ปฏิปทาของมุนี


    ในครั้งก่อนมีบุคคลที่ได้เห็นคุณค่าของการเป็นมนุษย์ และได้เพียรพยามที่จะขัดเกลากิเลส แต่ก็มีหลายท่านที่แม้ว่าจะได้พากเพียรขัดเกลากิเลส แต่ท่านก็สิ้นชีวิตไปก่อนที่จะได้มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย สุตตนิบาต นาลกสูตร มีข้อความว่า

    อสิตฤาษีได้ทราบว่า พระสิทธัตถราชกุมารประสูติแล้ว ก็ได้ไปเฝ้า พิจารณาพระราชกุมารผู้ประเสริฐ มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งถ้อยคำว่า

    พระกุมารนี้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า

    แล้วได้พยากรณ์ว่า พระกุมารนี้ จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จะทรงเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แต่เมื่ออสิตฤาษีระลึกถึงอายุของตน ที่จะอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน ก็จะต้องสิ้นชีวิตไปเสียก่อนที่จะได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค ท่านก็เสียใจถึงกับน้ำตาตก แต่เมื่อจะอนุเคราะห์หลานของท่าน ท่านก็ได้ให้หลานของท่านสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค แล้วได้สั่งว่า ในกาลข้างหน้าเมื่อได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ให้หลานของท่านไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระผู้มีพระภาค และจะได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาค

    ท่านนาลกดาบส ผู้เป็นหลานของอสิตฤาษีเป็นผู้ที่สั่งสมบุญไว้ รักษาอินทรีย์ รอคอยการที่จะได้สดับรับฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคอยู่

    ต่อมา เมื่อท่านนาลกดาบสได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุ พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงประกาศพระธัมมจักรอันประเสริฐแล้ว ท่านก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤาษีนี้โดยแท้ เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอก มุนี และปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด

    ท่านเป็นดาบสมาก่อน แต่ว่ายังไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่า มุนี และปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา นั้น ควรจะเป็นอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก แก่ท่าน เอาเถิด เราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน

    ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่า และการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์

    อารมณ์ที่สูงต่ำมีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่ครองจักษุ เป็นต้น เหล่านารีย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลมท่าน

    มุนีละกามทั้งหลาย ทั้งที่ดี และไม่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรม ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้ง และมั่นคง

    พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า

    ข้อความต่อไปเป็นปฏิปทาของมุนีประการอื่นๆ ซึ่งสำหรับบรรพชิต การฆ่ามนุษย์เป็นอาบัติปาราชิก พ้นจากเพศของความเป็นบรรพชิตทันที แต่สำหรับฆราวาส ข้อความใน ขุททกนิกาย เนมิราชชาดก มีว่า

    ชนเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษย์โลก ฆ่ามารดา บิดา หรือพระอรหันต์ ชื่อว่า ถึงปาราชิกในเพศคฤหัสถ์

    สำหรับบรรพชิตจะพ้นจากสภาพความเป็นบรรพชิตเมื่อฆ่ามนุษย์ สำหรับคฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสด้อยกว่า น้อยกว่าเพศบรรพชิตนั้น เมื่อถึงการฆ่ามารดา บิดา พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิกของฆราวาส เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ซึ่งตามปกติแล้ว ฆราวาสก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้

    สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับนาลกดาบส เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานทั้งสิ้น เช่น ข้อความที่พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

    เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยาก

    การฆ่าสัตว์ ทำได้ยากหรือง่าย เพราะฉะนั้น สิ่งที่มุนีทำเป็นการยากสำหรับฆราวาส เพราะว่าฆราวาสฆ่าสัตว์ง่ายเหลือเกิน เมื่อมีเหตุปัจจัย มีวัตถุที่จะฆ่า ก็ฆ่าลืมคิดถึงความตระหนกตกใจ ความกลัวตาย ความรักชีวิตของสัตว์อื่นทั้งหมด

    ถ้าเปรียบตัวท่านเองอยู่ในสภาพอย่างนั้น คิดว่าสัตว์อื่นอย่างไร เราก็ฉันนั้น หรือเราอย่างไร สัตว์อื่นก็ฉันนั้น การฆ่าก็มีไม่ได้ แต่เมื่อเป็นเพศของคฤหัสถ์ ก็มีสิ่งที่จะต้องกระทำตามวิสัยของกิเลสของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น การที่จะกระทำตามมุนี คือบรรพชิตนั้น บุคคลย่อมทำได้ยาก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาเถิด เราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่า และการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน

    ทำได้หรือยัง ไม่ว่าจะเป็นการด่าหรือการไหว้ ใครจะไหว้ ใครจะด่า ก็เสมอกันระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น เสมอกันหมด จิตก็มั่นคงไม่หวั่นไหว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์อารมณ์ที่สูงต่ำมีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่ครองจักษุ เป็นต้น

    มุนีละกามทั้งหลาย ทั้งที่ดี และไม่ดีแล้ว ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้ง และมั่นคง พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า

    นี่เป็นศีลข้อที่ ๑ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรจะได้สำเหนียก สังเกตว่า ที่ท่านรักที่สุด คือ ชีวิตของท่านฉันใด สัตว์อื่น บุคคลอื่นก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่พึงฆ่าเอง และไม่พึงใช้ให้บุคคลอื่นฆ่าด้วย


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 342


    หมายเลข 13168
    3 ต.ค. 2567