นายโคบาล เข้าเฝ้าฟังธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล


    ขุททกนิกาย อุทาน เมฆียวรรคที่ ๔ โคปาลสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่

    ซึ่งในอรรถกถา ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

    คำว่า หมู่ใหญ่นั้น หมายความถึงจำนวน ความหมายหนึ่ง แล้วก็ใหญ่ด้วยคุณ คือ ความเป็นพระอริยเจ้า อีกความหมายหนึ่ง

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแวะออกจากทางแล้ว เสด็จเข้าไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งที่อาสนะอันบุคคลปูไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นายโคปาล คือ นายโคบาลคนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ให้นายโคปาลนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถา ครั้งนั้นแล นายโคปาลนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงรับภัตของข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้เถิดพระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ลำดับนั้นแล นายโคปาลนั้นทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป พอล่วงราตรีนั้นไป นายโคปาลสั่งให้ตกแต่งข้าวปายาสมีน้ำน้อย และสัปปิใหม่อันเพียงพอ ในนิเวศน์ของตน แล้วให้กราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว

    ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายโคปาลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วประทับนั่งที่อาสนะที่เขาปูลาดถวาย ลำดับนั้นแล นายโคปาลอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยข้าวปายาสมีน้ำน้อย และสัปปิใหม่ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว นายโคปาลถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายโคปาลนั้น เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมิกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ หลีกไป

    ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน บุรุษคนหนึ่งได้ปลงชีวิตนายโคบาลนั้น ในระหว่างเขตบ้าน

    ลำดับนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า นายโคปาลอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวปายาสมีน้ำน้อย และสัปปิใหม่ด้วยมือของตนในวันนี้แล้ว ถูกบุรุษคนหนึ่งปลงชีวิตเสียแล้ว ในระหว่างเขตบ้าน

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจกแล้ว พึงทำความพินาศหรือความทุกข์ให้ ก็หรือคนมีเวรเห็นคนมีเวรแล้ว พึงทำความพินาศหรือความทุกข์ให้ จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำเขาให้เลวกว่านั้น

    จบสูตรที่ ๓

    ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา มีว่า

    บุรุษผู้รักษาฝูงโคผู้นี้ มีชื่อว่านันทะ ซึ่งเล่ากันมาว่า นายนันทะนั้นเป็นคน มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคมาก เป็นผู้รักษาฝูงโคของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นายนันทโคบาลนั้น ถือเอาปัญจโครสตลอดกาลตามกาลเป็นประจำ ไปยังสำนักของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มอบให้ แล้วไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค เฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังธรรม แล้วทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเสด็จมายังสถานที่อยู่ของตน แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงรอการแก่รอบแห่งญาณของนายนันทโคบาล

    เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ฟังธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ตามชีวิตที่เป็นความจริงของท่าน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะได้กราบทูลขอเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคไปยังสถานที่อยู่ของท่าน แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงรอการแก่รอบแห่งญาณของนายนันทโคบาลนั้น

    ต่อมาพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ทรงทราบว่า บัดนี้ ญาณของนายนันทะนั้นแก่รอบแล้ว

    นอกจากพระผู้มีพระภาค ใครจะรู้ได้ไหมว่า เวลานั้นนายนันทโคบาลญาณแก่รอบที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตปกติธรรมดา ท่านผู้ฟังที่นั่งอยู่ที่นี่ คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ญาณของท่านผู้ใดแก่รอบแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องธรรมดาปกติในชีวิตประจำวัน แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า

    บัดนี้ ญาณของนายนันทะนั้นแก่รอบแล้ว

    พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จแวะจากหนทาง ในที่ไม่ไกลสถานที่อยู่ของนายนันทะนั้น ประทับนั่ง คอยการมาของนายนันทะอยู่ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง

    แม้นายนันทะแล ได้สดับว่า พระผู้มีภาคจะเสด็จจาริกไปในชนบท เสด็จไปอยู่จากที่นี้ ดังนี้ ก็หรรษา ร่าเริง รีบเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วกระทำการปฏิสันถาร นั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่เขา เขาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นิมนต์พระผู้มีพระภาคไปยังสถานที่อยู่ของตน ได้ถวายข้าวปายาสทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จหลีกไป

    เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ จึงกล่าวว่า

    พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงธรรมีกถากับนายโคปาลนั้น ผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯลฯ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ แล้วเสด็จหลีกไป

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาต่อไป ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมประการใดแก่นายโคบาลนั้นบ้าง

    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺทสฺเสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอยู่ซึ่งวิบากแห่งกรรมในกุศลกรรม เป็นต้น โดยพุทธพจน์ เป็นต้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ดังนี้ โดยประจักษ์ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า จึงได้ทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ ประการโดยชอบ ในที่สุดแห่งอนุปุพพิกถา

    ก่อนอื่น ต้องแสดงเรื่องของกุศลกรรม และอกุศลกรรม มิฉะนั้น จะไม่มีศรัทธาที่จะเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น หรือว่าละอกุศลจนสามารถที่จะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้ แต่ต้องชี้ให้เห็นจริงๆ ว่า อกุศลเป็นอกุศล และมีโทษที่เป็นวิบากแห่งกรรมนั้นในโลกนี้ และในโลกหน้าอย่างไร

    สำหรับในโลกนี้ ผู้ที่มีอายุสั้นก็เห็นอยู่แล้วว่า เป็นวิบากแห่งกรรม หรือว่าผู้ที่มีโรคมาก ก็เป็นผล เป็นวิบาก

    สำหรับโลกหน้า ก็มีกรรมนี้เป็นปัจจัย ที่จะทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานมากมาย ในทุคติภูมิ

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ประจักษ์ในสภาพความจริงของกุศล และอกุศลแล้ว ผู้ที่เข้าใจจริงๆ ย่อมเจริญกุศลยิ่งขึ้น ละอกุศลให้น้อยลง และในที่สุดของอนุปุพพิกถา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ ประการโดยชอบ ซึ่งไม่พ้นไปจากเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นทุกขอริยสัจ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป แต่ว่าเกิดสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ไม่พิจารณา ก็ไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 343

    ข้อความต่อไป

    บทว่า สมาทเปสิ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคทรงยังนายนันทะให้ถือเอาโดยรอบซึ่งธรรม มีศีล เป็นต้น ธรรมเหล่านี้อันบุคคลพึงให้ถึงในตน ดังนี้ เพื่อบรรลุสัจจะ ได้แก่ ทรงกระทำนายนันทะนั้นให้ดำรงอยู่ในธรรม มีศีล เป็นต้น

    ท่านที่ไม่ได้มีกุศลศีล เป็นผู้ที่ทุศีลอยู่ คือ เป็นผู้ที่ทำอกุศลกรรมอยู่ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาในเรื่องของกุศลกับอกุศล เช่นเดียวกับที่พระผู้มีพระภาคทรงยังนายนันทะนั้นให้ถือเอาโดยรอบซึ่งธรรม มีศีล เป็นต้น ก็จะได้เห็นประโยชน์ ในการที่จะ ละเว้น งดเว้นจากอกุศลกรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่า ธรรมเหล่านี้อันบุคคลพึงให้ถึงในตน ดังนี้ เพื่อบรรลุสัจจะ

    การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เพื่อที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าไม่งด ไม่เว้นอกุศลกรรม กิเลสจะหมดไปไม่ได้ เมื่องดเว้น ละเว้นขณะใด ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่มีศีล และถ้าเห็นชัดในโทษของอกุศลกรรมเช่นเดียวกับนายนันทะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงยังนายนันทะนั้นให้ถือเอาโดยรอบซึ่งธรรม มีศีล เป็นต้นแล้ว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า สมุตฺเตเชสิ ความว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น อันบุคคลสมาทานแล้วอบรมอยู่โดยลำดับ ก็เป็นธรรมมีส่วนแห่งการแทงตลอด เป็นธรรมแก่กล้า ย่อมนำอริยมรรคมาให้โดยฉับพลัน ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงกระทำนายนันทะนั้น ให้อาจหาญโดยชอบ คือ ให้กล้าโดยชอบนั่นเอง ฉันนั้น

    การอบรมศีลจะมีไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าโลภะเกิดขึ้นแล้ว เพราะการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส แต่สติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นอกุศล ก็ไม่สามารถที่จะงดเว้น ละเว้นทุจริตกรรมได้ ซึ่งการที่จะละเว้น งดเว้นทุจริตกรรมได้ยิ่งขึ้น ก็เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั้น จึงจะทำให้กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตเจริญขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า สมฺปหํเสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงกระทำจิตของนายนันทะนั้นให้ร่าเริง ด้วยการเห็นธรรมเป็นธรรมวิเศษด้วยดี ด้วยการยังจิตให้ยินดี

    อีกประการหนึ่ง ในคำว่า สันทัสเสสิ บัณฑิตพึงทราบการแสดงเพื่อบรรเทาความลุ่มหลงงมงาย ในธรรมที่มีโทษ และไม่มีโทษ และในธรรมทั้งหลาย มีทุกข์ เป็นต้น พึงทราบการชักชวนในสัมมาปฏิบัติ ด้วยการบรรเทาความมัวเมา ประมาท การทำจิตให้กล้าหาญ ด้วยการบรรเทาจิตที่ถึงการเกียจคร้าน พึงทราบการทำให้ร่าเริง ด้วยความสำเร็จแห่งการปฏิบัติชอบ นายนันทโคบาลนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค ที่ประดุจเปิดของที่คว่ำ

    ถ้าจะคิดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่นายนันทโคบาลได้นั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สดับพระธรรม ซึ่งเป็นเรื่องผลของกรรม เป็นเรื่องของการที่ควรสมาทาน ตั้งมั่นในศีล เพราะเหตุว่าเมื่อบุคคลอบรมในศีล ย่อมเป็นธรรมที่มีส่วนแห่งการแทงตลอด และจิตของนายนันทโคบาลนั้น ก็อาจหาญ ร่าเริง คือ กล้าโดยชอบนั่นเอง ซึ่งถ้าท่านพิจารณา จะเห็นได้ว่า พยัญชนะนี้แสดงว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงกระทำให้นาย นันทะเป็นทุกข์ แต่นายนันทะ อาจหาญ ร่าเริง เพราะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    มีท่านผู้ฟังที่ไม่กล้าเผชิญกับความจริงที่ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย คือ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งกำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนบ้างไหม

    ขณะนี้ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมกำลังปรากฏกับผู้ที่ยังยึดถือ งมงาย ไม่รู้ในสภาพความจริงของนามธรรม และรูปธรรมนั้น ยังยึดถือสภาพนามธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ท่านมีความอาจหาญ กล้าหาญ ที่จะเผชิญกับความจริงที่จะละการยึดถือทั้งหมด และรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิด ที่เพียงปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ลักษณะต่างๆ กัน

    ถ้าท่านสามารถเผชิญกับความจริง สติระลึกรู้ตรงลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ ละคลายการยึดถือนามธรรม และรูปธรรม ไม่เห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนจริงๆ แทงตลอดในการเกิดขึ้น และดับไป จะเศร้า และเสียดายไหมในความเป็นตัวตน ที่เคยยึดถือนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    ขณะที่กำลังเห็น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม เป็นนามธรรมที่รู้สีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งต่างกับนามธรรมที่รู้เสียงทางหู ต่างกับนามธรรมที่คิดนึก ต่างกับนามธรรมที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ท่านพร้อมที่จะตัดเยื่อใย เห็นถูกตามความเป็นจริงในการปรากฏเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรม และรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จริงๆ แล้วหรือยัง

    หรือว่า ใจจริงยังเสียดายอยู่ ถ้าจะได้รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม นามธรรม และรูปธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ที่เกิดขึ้นปรากฏ และก็หมดไป ซึ่งถ้าผู้ใดประจักษ์สภาพความจริงอย่างนี้ และก็ละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนจะมีการเกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เสียดายไหม

    ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังไม่แทงตลอดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมโดยถูกต้อง ใจก็ยังลังเล สงสัย บางขณะ บางครั้ง ก็เสียดาย เพราะไม่รู้ว่า ถ้าประจักษ์จริงๆ แล้ว ผลคืออย่างไร

    ผล คือ ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอีกต่อไป และจะมีการเกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติเท่านั้น

    ท่านที่อยากจะดับกิเลส พร้อมหรือยังที่จะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ และก็ประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแต่ละชนิดเท่านั้นแยกขาดจากกัน

    ผู้ใดก็ตาม ได้ฟังธรรม สติระลึกรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง จะแทงตลอดได้ ผู้นั้นเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริง ไม่กลัวด้วยอำนาจของกิเลส หรือว่าไม่เสียดายที่จะประจักษ์สภาพความจริงของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป โดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นของจริง เป็นปัญญาที่คมกล้าจริงๆ ไม่หลอกลวงไม่ใช่ล่อให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน น่าติด หรือน่ายินดี แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้น และบุคคลที่จะแทงตลอดได้ ปัญญาจะต้องอบรม และมีความอาจหาญ ร่าเริง ที่จะประจักษ์ในสภาพความไม่เที่ยง ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรม และรูปธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า อธิวาเสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาค อันนายนันทโคบาลนั้นผู้เห็นสัจจะแล้ว นิมนต์ด้วยคำนิมนต์ว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงรับคำนิมนต์ของข้าพระองค์ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงเคลื่อนไหวกาย และวาจา ทรงรับคำนิมนต์ด้วยจิตเท่านั้น คือ ทรงยินดี เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับคำนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ดังนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เล่ากันมาว่า นายนันทโคบาลนั้น นิมนต์พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์ ให้ประทับอยู่ในที่นั้น แล้วถวายมหาทานสิ้น ๗ วัน แต่ในวันที่ ๗ ได้ถวายข้าวปายาสทานอันมีน้ำน้อย พระผู้มีพระภาคทรงกระทำอนุโมทนา ก็เพราะนายนันทโคบาลนั้น มีญาณแก่กล้า เพื่อประโยชน์แห่งมรรคเบื้องบน ในอัตภาพนั้นนั่นเอง แล้วเสด็จหลีกไป

    พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเห็นว่า การที่จะประจักษ์แจ้งในความเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะประจักษ์ ทั้งๆ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดดับ ไม่เป็นสาระ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่บุคคลก็ควรที่จะประจักษ์ และผู้ที่จะประจักษ์ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ญาณแก่กล้าด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า สีมนฺตริกาย ได้แก่ ในระหว่างเขตแดน คือ ในระหว่างแห่งบ้านนั้น

    ได้ยินว่า พวกชาวบ้านอาศัยบึงแห่งหนึ่ง ได้เกิดทะเลาะกันกับนายนันทโคบาลนั้น นายนันทโคปาบนั้นเอาชนะชาวบ้านเหล่านั้นได้ จึงได้ยึดเอาบึงนั้นเสีย ชายคนหนึ่งผูกอาฆาตกับนายนันทโคบาลนั้น จึงใช้ลูกศรยิงนายนันทโคบาลนั้น ผู้ถือบาตรของพระผู้มีพระภาคตามส่งเสด็จไปยังที่ไกล ในเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงกลับเถิดอุบาสก ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วประคองอัญชลีแก่พระภิกษุสงฆ์ ประคองอัญชลีอันงดงามด้วยการประนมมือทั้ง ๑๐ นิ้วเหนือศีรษะ จนกระทั่งพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์พ้นสายตาของตนไป จึงได้เดินทางกลับ ซึ่งกำลังเดินไปอยู่แต่ผู้เดียวในราวป่าแห่งหมู่บ้านทั้งสอง ได้ถึงความตายแล้ว

    เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า อจีรปกฺกนฺตสฺส ฯ เป ฯ โวโรเปสิ คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน บุรุษผู้หนึ่งได้ปลงชีวิตนายโคบาลนั้น ในระหว่างเขตบ้าน

    ภิกษุทั้งหลายผู้ล่าช้าอยู่ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เดินมาภายหลัง ได้เห็นนายโคบาลนั้นตายแล้วอย่างนั้น จึงได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    ข้อความในอรรถกถา อธิบายถึงคำอุทานที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งในขณะนั้น มีใจความว่า

    โจร หรือบุคคลที่มีเวรต่อกัน ย่อมจะทำร้ายบุตร หรือภรรยา หรือว่านา โค กระบือของบุคคลที่มีเวรต่อกัน คือ ทำความพินาศต่างๆ ให้ แต่ว่าโจร หรือบุคคลผู้ที่มีเวรนั้น ย่อมจะสามารถทำความพินาศต่างๆ นานาให้ได้เฉพาะเพียงชาติเดียว คือ ในชาติที่พบกัน และมีเวรต่อกันเท่านั้น แต่จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำบุคคลนั้นให้เลวทราม ยิ่งกว่าการกระทำของโจร และบุคคลผู้มีเวรนั้น เพราะเหตุว่าจิตที่ตั้งไว้ผิด เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมนั้น ย่อมเป็นปัจจัยทำให้บุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิหลายแสนอัตภาพได้

    จิตของโจรซึ่งปลงชีวิตนายนันทโคบาล กับจิตของนายนันทโคบาล จิตใดเลวกว่ากัน นายนันทโคบาลเป็นพระอริยเจ้า ได้ถวายมหาทาน ๗ วัน เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใส ตามส่งเสด็จพระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์ด้วยศรัทธา ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่มีจิตเป็นกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นจิตที่ตั้งไว้ผิด แต่ว่าจิตของโจรซึ่งทำการเบียดเบียนประทุษร้าย ปลงชีวิตนายนันทโคบาลนั้น เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตที่เลว เพราะเหตุว่าจะทำให้เกิดผลที่เป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัสในอบายภูมิ

    ด้วยเหตุนี้ เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าปล่อยให้จิตเป็นอกุศล มีกิเลส ที่มีกำลัง และกระทำอกุศลกรรม เช่น ปาณาติบาต เป็นต้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นเองเป็นผู้ที่ได้รับผลของการกระทำของตน ซึ่งเป็นการกระทำที่เลว ก็ได้ผลที่เลวด้วย

    เรื่องของปาณาติบาต ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ศึกษาได้ใน มังคลัตถทีปนี วินัยกถา ก็มี และใน พระวินัยปิฎก ก็มี


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 344


    หมายเลข 13173
    5 ต.ค. 2567