ภวตัณหา และ วิภวตัณหา
ท่านเหล่านั้นเห็นโทษของการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่จะทำให้ไหวหวั่นอยู่เรื่อยๆ ท่านก็เจริญความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งถึงขั้นอัปนาสมาธิ เป็นรูปฌานจิต และอรูปฌานจิต
สำหรับ ภวตัณหา นั้นมีความหมาย ๒ อย่าง คือ
๑. ตัณหาในรูปธาตุ และอรูปธาตุ
๒. ตัณหาที่เกิดร่วมกับภวทิฏฐิ ซึ่งได้แก่ สัสสตทิฏฐิ
ภวตัณหา คือ ความยินดีพอใจที่ไม่ได้เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อย่างท่านที่เจริญฌานเพราะเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย ให้ความสุขได้ไม่นาน
รูปก็ทำให้พอใจได้เพียงชั่วขณะที่เห็น เสียงก็ทำให้พอใจได้เพียงชั่วขณะที่ได้ยิน เล็กน้อยเหลือเกิน ปรากฏเพียงนิดเดียวแล้วก็ดับไป ทำให้จิตใจไหวหวั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ความสุขแท้จริง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านั้นเห็นโทษของการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่จะทำให้ไหวหวั่นอยู่เรื่อยๆ ท่านก็เจริญความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งถึงขั้นอัปนาสมาธิ เป็นรูปฌานจิต และอรูปฌานจิต
ความยินดีพอใจไม่อยู่ที่หนึ่งก็ไปสู่อีกที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังเป็นภวตัณหา มีความชอบ มีความติด มีความพอใจในความสงบที่เป็นรูปฌาน และอรูปฌานนั่นเอง
ในอดีตชาติ ในวัฏฏะ มีท่านผู้ใดทราบบ้างว่า ท่านเคยติดในรูปฌาน และอรูปฌานบ้างหรือเปล่า แต่ขอให้ทราบว่า ในภพนี้ชาตินี้เวลาที่ท่านยังไม่ได้ถึงรูปฌาน อรูปฌาน ท่านมีความต้องการความสงบบ้างไหม เป็นสิ่งที่เทียบเคียงได้แม้แต่ในการประพฤติการปฏิบัติของท่าน อย่างท่านที่จะเจริญสติปัฏฐาน แต่บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเจริญปัญญาให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านกลับต้องการความสงบเสียก่อน ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังความเหนียวแน่นของตัณหา
สำหรับ วิภวตัณหา นั้น ได้แก่ ตัณหาที่เกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐินั่นเอง
ที่มา ...