ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร


    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๘๙ มีว่า

    ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร คือ ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร เป็นที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง เป็นที่ประชุมแห่งเจตนาอันเกิดในความเป็นอย่างนั้น

    ที่ว่า ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร ในขณะที่สังวร จะเป็นสังวรในปาติโมกข์ ในสิกขาบท นั่นก็เป็นเพราะศีล หรือว่าในขณะที่กำลังสังวร ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม นั่นก็เป็นศีล ในขณะนั้นละเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา เพราะว่ากำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    เป็นที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง คือ การไม่ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา

    เป็นที่ประชุมแห่งเจตนาอันเกิดในความเป็นอย่างนั้น ขณะนี้ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจเรื่องของศีล เห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ อบรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในขณะที่มีความเห็น มีความรู้ ความคิด หรือเจตนาอย่างนี้ ศีล เป็นที่ประชุมแห่งเจตนาอันเกิดในความเป็นอย่างนั้น เวลานั้นเจตนาไม่เป็นอย่างอื่น แต่ว่ามีเจตนาที่จะละทุจริตทางกาย ทางวาจา และก็มีเจตนาที่จะสำรวม สังวร น้อมนำธรรมมาสังวร มาประพฤติ มาปฏิบัติตามมากยิ่งขึ้น

    ข้อความต่อไป

    ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาปาทะ มิจฉาทิฏฐิ

    ความประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจานั้น ไม่ใช่มีสมุฏฐานมาจากอื่นเลย นอกจากจิต เพราะฉะนั้น ที่ว่า ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม ก็คือ ไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต การฆ่าสิ่งที่มีชีวิต อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของวัตถุที่บุคคลอื่นไม่ได้ให้ กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม มุสาวาท การพูดเท็จ ปิสุณาวาจา การพูดส่อเสียด ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ สัมผัปปลาปะ การพูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เกินประมาณ เพ้อเจ้อ นอกจากนั้นก็ยังจะต้องไม่ก้าวล่วง อภิชฌา พยาปาทะ มิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นเรื่องของอกุศลจิต

    คือ ยิ่งสังวร ยิ่งสำรวม ยิ่งระวัง นั่นยิ่งจะเป็นศีลที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ

    ข้อความต่อไปก็ละเอียดขึ้น คือ

    ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกามราคะด้วยเนกขัมมะ ... ความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ... ถีนมิทธิด้วยอาโลกสัญญา ... อุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ... วิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม ... อวิชชาด้วยญาณ ... อรติด้วยความปราโมทย์ ... นิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ... วิตก วิจารด้วยทุติยฌาน ... ปีติด้วยตติย-ฌาน ... สุข และทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ... รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญาด้วย อากาสานัญจายตนสมาบัติ ... อากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตน-สมาบัติ ... วิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... อากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ... นิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ... สุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา ... อัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา ... นันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา ... ราคะด้วยวิราคานุปัสนา ... สมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา ... อาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา ... ฆนสัญญาด้วยวยานุปัสนา ... ธุวสัญญาด้วย วิปริณามานุปัสนา ... นิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา ... ปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา ... อภินิเวสด้วยสุญญตานุปัสนา ... สาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ... สัมโมหาภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ ... อาลยาภินิเวสด้วยอาทีนวานุปัสนา ... อัปปฏิสังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา ... สังโยคาภินิเวสด้วยวิวัฏฏนานุปัสนา ... กิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ... กิเลสหยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค ... กิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ฯ

    เป็นเรื่องของศีลที่จะสมบูรณ์ขึ้น บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงความเป็น พระอรหันต์ ซึ่งมีข้อความว่า ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค

    ศีลที่จะอบรมเพื่อความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ไม่มีจุดมุ่งหมายในการอบรมศีล หรือในการเจริญรักษาศีล แต่ว่าจุดหมายของการอบรมรักษาศีลนั้น เพื่อความบริสุทธิ์จากกิเลส ตั้งแต่ขั้นปาณาติบาต จนกระทั่งถึงการละกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฏฐิด้วยโสตาปัตติมรรค จนกระทั่ง ไม่ก้าวล่วงกิเลสหยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค ไม่ก้าวล่วงกิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค และจนกระทั่งถึง ไม่ก้าวล่วงกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค

    นี่คือจุดประสงค์สูงสุดของการอบรมรักษาศีล

    ข้อความต่อไป ข้อ ๙๐ มีว่า

    ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาตเป็นศีล เวรมณี การงดเว้นเป็นศีล เจตนาเป็นศีล สังวรเป็นศีล การไม่ล่วงเป็นศีล

    ศีลเห็นปานนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ เพื่อโสมนัส เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก เพื่อเป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นบริขาร เพื่อเป็นบริวาร เพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว

    นี่เป็นจุดประสงค์ของการอบรมเจริญศีล

    หรือว่าจะรักษาศีล ๕ ไม่ใช่เพื่อนิพพาน

    ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว รักษาศีล ๕ เพื่อผลของศีล ๕ แต่ว่าผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อการดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่รักษาศีลได้ไหม ถ้าไม่รักษา ก็เป็นการสะสมกิเลสให้มีกำลังกล้าขึ้น ยากแก่การที่จะดับได้

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 324

    ขอต่อเรื่องของศีล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๙๐ มีข้อความว่า

    ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาตเป็นศีล เป็นต้น เป็นลำดับไปทั้ง ๕ ข้อ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

    ท่านผู้ฟังพิจารณาความหมายของศีล จะเห็นว่า เป็นปกติที่จะต้องขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น จนถึงความหมดจดจากกิเลส ซึ่งโดยมากจะเข้าใจว่า ศีลเป็นแต่เพียงการวิรัติทุจริตกรรม เป็นการงดเว้นการฆ่า เป็นต้น เจตนาก็เป็นศีล สังวร คือ การสำรวม สังวรก็เป็นศีล การไม่ก้าวล่วงก็เป็นศีล

    นี่เรื่องของศีลที่ละเอียดขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ เพื่อโสมนัส เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก เพื่อเป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นบริขาร เพื่อเป็นบริวาร เพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว

    จริงไหมอย่างนี้ เจตนาเป็นศีล และศีลเห็นปานนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ เพื่อโสมนัส ... ลองสังเกตจิตใจบ้างหรือเปล่า เวลาที่จิตเป็นอกุศล ที่เป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะ กับขณะที่เป็นกุศลจิต มีเจตนาที่จะวิรัติทุจริตกรรม

    สำหรับบางท่าน จะสังเกตได้ว่า แม้แต่จะให้เกิดเจตนาที่งดเว้นก็ยาก แม้ในศีลข้อแรก คือ ปาณาติบาต ยากหรือง่าย บางคนฆ่าสัตว์เป็นนิจ เวลาเห็นใครฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ผู้ที่มีศีลเป็นปกติ ก็ใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นละเสียบ้าง เว้นเสียบ้าง เพื่อเป็นการอบรมขัดเกลา ไม่ให้หนาแน่นไปด้วยอกุศลจิต อกุศลกรรม แต่บุคคลที่มีปกติฆ่าแม้สัตว์เล็กสัตว์น้อย รู้สึกว่าเป็นธรรมดา ไม่มีแม้เจตนาที่คิดจะเว้น เคยสังเกตบ้างไหมว่า เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เห็นมดเดินผ่านก็ฆ่าแล้ว ยังไม่ได้กัด ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีแม้เจตนาที่จะละเว้นปาณาติบาต

    เพราะฉะนั้น ถ้าก่อนนี้บุคคลใดเป็นผู้ที่ไม่ได้ละเว้นการฆ่าสิ่งที่มีชีวิต แต่ภายหลังเห็นว่า การฆ่าสิ่งที่มีชีวิตนั้นเป็นอกุศลกรรม เกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต จึงเกิดเจตนาที่จะวิรัติทุจริต ในขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งจะทำให้เกิดปีติ เกิดโสมนัสได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็ลำดับของท่านไปว่า แต่ก่อนนี้ ท่านมีเจตนาที่จะวิรัติทุจริตกรรมในศีล ๕ ข้อหนึ่งข้อใดบ้างแล้วหรือยัง หรือว่ายังคงเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ล่วงไปได้ ประพฤติไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นโทษ ก็เกิดเจตนาที่จะวิรัติทุจริต กุศลก็ค่อยๆ เริ่มพัฒนา สะสมเพิ่มพูนให้บริบูรณ์ขึ้นได้ โดยเริ่มตั้งแต่ในขั้นของเจตนา

    สำหรับประการต่อไปที่ว่า สังวรก็เป็นศีล เมื่อท่านเกิดเจตนาที่จะวิรัติทุจริตกรรม ต้องระมัดระวังไหม หรือว่าเมื่อเกิดเจตนาแล้ว ก็แล้วไป ยังคงพลั้งเผลอ เวลาจะนั่ง จะลุก ก็ไม่ดูว่าจะทำร้าย ทำอันตรายสัตว์เล็กสัตว์น้อยบ้างหรือเปล่า แต่ว่าผู้ที่ต้องการจะเจริญกุศล ต้องมีความเพียรที่จะสังวร ระวัง ไม่ให้ล่วงเป็นทุจริต

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีเจตนาแล้ว การสังวร การระวังที่จะไม่ให้ล่วงเป็นอกุศลกรรมนั้น ก็เป็นเพราะสติเกิดขึ้นในขณะนั้น ระลึกได้ และในขณะที่สังวรระวัง ในขณะนั้นเอง ปราโมทย์ ปีติ โสมนัส ก็ย่อมเกิดได้ในการสังวร ในการระวังของตน ในขณะนั้น ที่จะไม่ให้เป็นทุจริต

    เพราะฉะนั้น กุศลกรรมก็ย่อมนำมาซึ่งปีติ ปราโมทย์ โสมนัสได้ทั้งสิ้น


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 324


    หมายเลข 13182
    8 ต.ค. 2567