กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่าง


    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เขตตสูตร ข้อ ๕๒๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำแต่แรกของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ก่อนอื่นจะต้องไถคราดนาให้ดีก่อน แล้วก็เพาะพืชลงไปตามกาล ครั้นแล้วก็ไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาออกเสียบ้างตามสมัย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำแต่แรกของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล ฉันใด กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำก่อนของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทาน อธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ

    ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ โดยเฉพาะ แต่กล่าวทั่วไปถึงการที่จะสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งอธิศีลสิกขาก็ดี อธิจิตตสิกขาก็ดี อธิปัญญาสิกขาก็ดี หมายถึงการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าในมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีทั้งองค์ที่เป็นศีล องค์ที่เป็นสมาธิ และองค์ที่เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้น กิจแรกของภิกษุไม่ใช่ทำอย่างอื่น นอกจากอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ที่มา ... แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 568

    ข้อความใน วัชชีปุตตสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทนี้พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุ ก็ท่านสามารถจะศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ หรือ ฯ

    ภิกษุวัชชีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถจะศึกษาได้ในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัส.

    ดูกร ภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ เมื่อใด ท่านจักศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิปัญญาสิกขาก็ดี เมื่อนั้น เมื่อท่านนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิปัญญาสิกขาอยู่ก็ดี จักละราคะ โทสะ โมหะเสียได้ เพราะละราคะ โทสะ โมหะเสียได้ ท่านนั้นจักไม่กระทำกรรมเป็นอกุศล จักไม่เสพกรรมที่เป็นบาป

    ครั้นสมัยต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาแล้ว ทั้งอธิศีลสิกขา ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้ง อธิปัญญาสิกขา เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี ศึกษา อธิปัญญาสิกขาก็ดี ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว เพราะละราคะ โทสะ โมหะเสียได้ เธอมิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป ฯ

    จะเห็นได้ว่า เรื่องของสิกขาบทสำหรับพระภิกษุที่เป็นปาติโมกข์มีมากทีเดียว สำหรับพระภิกษุ ท่านจะต้องรักษาสิกขาบทถึง ๒๒๗ ข้อ ซึ่งภิกษุวัชชีบุตรเห็นว่า สิกขาบทเหล่านั้นมากทีเดียว ท่านไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้นได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านไม่อาจที่จะศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้นได้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งท่านรักษาได้ และในขณะที่ท่านศึกษา อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้นเอง ก็เป็นการอบรมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในที่สุดก็ละราคะ โทสะ โมหะได้ มิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป

    นี่เป็นกิจโดยตรงของผู้ที่เป็นบรรพชิต เพื่อจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ และในขณะที่ท่านศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้นเอง ก็ย่อมเกื้อกูลให้ท่านสามารถที่จะศึกษาสิกขาบทของบรรพชิตได้ โดยที่ไม่ได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป

    เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ได้กล่าวถึงแล้วมาก ไม่ว่าท่านจะเป็นเพศฆราวาสหรือว่าเพศบรรพชิตก็ตาม ขณะใดที่มีการวิรัติทุจริต ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะใดที่ล่วงสิกขาบท คือ ไม่สามารถที่จะวิรัติทุจริตกรรมได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่มีกำลังเกิดขึ้น จึงได้กระทำการล่วงทุจริตกรรมไป


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 569


    หมายเลข 13207
    19 ต.ค. 2567