ภาวนาในโพธิสมภารมี ๔ อย่าง


    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก นิทานกถา มีข้อความที่แสดงภาวนา ๔

    ภาวนา คือ การสะสมอบรมกุศลที่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งความประพฤติในแต่ละชาติที่เป็นไป เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้งหมด เป็นโพธิสมภารทั้งสิ้น

    ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินคำว่า โพธิ หรือ โพธิสมภาร บ่อยๆ โพธิสมภาร คือ การประพฤติเป็นไปในกุศล ซึ่งเป็นบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    โพธิสมภาร หรือโพธิจริยา อัครยาน บารมี โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงความหมายของภาวนา ซึ่งกว่าจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ไม่ใช่เร่งรีบทำกุศลชาติเดียวก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา จริยาปิฎก มีว่า

    ภาวนาในโพธิสมภารมี ๔ อย่าง คือ สัพพสัมภารภาวนา ๑ นิรันตรภาวนา๑ จิรกาลภาวนา ๑ สักกัจจภาวนา ๑

    เป็นการแสดงลักษณะของการอบรมเจริญภาวนา คือ การสะสมเหตุที่จะ ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมทุกๆ ชาตินั่นเอง

    คำอธิบายมีว่า

    จิรกาลภาวนา คือ การบำเพ็ญตลอดกาลนาน

    สำหรับพระผู้มีพระภาค คือ ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่ชาติเดียว เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังโยนิโสมนสิการ ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจ พระธรรม เป็นสังขารขันธ์ เป็นจิรกาลภาวนาที่จะต้องอบรมไปเป็นเวลานาน กว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นแต่ละขั้น จากขั้นเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนถึงขั้นที่ สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจนรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม โดยไม่ใช่ตัวตน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเกิด แต่ต้องเป็น จิรกาลภาวนา

    นิรันตรภาวนา คือ การบำเพ็ญติดต่อกันไป

    แล้วแต่ว่าชาติไหนจะสะสมบารมีใดได้มากน้อย ถ้าในชาติที่เป็นมนุษย์ และ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ชาตินั้นก็เป็นกาลที่สะสม การเจริญสติปัฏฐานไป และเมื่อเกิดอีกในชาติต่อไป ในสุคติภูมิ ก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมต่อ อบรมเจริญสติปัฏฐานต่อ เป็นนิรันตรภาวนา แต่ชาติไหนที่ไม่ได้เกิด เป็นมนุษย์ หรือไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ชาตินั้นก็ขาดการติดต่อในการบำเพ็ญไป

    เพราะฉะนั้น นิรันตรภาวนา คือ การบำเพ็ญติดต่อกันไป แล้วแต่ชาติใด จะสะสมบารมีใดได้มากน้อย แม้แต่ชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม พระโพธิสัตว์ก็ยังสะสมบารมีอื่น เช่น สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี ขันติบารมี เป็นต้น ซึ่งแต่ละชีวิตในแต่ละชาติ ถ้าศึกษาตัวเองก็จะได้ทราบว่า นอกจากการฟังพระธรรม ซึ่งกำลังสะสมปัญญาบารมี ท่านผู้ฟังสะสมบารมีอื่นบ้างไหม เช่น เมตตาบารมี มีการเมตตาคนในบ้านเพิ่มขึ้นบ้างไหม และมีความอดกลั้นอดทนที่จะไม่โกรธบ้างหรือเปล่า

    ถ้าไม่ได้ศึกษาชาดกต่างๆ หรือจริยาคือความประพฤติของพระผู้มีพระภาคก่อนที่พระบารมีจะเต็ม จะไม่รู้เลยว่า แม้ในชาติก่อนๆ ของพระผู้มีพระภาคก็เป็น คติที่ทำให้ผู้ที่กำลังอบรมภาวนาในขณะนี้ได้เห็นว่า ควรที่จะต้องคิดอย่างไร โยนิโสมนสิการอย่างไรในเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะทำให้บารมีเจริญขึ้น มั่นคงขึ้น โดยไม่ใช่แต่เฉพาะปัญญาบารมี

    สัพพสัมภารภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลทุกประการ

    เมื่อใดที่ยังไม่เป็นผู้ชำนาญในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องขวนขวายในการสะสมบุญไปเพียงนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังประมาทไม่ได้เลย การที่จะเป็นผู้ชำนาญใน การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาจะต้องเข้าใจจริงๆ และมีเหตุมีปัจจัยที่จะทำให้ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ และโยนิโสมนสิการจากการเพียรฟัง เพียรระลึก เพียรพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เป็นผู้ชำนาญในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องขวนขวายในการสะสมบุญไปเพียงนั้น

    สักกัจจภาวนา คือ การบำเพ็ญบุญโดยความเคารพ

    ซึ่งจะต้องเป็นไปทุกกาล โดยเห็นประโยชน์ว่า เป็นทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้ การเจริญกุศลทุกประการด้วยความเคารพ คือ เมื่อเคารพความดีงามของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ยอมสละอกุศล

    ถ้าเป็นผู้ที่เคารพในกุศลธรรมจริงๆ ก็จะยอมสละอกุศลธรรมได้ ท่านผู้ฟังที่โกรธเคยระลึกได้บ้างไหมว่า ควรจะอดกลั้น ไม่ควรจะโกรธ แต่ถ้ายังบำเพ็ญกุศล ไม่พอ การคิดนึกอย่างนี้หรือโยนิโสมนสิการอย่างนี้ก็ไม่มี

    ถ้าศึกษาในจริยาปิฎก คือ ความประพฤติของพระผู้มีพระภาคเมื่อครั้งที่บำเพ็ญพระบารมี จะเห็นได้ว่า แม้มีผู้ที่กระทำสิ่งที่เลวร้ายในขณะที่พระองค์ เป็นพระโพธิสัตว์ด้วยประการต่างๆ กำลังจะโกรธก็ระลึกได้ว่า ไม่ควรจะโกรธ เพราะว่าความโกรธนั้นจะไม่ทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน

    นี่คือเป็นผู้ที่บำเพ็ญบุญโดยความเคารพ

    เพราะฉะนั้น กว่าทุกท่านจะมีโยนิโสมนสิการในการฟัง ในการพิจารณาธรรม ในการอบรมเจริญปัญญา ในการเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาจริงๆ ต้องเป็นพหูสูต คือ ฟัง และพิจารณา และต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ข้อความใน ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีว่า

    เพียงความเลื่อมใสในผู้ที่มีคุณความดี เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศ ก็ยังเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติได้ เพราะฉะนั้น ถ้าประพฤติปฏิบัติตาม ก็ย่อมจะต้องให้ผลมากกว่าเพียงเลื่อมใสแล้วก็ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1854


    หมายเลข 13209
    20 ต.ค. 2567