ไม่ต้องการที่จะถูกฆ่า


    เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะฆ่าบุคคลอื่น ลืมคิดถึงบุคคลที่จะถูกฆ่าว่า บุคคลหรือสัตว์ที่จะถูกฆ่าไม่ได้มีความปรารถนา หรือต้องการที่จะถูกฆ่าเลย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่รักที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินกว่าชีวิต นี่เป็นความจริง


    ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดกับทุกท่าน โลภะมีไหม โทสะมีไหม โมหะมีไหม กิเลสอื่น เช่น ความลบหลู่มีไหม ความยกตนเทียมท่านมีไหม เหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกเพื่อให้ปัญญารู้ชัด และท่านจะทราบว่า บุคคลใดละกิเลสได้ เพราะเหตุสมควรแก่ผล บุคคลใดยังดับกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ด้วยเหตุนี้การที่จะละกิเลส เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญอบรมจริงๆ แม้ในเรื่องของกาย วาจา ใจ ก็ควรจะอบรมเจริญให้เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ซึ่งจะต้องประพฤติตามศีลที่เป็นกุศล เป็นลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงเรื่องของศีลเป็นลำดับข้อไป ตั้งแต่สิกขาบทที่เป็นนิจศีล คือ ศีล ๕

    ศีล ๕ เป็นเรื่องที่ควรประพฤติปฏิบัติเท่าที่ท่านจะสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ ศีลข้อที่ ๑ ทุกท่านคงทราบแล้ว ได้แก่ เจตนาที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ปาณาติปาตา เวรมณี

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา มีข้อความว่า

    บรรดาคำเหล่านี้ คำว่า ปาณาติปาตสํวรฏฺเฐน ด้วยการสำรวมปาณาติบาต ได้แก่ ด้วยการปิดการทำสัตว์มีปาณให้ตกล่วงไป ชื่อว่าเป็นศีล

    ปาณะ ได้แก่ สัตว์ที่มีชีวิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น การสำรวมปาณาติบาต ไม่ล่วงการทำชีวิตของสัตว์ให้ตกล่วงไป ชื่อว่าเป็นศีล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ที่ว่าเป็นศีลนั้น คืออย่างไร

    การงดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าศีล และการงดเว้นจากปาณาติบาตนั้นสำรวมอยู่ซึ่งปาณาติบาตนั้นนั่นเอง ไม่ก้าวล่วงปาณาติบาตนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าไม่ก้าวล่วง

    แต่ในคำว่า ปาณาติปาตํ เป็นต้น การทำสัตว์มีปราณให้ตกล่วงไป ในบรรดาอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีคำอธิบายว่า การฆ่าสัตว์มีปราณ คือ มีปาณะ คือ การประหารสัตว์มีปราณ ชื่อว่าปาณาติบาต

    ก็ในคำว่า ปาณะนี้ โดยโวหาร ได้แก่ สัตว์ โดยปรมัตถ์ ได้แก่ ชีวิตินทริยะ

    การทำปาณาติบาตนั้น อันบุคคลให้เป็นไปแล้วในสัตว์เล็ก บรรดาสัตว์ทั้งหลาย มีสัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น ที่เว้นแล้วจากคุณ มีโทษน้อย ที่เป็นไปแล้วในสัตว์ใหญ่ มีโทษมาก

    ถามว่า เพราะเหตุไร

    แก้ว่า เพราะมีความพยายามมาก

    แม้เมื่อมีความพยายามพอประมาณ ก็มีโทษมากเหมือนกัน เพราะวัตถุใหญ่

    ปาณาติบาตที่เป็นไปในสัตว์มีคุณน้อย ในบรรดามนุษย์ เป็นต้น ที่มีคุณด้วยกัน มีโทษน้อย ที่เป็นไปในสัตว์ที่มีคุณมาก มีโทษมาก

    แต่เมื่อรูปร่าง และคุณเสมอกัน เพราะกิเลส และความพยายามอ่อนปาณาติบาตก็พึงทราบว่ามีโทษน้อย เพราะกิเลส และความพยายามแรงกล้า ปาณาติบาตก็พึงทราบว่ามีโทษมาก

    ท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาถึงการฆ่าสัตว์ว่า จะเป็นกรรมที่มีกำลังมากน้อยต่างกัน ก็เพราะวัตถุประการหนึ่ง คือ สัตว์ที่ถูกฆ่านั้น เป็นผู้ที่มีคุณน้อยหรือมีคุณมาก ถ้าสัตว์นั้นมีคุณน้อย ก็ย่อมเป็นกรรมที่แรงน้อยกว่าสัตว์ที่มีคุณมาก หรือว่าถ้าพูดถึงรูปร่าง ขนาด การฆ่าสัตว์เล็กย่อมเป็นกรรมที่มีความแรงน้อยกว่าการฆ่าสัตว์ที่มีรูปร่างหรือขนาดใหญ่ และอีกประการหนึ่ง ท่านจะต้องพิจารณาถึงความพยายาม และกิเลสของท่านด้วยว่า ขณะนั้นกิเลสมีกำลังแรงกล้าหรือว่ามีกำลังอ่อน มีความพยายามมากหรือว่ามีความพยายามน้อยในการฆ่า

    คนอื่นจะทราบได้ไหม เป็นเรื่องของตัวท่านเองจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะได้รู้ตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    องค์ประกอบของปาณาติบาต มี ๕ คือ

    ๑. ปโร ปาโณ สัตว์อื่นที่มีชีวิต

    ๒. ปาณสัญญิตา รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต

    ๓. วธกจิตตัง จิตคิดจะฆ่า

    ๔. อุปักกโม พยายามเพื่อจะฆ่า

    ๕. เตน มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

    ถ้าเป็นไปแล้วอย่างนี้ ก็ครบองค์ คือ สัตว์อื่นที่มีชีวิต รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า พยายามเพื่อจะฆ่า สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ก็ชื่อว่า ท่านได้ล่วงทุจริตกรรมที่เป็นปาณาติบาตครบองค์ ๕

    ถ. สำหรับข้อที่ ๑ ที่บอกว่า ปโร ปาโณ สัตว์อื่นที่มีชีวิต มีข้อถกเถียงกันอยู่มากว่า ฆ่าตัวเองจะเป็นการฆ่าสัตว์ไหม จะเรียกว่าครบกรรมบถหรือไม่ ในที่นี้ท่านระบุว่าเป็นสัตว์อื่น ตัวเราเองไม่ใช่สัตว์อื่น มีความชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ไม่ใช่ฆ่าตัวเอง ฆ่าตัวเองไม่เรียกว่าครบกรรมบถ

    สุ. เรื่องของการฆ่าที่จะเป็นทุจริตกรรม เพราะเหตุว่าทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน มีใครอยากจะถูกคนอื่นฆ่าบ้าง ไม่มีแน่ แต่ว่าเวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะฆ่าบุคคลอื่น ลืมคิดถึงบุคคลที่จะถูกฆ่าว่า บุคคลหรือสัตว์ที่จะถูกฆ่าไม่ได้มีความปรารถนา หรือต้องการที่จะถูกฆ่าเลย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่รักที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินกว่าชีวิต นี่เป็นความจริง


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 341


    หมายเลข 13165
    3 ต.ค. 2567