไตรปิฎกกล่าวว่า คล้ายๆ กับพระผู้มีพระภาคให้กระทำด้วยความเป็นตัวตน บังคับว่า ให้เว้น ให้งด อย่ากระทำอย่างนั้น อย่ากระทำอย่างนี้

    แต่อย่าลืมว่า การอ่านพระธรรมวินัยทั้งหมดต้องประกอบกัน เพราะว่าพระผู้มี-พระภาคได้ทรงแสดงแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงธรรมด้วยประการใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่ลืมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะเว้น วิรัติ บังคับได้ตามใจชอบ แต่ต้องเป็นธรรมที่เป็นโสภณธรรมเกิดขึ้น ระลึกได้ รู้แล้ว จึงงดเว้น จึงละ จึงบรรเทา ตามขั้นของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นโสภณธรรม เป็นกุศลธรรมขั้นใด


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 494


    หมายเลข 13138
    26 ก.ย. 2567