หมู่สัตว์ ถูกรกชัฏหุ้มห่อ
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัตติวรรคที่ ๓ ชฎาสูตรที่ ๓ ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงให้เห็นความสำคัญของศีล มีข้อความว่า
เทวดากล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถามพระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า
นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นในศีล อบรมจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตน ภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ราคะก็ดี โทสะก็ดี อวิชชาก็ดีบุคคลทั้งหลายใด กำจัดเสียแล้ว บุคคลทั้งหลายนั้น เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหาเป็นเครื่องยุ่ง อันบุคคลทั้งหลายนั้น สางเสียแล้ว นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญา และรูปสัญญาก็ดี ย่อมดับหมดในที่ใด ตัณหาเป็นเครื่องยุ่งนั้น ย่อมขาดไปในที่นั้น
ทุกท่านเป็นสัตว์โลก รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก มองเห็นบ้างไหมว่า รก อะไรรก กิเลส โดยเฉพาะคือ ตัณหา ความยินดีพอใจในภายใน คือ ในตนเอง มีมากไหม รักตัวเองนักหนาหรือเปล่า รักรูปตัวเอง คิ้ว ตา จมูก ปาก ผม นิ้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกประการ เครื่องประดับ เครื่องตบแต่ง ทั้งหมดเป็นไปด้วยความรักตัวเองเป็นนักหนา ยังไม่พอ รกทั้งภายนอก ไม่ว่ารูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี ที่มาประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีความปรารถนา มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง รกไหม ทั้งภายนอก ภายใน ที่ตนเองก็รก และก็ยังรกด้วยทั้งภายนอก เกี่ยวโยง ยึด ผูกพันแน่นหนา กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว
ใน ปกรณ์วิเสส วิสุทธิมรรค มีข้อความว่า
คำว่า ชัฏนั้น เป็นชื่อแห่งตัณหาเพียงดังข่าย จริงอยู่ ตัณหานั้น ชื่อว่าชัฏ เพราะอรรถว่า เพียงดังชัฏ กล่าวคือ เซิงเรียวหนามของกอไผ่ เป็นต้น
กอไผ่นี้รกมาก เต็มไปด้วยเซิงเรียวหนาม ซึ่งโยงกัน พันกัน หนาแน่นทีเดียว
เพราะอรรถว่า เกี่ยวประสานไว้ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยสามารถแห่งความลุ่มๆ ดอนๆ ในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์ เป็นต้น ก็ตัณหานี้นั้น เรียกว่าชัฏภายใน ชัฏภายนอก เพราะเกิดขึ้นในบริขารของตน บริขารของผู้อื่น ในอัตภาพของตน อัตภาพของผู้อื่น และในอายตนะภายใน อายตนะภายนอก
พ้นไปได้ไหม จากตัณหาในภายในที่ตนเอง ในภายนอกที่บุคคลอื่น ในอารมณ์ต่างๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ในอายตนะภายใน ในอายตนะภายนอก เป็นประจำ ที่รกอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น บุคคลที่จะสางตัณหาหรือรกชัฏนี้ได้ ก็เป็น นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นในศีล อบรมจิต และปัญญาให้เจริญอยู่
ถ้าไม่รู้ความจริงของตนเองว่า มีกิเลสมากสักเท่าไร ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก เกิดอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เป็นประจำ ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง จะดับหรือจะละตัณหานี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ผู้ที่จะดับหรือจะละกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของตัวท่านเอง คือ เรื่องของผู้ที่มีความรก ทั้งภายใน ทั้งภายนอก หรือว่าถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในศีล อบรมจิต และปัญญาให้เจริญ จึงจะสามารถดับกิเลสได้
ที่มา ...