อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรค


    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พลกรณียวรรคที่ ๑๑ พลกรณียสูตรที่ ๑

    มีข้อความว่า สาวัตถีนิทาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

    ข้อความต่อไป มรรคมีองค์อื่น คือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ตลอดไปจนถึงสัมมาสมาธิ ซึ่งมีข้อความว่า

    ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล

    จบสูตรที่ ๑

    ขาดศีลไม่ได้ แต่ว่าพยัญชนะนี้ ควรจะได้ทราบโดยละเอียด มิฉะนั้น พอท่านผู้ฟังคิดถึงอาศัยวิเวก ท่านก็จะคิดถึงแต่เฉพาะสถานที่ แต่ความจริงแล้ว ความหมายของวิเวก คือ การสละ เพราะฉะนั้น ท่านใช้พยัญชนะที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

    เพราะฉะนั้น วิเวกนั้น คือ วิราคะ นิโรธ น้อมไปในการสละนั่นเอง

    ข้อความในสูตรต่อไป

    พลกรณียสูตรที่ ๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด

    ซึ่งความหมายเดียวกับ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการสละกิเลสทั้งสิ้น

    ข้อความใน พลกรณียสูตรที่ ๓ ก็ชัดเจนขึ้น และเป็นข้อความที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ฯลฯ

    อมตะ สภาพที่ไม่ตาย คือ สภาพที่ไม่เกิด ได้แก่ นิพพานนั่นเอง

    พลกรณียสูตรที่ ๔ ก็มีข้อความที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฯลฯ

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พีชสูตร มีข้อความว่า

    อุปมาพืช ย่อมถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต เพราะอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นาคสูตร มีข้อความอุปมาว่า

    พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นมีกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย ครั้นลงสู่แม่น้ำน้อยแล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำใหญ่ ครั้นลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้น ย่อมถึงความโตใหญ่ทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    นี่เป็นการที่ศีลมีกำลังมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะถึงแม้ว่าท่านผู้ฟังจะรักษาศีล ๕ มีเจตนาสมาทานที่จะวิรัติอกุศลกรรม ทุจริตกรรม แต่ว่าศีลนั้นจะมั่นคงเท่าไร ย่อมแล้วแต่ว่า ท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ด้วยหรือไม่ เพราะถ้าท่านไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็ย่อมไม่สามารถที่จะมีความมั่นคงในการที่จะรักษาศีลนั้น ซึ่งต้องอาศัยการอบรมเป็นลำดับไป อุปมาเหมือน พวกนาคที่อาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นมีกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่บึงใหญ่ ... แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล

    อีกสูตรหนึ่ง เป็นการแสดงถึงการเป็นผู้อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กุมภสูตร พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หม้อที่คว่ำย่อมทำให้น้ำไหลออกอย่างเดียว ไม่ทำให้กลับไหลเข้า แม้ฉันใด ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมระบายอกุศลธรรมอันลามกออกอย่างเดียว ไม่ให้กลับคืนมาได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแต่เจตนาที่จะสมาทานรักษาศีล แต่ต้องเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วย จึงจะสามารถระบายอกุศลธรรมอันลามกออก ไม่ให้กลับคืนมาได้ ไม่ให้ล่วงทุจริตกรรมได้ เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละครั้ง แต่ละขณะ น้อมไปสู่การสละ ที่จะไม่ยึดถือสภาพของนามธรรมนั้น รูปธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นการระบายอกุศลธรรมออก

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เมฆสูตรที่ ๒ ก็มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลมแรงย่อมยังมหาเมฆอันเกิดขึ้นแล้วให้หายหมดไปได้ในระหว่างนั่นเอง แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมยังอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หาย สงบไปในระหว่างได้โดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน

    ถ้าสะสมเจริญอบรมสติกับปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม หมดความสงสัยลังเลในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จนสามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมได้ แม้ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของอกุศลธรรมในขณะนั้น ปัญญาแทงตลอดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของอกุศลธรรมนั้น และสามารถจะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้

    ทุกท่านไม่สามารถที่จะยับยั้งอกุศลธรรม เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่อกุศลธรรมใดจะเกิด อกุศลธรรมอันลามกนั้นย่อมเกิดขึ้น และอาจจะมีกำลังแรง เพราะว่าสะสมมานาน แต่แม้กระนั้น ถ้าสติปัญญาอบรมเจริญมาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้น ที่จะแทงตลอดประจักษ์ในความจริงของสภาพธรรมนั้น ก็ทรงอุปมาเหมือนกับลมแรง ที่ย่อมยังมหาเมฆที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หายหมดไปได้ในระหว่างนั่นเอง

    แต่ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็ย่อมจะล่วงศีลได้ตามกำลังของกิเลส ซึ่งเรื่องของศีล เป็นเรื่องที่จะพิสูจน์จิตใจของแต่ละท่านว่า กิเลสของท่านมีกำลังแรงกล้าแค่ไหน ถ้ายังสามารถที่จะประพฤติทุจริตกรรม ก็แสดงว่า กิเลสนั้นยังมีกำลังแรงมาก


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 326


    หมายเลข 13186
    10 ต.ค. 2567