จูฬเวทัลลสูตร วิสาขอุบาสก ถามปัญหาธรรม


    ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค จูฬเวทัลลสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ครั้นแล้วได้ถามปัญหาธรรมกับธรรมทินนาภิกษุณีหลายประการ ซึ่งข้อความในพระสูตร ข้อ ๕๐๘ วิสาขอุบาสกได้ถามธรรมทินนาภิกษุณีว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นไฉน

    ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวว่า

    ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑

    นี่เป็นคำแปลจากภาษาบาลีที่ว่า ปัญญาอันเห็นชอบ คือ สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ความดำริชอบ คือ สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก วาจาชอบ ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ทำการงานชอบ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก เลี้ยงชีวิตชอบ ได้แก่ สัมมาอาชีโวเจตสิก ความเพียรชอบ ได้แก่ สัมมาวายาโมเจตสิก ความระลึกชอบ คือ สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก ความตั้งจิตไว้ชอบ คือ สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

    แต่ต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมให้ตรงด้วยว่า ความตั้งจิตไว้ชอบเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิ เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งจิตไว้ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ พร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่มีตัวตนไปตั้งจิตไว้ชอบ

    เวลาที่อ่านพระสูตร อย่าเข้าใจตามความคิดของท่านว่า ท่านจะต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เป็นตัวตนที่กระทำ ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะว่านี่เป็นลักษณะของกิจของเจตสิกซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่ละลักษณะ แต่ละองค์ เพราะฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกนั้น คือ ตั้งจิตไว้ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ พร้อมสติที่ระลึกรู้ในอารมณ์นั้น อย่าเข้าใจว่า ข้อความนี้แปลว่าความตั้งจิตไว้ชอบ ท่านก็จะต้องมีหน้าที่ไปตั้งจิตไว้อย่างนั้นอย่างนี้ให้ชอบ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นกิจของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับสัมมาสติ ซึ่งเป็นมรรคในมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น เป็นการตั้งจิตไว้ชอบในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    วิสาขอุบาสกถามว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะหรือเป็นอสังขตะ

    ธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวว่า

    ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ

    สังขตะ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหมายถึงเจตสิก ๘ ดวงที่เกิดขึ้นกระทำกิจการงานแล้วก็ดับไป เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น และดับไป จึงเป็น สังขตธรรม

    สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิดไม่ดับ มีอย่างเดียว คือ นิพพาน ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิด และไม่ดับ เพราะฉะนั้น นิพพานเท่านั้นที่เป็นอสังขตธรรม ส่วนธรรมอื่นมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสังขตธรรม

    ข้อความต่อไป

    วิสาขอุบาสกถามว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓

    โดยมากท่านผู้ฟังได้ยินแต่ขันธ์ ๕ แต่ว่าขันธ์ ๓ หมายความถึงกองศีล กองสมาธิ กองปัญญา คือ ท่านถามว่า ศีลทั่วๆ ไป สมาธิทั่วๆ ไป ปัญญาทั่วๆ ไป เป็นมรรคมีองค์ ๘ ใช่หรือไม่ หรือว่าในมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง เป็นทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่เข้าใจข้อความตอนนี้ การปฏิบัติของท่านจะผิด และคลาดเคลื่อนไป เพราะท่านอาจจะคิดว่า ท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว นั่นไม่ถูก

    เรื่องของศีลเป็นเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ คือ การเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบถูกต้อง หรือไม่คิดนึก ตรึกตรองตามปกติ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า หรือว่าปัญญาที่รู้ว่า ทำอย่างไรจิตจะสงบ ทำอย่างไรจึงจะรักษาศีลได้ไม่ล่วงศีล อย่างนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่ามรรคมีองค์ ๘ ประกอบพร้อมทั้งมรรคองค์ที่เป็นศีล มรรคองค์ที่เป็นสมาธิ มรรคองค์ที่เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกระทำการปฏิบัติอื่นให้เกิดสมาธิ และก็เข้าใจว่า นั่นเป็นการประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่จะเป็นหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าขณะใดที่มรรคมีองค์ ๘ เจริญ เกิดขึ้น ขณะนั้นประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

    ซึ่งธรรมทินนาภิกษุณีได้กล่าวตอบว่า

    ดูกร วิสาขะผู้มีอายุ ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์

    เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น ได้ยิน และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะว่าอธิจิตต-สิกขา คือ สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ในขณะนั้นไม่ได้ขาดสมาธิ ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เอกัคคตาก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เป็นสัมมาสมาธิ ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติสมาธิอื่น เพราะว่าในมรรคมีองค์ ๘ ประกอบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

    ซึ่งถ้าท่านเข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก ก็จะทำให้ไม่คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดในการปฏิบัติ


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 568


    หมายเลข 13205
    19 ต.ค. 2567