จดหมายอาจารย์ดวงเดือนถึงท่านอาจารย์ พ.ศ. 2516
ขออ่านจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดเห็น และเป็นชีวิตของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๕๙๐ ซอยตากสิน ๘ ถนนเจริญนคร บุคคโล กรุงเทพมหานคร
๑๓ มีนาคม ๒๕๑๖
กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ
ความจริงดิฉันได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่านอาจารย์เป็นประจำ แต่ยังนับว่าเป็นนักเรียนใหม่อยู่ เพราะเพิ่งมาเรียนได้ ๓ – ๔ เดือนเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับฟังการบรรยายมาก่อนหน้านี้ก็ตาม ดิฉันขอยอมรับว่า เพิ่งจะเริ่มเข้าใจแนวการสอนของท่านอาจารย์ ทั้งนี้ก็คงเป็นด้วยที่ไม่ได้อบรมสติปัญญาในอดีตมาเพียงพอ อีกประการหนึ่ง ในวัยเด็กจนเติบใหญ่ ดิฉันห่างไกลกับวัด และธรรมมาก ใช้เวลาร่วม ๑๓ ปีในโรงเรียนประจำของพวกมิชชันนารี และเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียน ก็ให้ความสนใจแต่การศึกษาทางโลก ดิฉันเริ่มสนใจ และศึกษาพระพุทธศาสนาก็เมื่ออายุ ๒๕ ปีแล้ว และในขณะนั้นศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงต้องอาศัยตำรับตำราที่ชาวพุทธตะวันตกเขียนขึ้น ซึ่งบางท่านก็นำเอาอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มาแทรกไว้ บางท่านก็เป็นชาวพุทธนิกายเซนของญี่ปุ่น และบางท่านก็แทรกเอาทัศนะของตนเองไว้ แต่ก็มีหลายท่านที่ได้จำกัดขอบเขตหัวข้อ ให้ตรงตามพุทธวจนะ
อย่างไรก็ตามกว่าดิฉันจะสามารถวิเคราะห์แยกได้ว่า ธรรมข้อใดเป็นพุทธวจนะ ธรรมใดเป็นเนื้องอก และธรรมใดที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาเลย ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี และก็ในประเทศไทยนี้เอง ธรรมที่สอนกันอยู่ก็แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในด้านปฏิบัติ อันเป็นเหตุให้ผู้ใคร่ในธรรม แต่ยังด้อยด้วยปัญญา พากันสับสนวุ่นวาย ดิฉันเองได้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในสำนักต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน แต่ละสำนักก็มีข้อปฏิบัติแตกต่างกัน ดิฉันจึงไม่ทราบว่า การปฏิบัติสำนักใดถูกต้องตาม พุทธวจนะ แต่ทราบอยู่ข้อหนึ่งว่า การปฏิบัติบางแห่งนั้น แทนที่จะเป็นวิปัสสนา กลับเป็นสมาธิ จนกระทั่งได้มีโอกาสฟังการบรรยายทางวิทยุของท่านอาจารย์โดยบังเอิญ ในรายการตอนเช้าวันหนึ่ง เมื่อประมาณ ๖ – ๗ เดือนก่อน และในเวลาใกล้ๆ กันนั้น ดิฉันได้รับหนังสือ Buddhist Outlook on Daily Life โดย Nina Van Gorkom
จากคำนำในหนังสือ ดิฉันทราบว่า ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์ การที่ผู้เขียนได้อธิบายถึงวิธีนำธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เป็นที่สนใจแก่ดิฉัน และเพื่อนชาวต่างประเทศมาก
พระพุทธศาสนามีประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ก็ตรงนี้เอง การที่ท่านอาจารย์เน้นหนักการบรรยายธรรมในข้อนี้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นประโยชน์ที่สุด
ดิฉันใคร่ขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า ดิฉันจับใจในข้อความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ในการบรรยายธรรมเมื่อ ๓ – ๔ สัปดาห์ก่อนนี้ว่า
ความรู้สึกหวั่นไหวก็ดี ความโกรธ ความกลัว ความรักก็ดี ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะบังคับบัญชาให้เกิดหรือไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะสภาวธรรมเหล่านี้เป็นอนัตตา ทำไมเราถึงต้องทำจิตให้สงบ หรือแสวงหาสถานที่ที่ทำให้จิตสงบ การรู้ การเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้จิตสงบขึ้น ทีละน้อย ก็ขอให้ท่านผู้ฟังเลือกเองว่า จะรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตมีความสงบขึ้นภายหลัง หรือท่านจะเลือกวิธีทำจิตให้สงบ แต่ปัญญาไม่เกิด ที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
ขอประทานอภัย ที่ดิฉันไม่สามารถจดจำถ้อยคำของท่านอาจารย์ได้ จึงต้องใช้สำนวนของตนเอง ซึ่งค่อนข้างจะเยิ่นเย้ออยู่สักหน่อย อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริงแท้ ก็เมื่อโลกปรากฏแก่เราในปัจจุบัน เราก็จะต้องเผชิญกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
เหตุที่ดิฉันจดหมายมาครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะเรียนถามปัญหาแต่ประการใด แต่เพื่อกราบเรียนให้ทราบถึงความรู้สึกกตัญญู ที่ท่านอาจารย์ได้เสียสละเวลามาแสดงธรรมเป็นการเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งดิฉันแน่ใจว่า ผู้ฟังประจำ หรือทางวิทยุก็ดี ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน และใคร่ถือโอกาสนี้กราบเรียนว่า ดิฉันจะปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง หากดิฉันมีโอกาสรับใช้ท่านอาจารย์ในกิจการเผยแพร่ธรรม ทั้งนี้เพื่อร่วมกิจการอันเป็นบุญกุศล และเป็นการสนองคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาเผยแพร่ธรรมอันเป็นมรดกอันล้ำค่าแก่พวกเรา ดิฉันพอจะทำหน้าที่พนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ แปลไทยอังกฤษ และตอบรับจดหมายได้ แต่งานประจำวันของดิฉัน คือ สอนหนังสือ
ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
สุ. ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าของจดหมายด้วย
ที่มา ...