จดหมายผู้ฟัง (๑) ถ้าฟังรายการนี้โดยตลอด คงจะไม่เข้าใจผิด
ถ้าผู้ใดข้ามการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้นั้นก็จะฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาไม่เข้าใจ และสติก็ไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งมีข้อความที่ควรจะได้เรียนชี้แจง
ที่บ้าน ๘ ก.ย. ๑๔
เรียนคุณสุจินต์ทราบ
กระผมพยายามติดตามผลงานของคุณทางเทปวิทยุมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จำได้ว่าประมาณ ๔ ปี ในเรื่องแนวทางการเจริญวิปัสสนา ยังจับประเด็นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผมพยายามจับประเด็นเหลือเกิน ก็จับไม่ได้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าผมปัญญาน้อย ก็อาจจะเป็นได้ รู้สึกว่าวกวนเหลือเกิน จับต้นชนปลายไม่ถูก คุณพูดว่า คุณไม่อ.จ. (เขียนอย่างนี้) แต่คุณพูดเหมือนกับว่ากำลังโต้วาทีกับท่านผู้ฟัง หรือแม้กระทั่งศิษย์ของคุณเท่านั้น คุณมุ่งหมายที่จะเอาชนะในประเด็นที่คุณพูด ทั้งๆ ที่บางครั้งผมฟังแล้ว ผมว่าคุณผิดทั้งเพ แต่คุณก็ยังตะเบ็งที่จะเอาชนะ ไม่สมกับคุณเป็นเมธีชนเลย ในบางครั้งคุณยกพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นมาอ่าน และอ้างอิง คุณก็เอาความคิดเห็นของคุณไปผสมปนเปอยู่ด้วยเสมอทุกๆ ครั้ง หรือทุกกรณี หรือทุกๆ สูตรที่คุณยกมาอ้างอิง ผมไม่เคยได้ยินว่า คุณเอาอรรถกถา ฎีกา หรือ อนุฎีกามาอ่านบ้างเลย อย่างน้อยคุณควรเอาฎีกามาอ่าน และเปรียบเทียบกับสูตรบางสูตรในพระไตรปิฎกที่คุณยกขึ้นมาอ้างบ้างก็ยังดี ผมเชื่อแน่ว่า ในฎีกานั้นอธิบายสูตรที่คุณยกขึ้นมา ไม่เหมือนอย่างที่คุณอธิบายเป็นแน่
เคยตั้งปัญหาถามคุณหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ประเด็นนั้นยังไม่กระจ่าง คุณก็เปลี่ยนประเด็นเสีย ซึ่งผิดกับหลักวิชาครู หลักวิชาครูนั้น เมื่อยกประเด็นขึ้นมาแล้ว ควรให้คำอธิบายในประเด็นนั้นเสียก่อน แล้วค่อยอธิบายเพื่อให้ประเด็นนั้นขาวกระจ่าง แต่ทุกครั้งผมไม่เคยพบอย่างนี้เลย มีแต่ความเป็นไปของชนผู้เต็มไปด้วยกิเลส คือ ตัวมานะ ทิฏฐิตัวเบ้อเร้อ โดยการที่จะเอาชนะตะบัน โดยไม่คำนึงถึงว่า ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เป็นธรรมที่ละเอียดอ่อน สุขุม คัมภีรภาพ ไม่อยู่ในวิสัยของผู้ที่มีกิเลส ขออภัยที่จะใช้คำว่าปุถุชน ซึ่งแปลว่าอะไร คุณก็คงรู้ซึมทราบดีแล้ว
ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน ผมจึงใคร่ติงคุณไว้สักหน่อย เพื่อความเจริญของคุณ และของศาสนา ในฐานะที่เราเป็นพุทธบุตรเหมือนกัน ขอคุณจงอย่าได้พิฆาตศิษย์ด้วยตรรกโวหารเลย ผมสงสารศิษย์ของคุณเหลือเกิน ที่ติดตามอาจารย์มาตั้ง ๔ ปีแล้ว ยังไม่ไปถึงไหนเลย แม้แต่การเริ่มต้นของคำว่าวิปัสสนา ศิษย์ของคุณก็ยังไม่รู้เลย เพราะว่าอาจารย์ผู้กลัวอัตตาเสียจริง ไม่ว่าอะไร จะตั้งต้นที่ไหน คุณก็อ้างว่า สิ่งนั้นเป็นอนัตตา อย่าไปทำอย่างนั้นเลย มันเป็นอัตตา ลูกศิษย์ก็เลยลาน ทำอะไรก็ไม่ถูก ตั้งต้นก็ไม่ได้ คุณเอ๋ย การทำงานทุกอย่าง ถ้าไม่มีการเริ่มต้น คำว่า ความสำเร็จจะมีมาได้อย่างไร ทั้งนี้โดยสามัญสำนึกทั่วๆ ไป การขึ้นต้นไม้ ก็ต้องขึ้นทางโคนต้นก่อน เป็นการเริ่มต้น จึงจะถึงจุดหมายที่ต้องการ จริงไหม อย่างเช่น รูปนามของคุณ ผมฟังๆ ดูแล้ว เปรอะไปหมด บางครั้งก็ให้รู้รูป ทั้ง ๒๘ รูป นามอะไรๆ ก็ให้รู้ให้หมด นามมีตั้ง ๑๒๑ โดยพิสดาร และโดยย่อ ๘๙ จะให้รู้ทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นแล้วล่ะก็ นามอีกส่วนหนึ่ง อันเป็นส่วนที่อยู่ในภวังค์อีก ทำไมคุณไม่เคยพูดถึงเลย ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย ทั้งในส่วนกายา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะคุณไม่ยอมให้ตั้งต้นเลย เพราะอะไร เพราะคุณกลัวจะไม่ดังใช่ไหม ที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่นเข้า ได้โปรดเถิดอย่าตะบึงตะบอนเลย โปรดจงละทิฏฐิของคำว่าอาจารย์ลงเสียเถิด เดินไปหาความรู้ใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับท่านพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพประ-สิทธิมุนี กราบเรียนถามท่านในเรื่องของวิปัสสนากัมมัฏฐาน และสูตรต่างๆ ที่คุณข้องใจ และอาจหาญใช้อัตโนมัติ เรียนถามท่านเถิด ขออภัย ยี่ห้อ ป.ธ ๙ คงไม่ทำให้คุณผิดหวังได้ อีกอย่างหนึ่ง ได้โปรดย้อนไปศึกษาพระอภิธรรมในส่วนที่เป็นสูตรต่างๆ หนึ่งสูตรนั้นเรียกว่า มทาปัฏฐาน (ในที่นี้เขียนว่า มทา) จงเปิดดูในบทว่าด้วยกรรม ที่ท่านบอกว่าได้แก่เจตนา และเจตนานี้มี ๒ เกิดขึ้นได้กับจิตทุกๆ ประเภท โปรดไปศึกษาให้ละเอียด แล้วคุณจะได้พบจุดเริ่มต้นเสียที
สุดท้ายนี้ ผมขออภัยเป็นอย่างมากที่ไม่สามารถจะนับถือคุณเป็นอาจารย์ได้ เพราะคุณความรู้น้อยกว่าผมเหลือเกิน ตอนจบขออ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย จงช่วยบันดาลให้คุณเป็นนักปฏิบัติที่สมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ จะได้ไม่พูดโดยอาศัย จินตามยปัญญาของคุณเสียที คุณจะได้พูดอย่างนักปฏิบัติที่แท้จริง โดยไม่เอาชนะกันด้วยโวหาร หากแต่ว่าจะพิจารณากันโดยนัยอารมณ์ของนักปฏิบัติซึ่งเกิดขึ้นโดยสุขุมลึกซึ้งกว่าจินตาปัญญาของคุณเสียอีกเป็นไหนๆ ขอสวัสดีเพียงเท่านี้ ไม่ให้พรกันล่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นอัตตา อโหสิ
เคารพ
พุทธบุตร
วันนี้ต้องขออภัยท่านผู้ฟังที่จะขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังที่ใช้นามว่า พุทธบุตร
ข้อ ๑ ที่คุณพุทธบุตรเขียนมาว่า ยังจับประเด็นไม่ได้
ประเด็นของการเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง การที่ปัญญาจะรู้ชัดอย่างนั้นได้ ก็จะต้องอาศัยสติ การระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ จึงจะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดข้ามการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้นั้นก็จะฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาไม่เข้าใจ และสติก็ไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ข้อ ๒ ที่ว่าผมไม่เคยได้ยินว่า คุณเอาอรรถกถา ฎีกา หรืออนุฎีกามาอ่านบ้างเลย
ไม่ใช่ว่าข้อความในอรรถกถาจะขัดแย้งกับข้อความในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าที่ท่านอรรถกถาจารย์นำข้อความต่างๆ มาประมวลไว้ได้ เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ศึกษาธรรมรุ่นหลังนั้น ท่านต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจอรรถในพระไตรปิฎก และประมวลข้อความในพระไตรปิฎกนั่นเองมาเป็นอรรถกถา เพราะฉะนั้น ข้อความก็ตรงกัน ซึ่งส่วนมากท่านผู้ฟังจะเคยผ่านเคยฟังแต่ข้อความในอรรถกถา ไม่ค่อยจะได้มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อความเต็มโดยตรงจากพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ เมื่อท่านมีความสนใจในธรรม ท่านก็ควรที่จะได้รับทราบข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก เพื่อที่จะได้พิจารณาให้ละเอียด และ กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนมากจึงได้นำข้อความในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา มาประกอบชี้แจงความหมาย เพื่อให้ท่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพุทธบุตรได้ติดตามฟัง คุณพุทธบุตรคงไม่กล่าวหาว่าดิฉันไม่ได้นำเอาอรรถกถา ฎีกา หรืออนุฎีกามาอ่านบ้างเลย
สำหรับเรื่องฎีกา หรือว่าอนุฎีกานั้น เป็นคำอธิบาย เพียงพยัญชนะบางพยัญชนะเท่านั้น แต่ว่าข้อความที่อธิบายมาก ก็จะมีครบถ้วนในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ส่วนในคัมภีร์รุ่นหลังต่อไปนั้น ก็เป็นข้อความที่อธิบายคำเป็นส่วนมาก ซึ่งข้อความก็ตรงกัน
สำหรับอรรถกถาที่ได้เคยนำมาอ่าน ก็มีทั้งอรรถกถาของพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เช่น
สมันตปาสาทิกา เป็นอรรถกถาพระวินัยปิฎก
สุมังคลวิลาสินี เป็นอรรถกถาของทีฆนิกาย
ปปัญจสูทนี เป็นอรรถกถามัชฌิมนิกาย
สารัตถปกาสินี เป็นอรรถกถาสังยุตตนิกาย
มโนรถปูรนี เป็นอรรถกถาอังคุตตรนิกาย
ปรมัตถโชติกา เป็นอรรถกถาขุททกนิกาย เป็นต้น
ถ้าท่านผู้ฟังรับฟังรายการนี้โดยตลอด จะได้ฟังข้อความจากอรรถกถาเหล่านี้ ไม่ใช่ว่า ไม่ได้เคยนำมาอ่านเลย
อีกประการหนึ่งที่คุณพุทธบุตรคิดว่า ข้อความในอรรถกถานั้นคงจะไม่ตรงกับคำบรรยายที่ดิฉันบรรยาย ก็เป็นที่น่าเสียดายที่คุณพุทธบุตรไม่ได้ยกข้อความประการหนึ่งประการใดขึ้นมาประกอบให้ชัดเจนว่า ที่ว่าไม่ตรงนั้น คือเรื่องอะไร และข้อความในอรรถกถา ฎีกามีว่าอย่างไร และดิฉันบรรยายคลาดเคลื่อนอย่างไร ซึ่งถ้าคุณพุทธบุตรเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะได้กล่าวถึงข้อนั้น และยกอรรถกถาฎีกาขึ้นมาประกอบชี้แจงให้เห็นว่าผิดอย่างไร หรือว่าคลาดเคลื่อนอย่างไร
ข้อที่ว่า เคยตั้งปัญหาถามคุณหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ประเด็นนั้นยังไม่กระจ่าง คุณก็เปลี่ยนประเด็นเสีย
ข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน คือ ถ้าคุณพุทธบุตรจะกรุณายกประเด็นที่ยังสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า ยังสงสัยข้องใจเรื่องอะไร และที่ว่าเปลี่ยนประเด็นนั้น เปลี่ยนอย่างไร ก็คงจะช่วยทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นว่า เป็นประเด็นที่ประกอบด้วยเหตุผล และหลักฐานหรือไม่ หรือว่าที่จำเป็นต้องเปลี่ยนประเด็น หรือว่าจำเป็นต้องตัดประเด็นนั้นออกไป เพราะไม่ประกอบด้วยหลักฐาน และไม่ประกอบด้วยเหตุผล
สำหรับข้อที่ว่า พิฆาตศิษย์ ส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังจากท่านผู้ฟัง ท่านผู้ฟังก็ อนุโมทนาที่ทำให้ท่านเข้าใจสภาพธรรม ทำให้เข้าใจธรรมวินัยชัดเจนขึ้น และทำให้ท่านเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นประโยชน์ในชีวิตด้วย เพราะฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับประโยชน์จากธรรม มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยมากขึ้น และเจริญสติปัฏฐานด้วยนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นการพิฆาตผู้นั้น
ที่ว่า บางครั้งก็ให้รู้รูปทั้ง ๒๘ รูป รูปนามอะไรๆ ก็ให้รู้ให้หมด นามมีตั้ง ๑๒๑ โดยพิสดาร และโดยย่อ ๘๙ จะให้รู้ทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นแล้วละก็ นามอีกส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนที่อยู่ในภวังค์อีก ทำไมคุณไม่เคยพูดถึงเลย นี่เป็นข้อความจากจดหมายของคุณพุทธบุตร
ถ้าคุณพุทธบุตรเป็นผู้ที่ฟังรายการนี้โดยตลอด คงจะไม่เข้าใจผิดอย่างนี้ เพราะเหตุว่าคุณพุทธบุตรกล่าวว่า บางครั้งก็ให้รู้รูปทั้ง ๒๘ รูป ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะให้ท่านผู้ฟังรู้รูปรวมๆ กันทั้ง ๒๘ รูป ในการบรรยายแต่ละครั้ง ก็ได้เรียนชี้แจงว่า ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามทีละ ๑ นาม รูปทีละ ๑ รูป หรือว่าทีละลักษณะ จึงจะชื่อว่าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือลักษณะของรูป ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และในการบรรยายตลอดมา ไม่เคยให้ท่านผู้ฟังรู้รูปที่ไม่สามารถจะรู้ได้
ใน ๒๘ รูป รูปใดปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในขณะนั้น เป็นความไม่รู้ เป็นอวิชชา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องขวนขวายไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ ไปรู้รูปที่ไม่ปรากฏ ที่ไม่มีลักษณะปรากฏ หรือว่าจะไปรู้นามที่ไม่ปรากฏ ไม่มีลักษณะปรากฏ และไม่เคยบรรยายว่าให้ไปรู้ทั้งหมด คือ ให้รู้รูปทั้ง ๒๘ รูป ให้รู้นามทั้ง ๑๒๑ ดวง หรือ ๘๙ ดวง
ถ้าท่านผู้ฟังจะฟังทบทวนอีก ท่านก็จะทราบว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามที่ปรากฏ ลักษณะของรูปที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่มีนามปรากฏ มีรูปปรากฏ แต่ไม่รู้ จะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ
ที่มา ...