พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ


    ก็ภิกษุรู้ธรรมนั้นแล้วค้นคว้าอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ

    เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังไม่ควรที่จะข้ามแต่ละพยัญชนะไป เช่น ข้อความที่ว่า ก็ภิกษุรู้ธรรมนั้นแล้วค้นคว้าอยู่ ธรรมนั้น ธรรมอะไร หลายท่านกล่าวว่า เห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม นี่คือธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่มีความเข้าใจอย่างนี้ก็จริง คือ มีความเข้าใจว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่นามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้นเอง นี่คือชีวิตในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง คือ ธรรมนั้นตามความเป็นจริง แต่พอไหมที่จะรู้เพียงเท่านี้ หรือว่าถ้าศึกษาเพิ่มขึ้น มากขึ้น และก็รู้ว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม โดยการศึกษา พอไหมเพียงเท่านี้

    นี่คือธรรมนั้นๆ ที่ได้เข้าใจ ที่ได้เรียน ที่ได้ศึกษา แต่ยังไม่พอ เพราะว่ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อความต่อไปว่า พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ

    ถ้าไม่เข้าใจความหมายของสติ ก็ไม่ทราบว่าสติคืออย่างไร ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจลักษณะของสติ นอกจากเป็นผู้ที่มีสติแล้ว ศึกษาในกาลทุกเมื่อ คือ ศึกษาในขณะที่สติกำลังระลึกทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังรู้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส

    มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ ศึกษาในลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้สภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ พร้อมที่จะให้ศึกษาด้วยสติ

    มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ ขณะนี้กำลังเห็น ศึกษาได้แล้วถ้าสติเกิด และต้องศึกษาด้วยสติที่เกิดระลึกรู้ ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่ได้ศึกษาในลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังลิ้มรส ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยสติเกิด ระลึกรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะเป็นความรู้ที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในสภาพธรรมนั้นๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุรู้ความดับว่าเป็นความสงบแล้ว ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

    พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเรื่องของความไม่ประมาททั้งหมด


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 494


    หมายเลข 13140
    26 ก.ย. 2567