อกุศลธรรมต้องเป็นอกุศลธรรม


    ท่านผู้ฟังที่มีอาชีพต่างๆ ก็มักสงสัย และอาจจะเข้าข้างตัวเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ที่ว่าเป็นสิ่งที่ท่านควรกระทำ หรือเป็นสิ่งที่ท่านจำเป็นจะต้องกระทำ ถ้าท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลธรรมต้องเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่เห็นผิดว่า อกุศลธรรมนั้นเป็นกุศลธรรม ถ้าท่านเห็นผิด จะไม่เกิดความเห็นถูก และไม่สามารถที่จะดับความเห็นผิดได้

    ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎก ถ้าท่านศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงตรง จริงตามสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอาชีพอย่างไรก็ตาม แต่ธรรมก็ต้องเป็นธรรม

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปาฏลิยสูตร เป็นพระสูตรที่ยาว ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความบางประการเท่านั้น เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย หรืออาจจะเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่ท่านจะต้องกระทำอกุศลกรรมนั้นๆ

    ข้อความใน ปาฏลิยสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุตตรนิคมแห่งชาวโกฬิยะ ในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่าปาฏลิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระ ผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ดังนี้ ชนเหล่านั้น เป็นอันกล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้แลหรือ เพราะว่าข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร นายคามณี ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงทราบมายา ดังนี้ ชนเหล่านั้น เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ย่อมไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ย่อมไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้

    มายาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล ไม่จริง แต่ทำเสมือนว่าจริง ผิดแต่ทำเสมือนถูก นั่นเป็นมายา ไม่ได้บรรลุ ก็เสมือนกับว่าบรรลุธรรม นั่นก็เป็นมายา ซึ่งนายบ้านนามว่าปาฏิลยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า

    ข่าวเล่าลือข้อนั้น จริงเทียวพระองค์ แต่พวกข้าพระองค์มิได้เชื่อถือสมณพราหมณ์พวกนั้นว่า พระสมณโคดมทรงรู้จักมายา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่า พระสมณโคดมมีมายา

    ในครั้งโน้น แม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก็ยังมีผู้กล่าวว่า พระองค์เป็นผู้ที่มีมายา

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายคามณี ผู้ใดแลพูดอย่างนี้ว่า เรารู้จักมายา ผู้นั้นย่อมจะพูดอย่างนี้ว่า เรามีมายา

    ซึ่งนายคามณีก็ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นย่อมเป็นดังนั้นเทียว ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นย่อมเป็นดังนั้นเทียว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายคามณี ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพึงแก้ตามที่ท่านชอบใจ

    ให้ตอบเอง เพื่อจะได้เป็นความเข้าใจของผู้ถามอย่างชัดเจนว่า ที่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้จักมายา กับที่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีมายานั้น ผู้ถามมีความเห็นว่าอย่างไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามนายบ้านว่า

    ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะหรือ

    นายคามณีกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ มีประโยชน์อย่างไร

    นายคามณีกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะ มีประโยชน์ดังนี้ คือ เพื่อป้องกันพวกโจรแห่งชาวโกฬิยะ เพื่อละความเป็นคนนำข่าวแห่งชาวโกฬิยะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะมีประโยชน์อย่างนี้ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านย่อมรู้จักอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวในนิคมแห่งชาวโกฬิยะว่าเป็นคนมีศีล หรือเป็นคนทุศีล

    นายคามณีกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะว่าเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม และพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาว โกฬิยะเป็นพวกหนึ่งในจำนวนบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทรามในโลก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นายคามณี ผู้ใดแลพึงพูดอย่างนี้ว่า นายบ้านนามว่าปาฏลิยะ รู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้นายบ้านปาฏลิยะก็เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อพูดถึง พึงพูดถูกหรือหนอ แล

    ถูกหรือผิด พระผู้มีพระภาคจะทรงแก้ความเข้าใจของนายบ้าน ในเรื่องของบุคคลผู้รู้จักมายา และผู้มีมายาว่าต่างกัน

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 330

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี ผู้ใดแลพึงพูดอย่างนี้ นายบ้านนามว่าปาฏลิยะรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้นายบ้านปาฏลิยะก็เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อพูดถึง พึงพูดถูกหรือหนอแล

    นายบ้านกราบทูลว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่พระเจ้าข้า พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะเป็นพวกหนึ่ง ข้าพระองค์เป็นพวกหนึ่ง พวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกฬิยะเป็นคนมีธรรมเป็นอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์เป็นคนมีธรรมเป็นอย่างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี ก็ที่จริง ท่านจะไม่ได้เป็นดังนี้ว่า นายบ้านนามว่าปาฏลิยะรู้จักพวกอำมาตย์ผู้มีมวยผมยาวแห่งชาวโกลิยะซึ่งเป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม แต่นายบ้านปาฏลิยะไม่ใช่เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทราม ฉะนั้น ตถาคตจักไม่ได้เป็นดังนี้ว่า ตถาคตรู้จักมายา แต่ว่าตถาคตไม่มีมายา

    ดูกร นายคามณี เรารู้ชัดทั้งมายา ผลของมายา และตลอดถึงความที่บุคคลผู้มีมายาปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เรารู้ชัดทั้งปาณาติบาต ผลของปาณาติบาต และตลอดถึงความที่บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เรารู้ชัดทั้งอทินนาทาน ผลของอทินนาทาน และตลอดถึงความที่บุคคลผู้ลักทรัพย์ปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เรารู้ชัดทั้งกาเมสุมิจฉาจาร ผลของกาเมสุมิจฉาจาร และตลอดถึงความที่บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เรารู้ชัดทั้งมุสาวาท ผลของมุสาวาท และตลอดถึงความที่บุคคลผู้พูดเท็จปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เรารู้ชัดทั้งปิสุณาวาจา ผลของปิสุณาวาจา และตลอดถึงความที่บุคคลกล่าวคำส่อเสียดปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เรารู้ชัดทั้งผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ตลอดถึงความที่บุคคลเป็นมิจฉาทิฏฐิปฏิบัติอย่างไรแล้ว เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    ข้อความต่อไป ขอให้ท่านพิจารณาโดยละเอียด

    พระมีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่าบุคคลผู้ฆ่าสัตว์ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน บุคคลผู้ลักทรัพย์ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน บุคคลผู้พูดเท็จทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน

    ดูกร นายคามณี ก็แหละบุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา

    ชนทั้งหลายพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไรจึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา

    ชนทั้งหลายได้พูดถึงชายคนนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ข่มข้าศึกของพระราชาแล้วฆ่ามันเสีย พระราชาทรงโสมนัส ได้ทรงพระราชทานรางวัลฉะนั้น ชายคนนี้จึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา

    ดูกร นายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือกที่เหนียวแน่นมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้วโกนศีรษะเสีย แล้วพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงสนั่น แล้วออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของพระนคร

    ชนทั้งหลายได้พูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไรไว้ จึงถูกเขาเอาเชือกที่เหนียวแน่นมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้วโกนศีรษะเสีย แล้วพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอก ด้วยบัณเฑาะว์เสียงสนั่น แล้วออกทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของพระนคร

    ชนทั้งหลายได้พูดถึงชายคนนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ฆ่าบุรุษหรือสตรีที่เป็นมิตรกับพระราชา ฉะนั้นพระราชาทั้งหลาย จึงรับสั่งให้จับเขาแล้วกระทำกรรมกรณ์เห็นปานนี้ ดังนี้

    ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็น หรือได้ฟังมาบ้างไหม

    สองคนฆ่าเหมือนกัน แต่ว่าผลผิดกัน และก็มีสมณะพวกหนึ่งที่มีวาทะอย่างนี้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ทุกคน ต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามนายบ้านว่า ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหม

    นายบ้านได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้วด้วย ได้ฟังมาแล้วด้วย จักได้ฟังต่อไปอีกด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน ดังนี้เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จ

    ธรรมต้องเป็นธรรม จริง ต้องจริง เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จที่ว่า บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน ถ้าใครบอกว่า ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือเท็จ

    นายบ้านกราบทูลว่า พูดเท็จ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็พวกที่กล่าวเท็จเปล่าๆ นั้น เป็นคนมีศีลหรือเป็นคนทุศีลเล่า

    นายบ้านกราบทูลว่า เป็นคนทุศีล พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็พวกที่เป็นคนทุศีล มีธรรมเลวทรามนั้น เป็นคนปฏิบัติผิดหรือเป็นคนปฏิบัติชอบเล่า

    นายคามณีก็กราบทูลว่า เป็นคนปฏิบัติผิด พระเจ้าข้า

    ถ้าเข้าใจธรรมผิด จะให้ปฏิบัติถูกได้ไหม ก็ไม่ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็พวกที่ปฏิบัติผิดนั้น เป็นคนมีความเห็นผิด หรือเป็นคนมีความเห็นชอบเล่า

    นายคามณีกราบทูลว่า เป็นคนมีความเห็นผิด พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็สมควรละหรือที่จะเลื่อมใสในพวกที่มีความเห็นผิดเหล่านั้น

    นายบ้านกราบทูลว่า ไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา

    ชนทั้งหลายพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไรจึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรีเหมือนกับพระราชา

    ชนเหล่านั้นได้พากันพูดถึงชายคนนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ข่มขี่ ลักเอาทรัพย์ของข้าศึกของพระราชาพระราชาทรงโสมนัส ได้พระราชทานรางวัลแก่เขา ฉะนั้น ชายคนนี้จึงประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรีเหมือนกับพระราชา

    แม้ลักทรัพย์ แต่เป็นทรัพย์ของข้าศึกของพระราชา เพราะฉะนั้น พระราชาก็ทรงโสมนัส และพระราชทานรางวัลให้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือกที่เหนียวมัดแขนไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้ว ฯลฯ ตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของพระนคร

    ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไร จึงถูกเขาเอาเชือกที่เหนียวมัดแขนเอามือไพล่หลังอย่างมั่นคงแล้ว ฯลฯ ตัดศีรษะเสียทางด้านทักษิณของพระนคร

    ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงชายคนนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งแห่งโจรกรรม จากบ้านบ้าง จากป่าบ้าง ฉะนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้จับเขา แล้วทำกรรมกรณ์เห็นปานนี้

    ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างไหม

    นายคามณีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้วด้วย ได้ฟังมาแล้วด้วย จักได้ฟังต่อไปอีกด้วย

    ท่านก็เหมือนกันใช่ไหม ได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และจะได้ฟังต่อไป อย่างนี้ด้วย

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามซ้ำว่า ดูกร นายคามณี ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ลักทรัพย์ทุกคนต้องเสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน ดังนี้ เขาเหล่านั้นพูดจริงหรือพูดเท็จ

    ข้อความซ้ำต่อไปถึงการประพฤติผิดในกาม

    พระผู้พระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งทรงผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา

    ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ได้ทำอะไรจึงเป็นผู้ประดับด้วยดอกไม้ ใส่ตุ้มหู อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว ตบแต่งทรงผม และหนวดแล้ว ให้บำเรอตนด้วยความใคร่กับสตรี เหมือนกับพระราชา

    ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ประพฤติผิดในภรรยาของข้าศึกของพระราชา พระราชาทรงโสมนัส ได้พระราชทานรางวัลแก่เขา

    นี่เป็นเหตุที่ชายคนนั้นได้รับการบำเรออย่างนั้น

    ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง ปรากฏว่าถูกเชือกที่เหนียวมัดแขนไพล่หลังมั่นคง และก็ถูกตัดศีรษะ ซึ่งชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ชายคนนี้ได้ทำอะไรไว้ จึงได้รับโทษอย่างนั้น

    ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ประพฤติผิดในกุลสตรี ในกุลธิดาของพระราชา ฉะนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้จับเขาแล้วกระทำกรรมกรณ์เห็นปานนี้

    พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามซ้ำว่า ดูกร นายคามณีท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างไหม ซึ่งนายบ้านก็กราบทูลว่า เหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นมาแล้วด้วย ได้ฟังมาแล้วด้วย จักได้ฟังต่อไปด้วย

    ข้อต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงบุคคลที่ประดับด้วยดอกไม้ ได้รับการบำเรออย่างดีว่า บุคคลนั้นได้ทำอะไร จึงได้รับการบำเรออย่างดีนั้น ซึ่งชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงคนนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ทำพระราชาให้ทรงพระสรวลได้ด้วยการพูดเท็จ พระราชาทรงโสมนัส ได้พระราชทานรางวัลแก่เขา

    แต่ว่าอีกบุคคลหนึ่ง ปรากฏว่าถูกเขาเอาเชือกที่เหนียวมัดแขนไพล่หลังโกนหัวพาตระเวนไปตามถนน แล้วก็ตัดศีรษะเสีย ชนทั้งหลายได้พากันพูดถึงบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ ชายคนนี้ทำลายประโยชน์ของคฤหบดีบ้าง ของบุตรแห่งคฤหบดีบ้าง ด้วยการพูดเท็จ ฉะนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้จับเขา แล้วกระทำกรรมกรณ์ เห็นปานนี้

    ถ. การพูดถึงกรรม และผลของกรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น คือ การกระทำความผิดต่างๆ การกระทำทุจริตต่างๆ ผลของกรรมในปัจจุบันนี้ก็อาจมีได้ แต่ว่ามียากเหลือเกิน โดยมากจะปรากฏในอนาคต

    ส่วนที่ว่าการกระทำทุจริตต่างๆ แล้วได้รับการบำเรอต่างๆ การบำเรอต่างๆ นี้ ไม่ใช่ผลของการกระทำกรรมที่ทุจริตในปัจจุบันนี้แน่ เหตุกับผลไม่ตรงกัน กระทำทุจริต ทำไมจึงได้รับการบำเรอ แต่การบำเรอต่างๆ ที่ได้รับ ผมเข้าใจว่า คงจะเนื่องมาจากกุศลกรรมในอดีต ส่วนการกระทำอกุศลกรรมในปัจจุบันนี้ ก็ปรากฏว่าถูกลงโทษ ทำร้ายต่างๆ นั้น ก็อาจจะปรากฏผลในปัจจุบันนี้ได้บ้างในบางโอกาส แต่ว่าน้อยเต็มที แต่ผลก็ไม่หนีไปจากอกุศลกรรมในอดีต ทีนี้ ขณะที่พระผู้มีพระภาคกำลังอธิบายอยู่นั้น รู้สึกว่านำมาใกล้ชิดกันเข้า ก็อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ กระผมเข้าใจอย่างนี้ครับ

    สุ. โดยมากผู้ฟังที่ไม่ได้คิดถึงเหตุกับผลว่าจะต้องตรงกัน เวลาเห็นบุคคลใดได้รับรางวัล ได้รับการบำรุงบำเรอ ได้รับการประดับประดา ยกย่องต่างๆ จากการกระทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรม ก็เข้าใจว่า นั่นเป็นผลของการกระทำอกุศลกรรม เข้าใจว่าอกุศลกรรมเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรเจริญ เป็นสิ่งที่ควรทำ

    แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอกุศลกรรมบถ ซึ่งได้แก่ปาณาติบาต การฆ่าสิ่งที่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นใคร ในขณะนั้นอกุศลจิตต้องเกิด จึงจะกระทำการฆ่าสิ่งที่มีชีวิตนั้นได้ ไม่ใช่เป็นเพราะกุศลจิตแน่นอน และเมื่ออกุศลจิตที่เป็นเหตุให้กระทำการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตลงไปแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก แต่ไม่ใช่ว่า ต้องได้รับผลในปัจจุบันชาตินั้นทุกคน

    การให้ผลของกรรม แล้วแต่กาละ อาจจะให้ผลในปัจจุบันชาติ หรืออาจจะให้ผลในชาติต่อไป หรืออาจจะให้ผลในชาติต่อจากนั้นไปอีกก็ได้ ซึ่งแล้วแต่ว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำนั้น พร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลเมื่อไร

    การได้รับรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะที่ดีทั้งหมด ต้องเป็นผลของกุศลกรรมส่วนการได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจทั้งหมด ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับในปัจจุบันชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดมีวาทะ มีคำพูด หรือมีความเห็นว่า ทุกคนจะต้องได้รับทุกข์โทมนัสในปัจจุบันชาติ บุคคลนั้นกล่าวเท็จ พูดไม่ถูก เพราะเหตุว่ามีความเห็นผิด


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 331


    หมายเลข 13199
    13 ต.ค. 2567