ภิกษุไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น


    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทโดยละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเกื้อกูลอุปการะแก่จริตอัธยาศัยของทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต ข้อ ๗๗๓ มีข้อความว่า

    อนึ่ง ภิกษุไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีล และวัตร ดังนี้ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตว่า ก็ภิกษุนี้ ทำไมจึงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ย่อมได้ฉันพืชทั้งปวง คือ พืชแต่ราก พืชแต่ลำต้น พืชแต่ผล พืชแต่ยอด พืชแต่พืชเป็นที่ ๕ ภิกษุนี้ข้าม (ทุกข์) ไม่ได้แล้ว เพราะความที่ตนมีความเพียรเสมอด้วยฟ้าแลบ และพะเนินเหล็ก ภิกษุนั้น ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตด้วยความเป็นอยู่เศร้าหมอง

    กิเลสไม่ได้ละเว้นเลยตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ถึงแม้จะเป็นบรรพชิตที่มีความเป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง แต่กิเลสนี้ก็ยังทำให้ภิกษุรูปนั้นดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตได้ นี่เป็นเรื่องของบรรพชิต แต่ว่าสำหรับเรื่องของท่านเอง วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้บ้างไหม นี่คือสภาพชีวิตตามความเป็นจริง เคยดูหมิ่นบุคคลอื่นบ้างหรือเปล่า โดยประการใดๆ ก็ตามแม้สักเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ เมื่อมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้ ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นสิ่งที่ควรจะ ขัดเกลา ละคลาย บรรเทา และให้ดับเป็นสมุจเฉทจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงโอวาททุกประการ เพื่อท่านผู้ใดที่มีอุปนิสัยอัธยาศัยอย่างไร ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะยังไม่เคยทราบ ไม่เคยระลึกรู้ว่า ตัวท่านเป็นอย่างนี้ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็จะช่วยเตือนให้ท่านได้พิจารณาตัวท่านเองว่า เป็นอย่างนี้บ้างไหม

    หรือว่ามีใครบ้างที่ไม่เป็นอย่างนี้เลย เพราะว่าทุกท่านจะต้องมีกิเลสแต่ละชนิด ซึ่งตัวท่านเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้รู้ดีว่า ท่านมีกิเลสประเภทใดที่ยังมากมายเหลือเกิน และกิเลสชนิดใดที่ไม่มากมายเท่ากับกิเลสอื่น ซึ่งท่านก็จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นอยู่อย่างประณีต ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมองว่า ภิกษุนี้ ทำไมจึงมีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมองด้วยความเป็นอยู่อย่างประณีต

    แม้ในความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกรรมที่ได้สะสมมาเฉพาะตนแต่ละท่าน ใครจะได้รับความสุขมาก ใครจะได้รับความสุขน้อย ใครจะเป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ใครจะเป็นอยู่อย่างประณีต ก็แล้วแต่บุญกรรมที่ได้กระทำแล้ว มีโอกาสให้ผลเมื่อไรก็เป็นปัจจัยให้นามธรรมนั้นๆ รูปธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะยึดถือด้วยกิเลส และเกิดกิเลสที่ทับถมขึ้นโดยการที่ดูหมิ่นบุคคลอื่น

    แต่ว่ากิเลสที่สะสมมา ก็กระทำให้ดูหมิ่นบุคคลอื่นได้ ถ้าเป็นภิกษุผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ก็ดูหมิ่นภิกษุผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างสบาย อย่างประณีต และสำหรับภิกษุผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างประณีต ก็ยังมีกิเลสที่ทำให้ดูหมิ่นภิกษุอื่นผู้ที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ใครถามปัญหาแล้วก็แก้ได้ เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญา เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความถึงพร้อมด้วยปัญญานั้น

    ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ดับกิเลสได้ตามความเป็นจริง แม้แต่บุคคลที่มีปัญญา ใครถามปัญหาก็แก้ได้ ถ้าขณะนั้นดูหมิ่นบุคคลอื่นว่า มีปัญญาน้อยกว่าไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ขณะนั้นผู้ที่มีสติหรืออบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรจะเห็นกิเลสโดยชัดเจนว่า เพราะยังมีกิเลสอยู่ จึงมีปัจจัยที่จะให้ปรากฏเป็นความดูหมิ่นอย่างนั้นขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะเกิดได้ไหมที่จะระลึกรู้อย่างนั้น ในขณะนั้นทันที ก็ย่อมเกิดไม่ได้ เมื่อสติ และปัญญาเกิดไม่ได้ การดับ การละกิเลสที่ปรากฏในขณะนั้น ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหมดที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ที่จะละ หรือว่าจะดับได้เป็นสมุจเฉท ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลาย มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น

    เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรากฏให้รู้ สำหรับผู้ที่ระลึกได้

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้เป็นบรรพชิต ก็ยังมีกิเลสถึงอย่างนั้น สำหรับตัวท่านเอง ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นกิเลสที่มีมาก และปรากฏในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งในเรื่องของกาย และวาจาเพื่อที่จะให้ระลึกได้ ในสภาพของกิเลสที่ปรากฏ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 494


    หมายเลข 13139
    26 ก.ย. 2567