บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เสทกสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะชื่อเสทกะ ใน สุมภชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว ยกไม้ไผ่ขึ้นตั้งไว้แล้วเรียกศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะมาบอกว่า ดูกร เมทกถาลิกะ ผู้เป็นสหาย มาเถิด มาขึ้นไม้ไผ่ แล้วยืนอยู่บนคอของเรา
เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์รับคำของนักไต่ราวแล้ว ขึ้นราวไม้ไผ่ ยืนอยู่บนคอของอาจารย์ ครั้งนั้นแล คนจัณฑาลนักไต่ราวจึงพูดกะเมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ว่า ดูกร เมทกถาลิกะผู้เป็นสหาย ท่านจงรักษาเรา เราจักรักษาท่าน เราทั้งสองต่างคุ้มครองกัน และกัน ต่างรักษากัน และกันอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากราวไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี
ไม่ได้มุ่งรักษาตัวเองเลยใช่ไหม มุ่งรักษาคนอื่น และให้คนอื่นรักษาตน ถ้าเป็นอย่างนั้นจะสำเร็จไหม
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ก็เรื่องนี้จักเป็นอย่างนั้นหามิได้ ท่านจงรักษาตน ผมก็จักรักษาตน เราทั้งสองต่างคุ้มครองตน ต่างรักษาตนอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากไม้ไผ่ได้โดยสวัสดี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เหตุผลในข้อนั้นมีดังนี้ เหมือนศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะได้พูดกะอาจารย์ ฉะนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นอย่างไร
ที่ชื่อว่ารักษาผู้อื่น ด้วยการส้องเสพ ด้วยการเจริญ ด้วยการกระทำให้มาก บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น อย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างไร
ที่ชื่อว่ารักษาตน ด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีจิตประกอบด้วยเมตตา ด้วยความเอ็นดู บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน อย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน
ที่ว่า พึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตน เพื่อขัดเกลากิเลสของตน ถ้ากิเลสของตนเบาบางแล้ว จะชื่อว่ารักษาบุคคลอื่นได้ไหม คนอื่นย่อมจะไม่ได้ถูกเบียดเบียนด้วยการกระทำของผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าบุคคลผู้เจริญสติปัฏฐานมุ่งที่จะขัดเกลากิเลสเพื่อรักษาตน เมื่อกิเลสของบุคคลนั้นเบาบางแล้ว ย่อมชื่อว่า รักษาบุคคลอื่น เพราะว่าจะไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นด้วย
ที่มา ...